‘พาณิชย์’ เผย ส่งออกเดือน เม.ย. โต 10.2% ขยายตัวต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 10 คาดดีลภาษีสหรัฐฯ ราบรื่น ส่งออกทั้งปียังโตที่ 4% พิชัยย้ำ ภาคส่งออกยังเป็นพระเอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ยันเจรจาสหรัฐฯ คืบหน้า ทันตามเวลากรอบเวลา 90 วัน
วันที่ 26 พ.ค. พิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน เม.ย. มีมูลค่ารวม 25,625.1 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 857,700 ล้านบาท ขยายตัว 10.2% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 โดยหากหักสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย การส่งออกยังขยายตัว 7.1%
กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมเกษตรเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 28,946.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 16.1% ส่งผลให้ในเดือน เม.ย. 2568 ไทยขาดดุลการค้า 3,321.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะเดียวกัน ตลาดส่งออกสำคัญของไทยยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ช่วง 4 เดือนแรกของปี 2568 ขยายตัว 14.0% และหากไม่รวมสินค้าน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย จะมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 12.1%
พิชัยกล่าวอีกว่า ตัวเลขการส่งออกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความเข้มแข็งของภาคเศรษฐกิจไทย แม้ในช่วงที่ผ่านมามีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ
“หลายฝ่ายห่วงว่าภาษีจากสหรัฐฯ จะทำให้ส่งออกไทยลดฮวบ แต่ตัวเลขพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริง เรายังโตได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวถึง 23.8% และโตต่อเนื่องมาแล้ว 19 เดือนติดต่อกัน ตลาดสำคัญอื่นๆ ยังคงขยายตัวเช่นกัน” พิชัยกล่าว
ส่วนตลาดยุโรป กระทรวงพาณิชย์เตรียมเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ โดยจะเข้าพบกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า มารอส เซฟโควิช รวมถึงพบปะกับ OECD เพื่อผลักดันให้การเจรจาสำเร็จเร็วที่สุด ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพการค้าของไทยในตลาดยุโรปได้อีกมาก
ยันส่งออกยังเป็นพระเอกของปี 2568
ทั้งนี้ การส่งออกยังคงเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แม้ในกรณีที่ในช่วง 8 เดือนที่เหลือของปี 2568 การส่งออกไม่เติบโต แต่เชื่อว่าไทยจะสามารถรักษาอัตราการเติบโตเฉลี่ยได้มากกว่า 4 % ซึ่งมากกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้า
“การส่งออกยังเป็นพระเอกของปีนี้ ซึ่ง 4 เดือนนี้เราได้ 14% ถ้าแย่สุด 8 เดือนที่เหลือ ส่งออกคงที่หมด ไม่โต ส่งออกทั้งปีของเราจะขยายตัวที่ 4% ซึ่งเราน่าจะได้เกิน และถ้าหากเจรจากับสหรัฐฯ ได้ดีลภาษีเท่าๆ กับประเทศอื่นก็น่าจะขยายการส่งออกได้ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าการส่งออกของเราขยายตัวไปทุกๆ ตลาด ไม่ใช่สหรัฐฯ อย่างเดียว และตลาดสหรัฐฯ เรามีสัดส่วนประมาณ 10%”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เปิด 5 ข้อเสนอที่ขุนคลังสหรัฐฯ เอ่ยปากชมไทย เผยเบื้องหลังกุนซือทีมไทยแลนด์
- สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ชื่นชมไทย ยื่นข้อเสนอดีเยี่ยม
- ปลัดพลังงาน-ปตท. เยือนสหรัฐฯ ลุยเจรจานำเข้าก๊าซแหล่ง Alaska LNG 3-5 ล้านตันต่อปี
ดังนั้น หากตลาดอื่นๆ เรายังขยายตัวได้ ผลกระทบจากสหรัฐฯ ก็จะน้อย และถึงแม้ว่าเราจะโดนสหรัฐฯ ขึ้นภาษี 10% การส่งออกของไปสหรัฐฯ อาจกระทบไม่มาก อย่างข้าวหอมมะลิ ถึงแม้ว่าเราจะโดน 10% เชื่อว่าการส่งออกยังคงที่ หรืออาจมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ” พิชัยกล่าว
สำหรับการเจรจาภาษีกับสหรัฐฯ นั้นมีความคืบหน้า โดยคาดว่าจะสามารถสรุปผลได้ตามกรอบเวลา 90 วัน ทั้งนี้ ได้มีการเจรจากับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) หลายรอบ ซึ่งรายละเอียดยังไม่สามารถเปิดเผยได้
ย้ำเดินหน้าเจรจาภาษีสหรัฐฯ ขยายตลาดใหม่ เจรจา FTA เชิงรุก
ด้าน พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวเสริมว่า การส่งออกไปตลาดสำคัญขยายตัวต่อเนื่อง ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีของสหรัฐฯ
โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวได้ดียังเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงสวิตช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า และอัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น อุปกรณ์กึ่งตัวนำ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ทั้งนี้ 4 เดือนแรกของปี 2568 ขยายตัว 25.0%
อย่างไรก็ตาม ผลการเจรจาระหว่างไทยกับสหรัฐฯ และสหรัฐฯ กับประเทศอื่นๆ จะมีส่วนสำคัญต่อการส่งออกไทยในระยะข้างหน้า โดยหากภาษีที่ไทยได้รับใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ ก็จะไม่ส่งผลกระทบอะไรมากนัก
“ช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คาดว่าไทยจะยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากภาษีสหรัฐฯ ที่อาจถูกเรียกเก็บภายหลังพ้นจากช่วงเวลาที่ได้รับการยกเว้น 90 วัน กระทรวงพาณิชย์ ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ประชุมหารือกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพร้อมเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ และทำงานเชิงรุกผ่านการเจรจา FTA เพื่อหาตลาดใหม่ๆ”
ภาพ : Karl Hendon / Getty images