×

ทำไมเราทะเลาะกันแรงขึ้นในโลกออนไลน์

26.05.2025
  • LOADING...
การทะเลาะ

ทำไมเราเห็นความขัดแย้งมากมายและรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะเวลาที่มีประเด็นถกเถียงกัน แรกๆ ก็เป็นการแสดงความเห็นกันด้วยเหตุผล แต่นานเข้าก็กลายเป็นการด่าทอ เหน็บแนม เพื่อเอาชนะฝ่ายตรงข้ามให้ได้ ผสมโรงกับกองเชียร์ของแต่ละฝ่าย จนกลายเป็นทัวร์ลงด้วยความดุเดือด

 

ทุกวันนี้ ยิ่งมนุษย์ใช้เวลาอยู่ในโลกโซเชียล หรือเสพทุกอย่างผ่านโลกออนไลน์มากกว่าเวลานอนเสียอีก

 

ตัวเลขล่าสุดจากการเผยแพร่รายงาน ‘Digital 2025’ ระบุว่า คนไทยมีการใช้งาน Internet สูงถึง 91.2% ของประชากรในประเทศไทย สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 67.9% ของประชากรโลก

 

คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 7.58 ชั่วโมงต่อวัน หรือยาวนานประมาณ 1 ใน 3 ของเวลาทั้งวัน และพวกเรานิยมใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนมากที่สุด มากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 6 ชั่วโมง 36 นาทีเกือบ 3 ชั่วโมง

 

Facebook เป็นแพลตฟอร์มที่นิยมมากที่สุดของคนไทย มีจำนวนผู้ใช้งาน 49.1 ล้านบัญชี 

 

เรียกได้ว่านอกจากเวลานอนแล้ว คนไทยแทบจะใช้เวลาท่องไปในโลกโซเชียลทั้งวันทั้งคืน ไม่ว่าจะกินข้าว เลี้ยงลูก นั่งทำงาน อยู่บนรถส่วนตัว รถประจำทางหรือรถไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งการออกกำลังกาย

 

ว่างเมื่อไรเป็นได้รูดมือถือ จนกลายเป็นพฤติกรรมปกติ

 

แม้กระทั่งนัดเจอเพื่อนฝูง หรือนัดสังสรรค์ญาติพี่น้อง คุยกันได้สักพัก ต่างคนก็ต่างหยิบมือถือมาท่องโลกออนไลน์ จนเพื่อนบางกลุ่มต้องมีกติกาว่า หากใครนัดมาเจอกัน ก็จะต้องเก็บโทรศัพท์มือถือด้วย เพราะไม่งั้นไม่ได้คุยอะไรกันเลย

 

เมื่อเราอยู่ในโลกส่วนตัวมากขึ้น ไม่ต้องให้ใครรู้จักเรา และสามารถท่องไปส่องดูเรื่องราวของคนอื่นๆ ได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะคนที่เปิดโลกโซเชียลของตัวเองเป็นสาธารณะ ใครจะเข้าถึงก็ได้ ยิ่งชักชวนให้คนจำนวนมากอยากแสดงความเห็น โดยเฉพาะเมื่อมีความขัดแย้งทางความคิดเห็นเกิดขึ้น

 

เหตุผลคือ ในโลกโซเชียล เราไม่ต้องเห็นหน้าเห็นตาของอีกฝ่าย ไม่เห็นภาษากาย ภาษามือ ไม่ต้องเผชิญหน้า ไม่ได้เป็นเพื่อน ไม่รู้จักกัน เลยไม่ต้องเกรงใจอะไร สามารถใส่ความเห็นอะไรกันได้เต็มที่ 

 

รวิตา ระย้านิล นักจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยกล่าวว่า “ความนิรนาม (Anonymity) หรือการไม่สามารถระบุตัวตนของบุคคลได้ เป็นปัจจัยที่เอื้อต่อความก้าวร้าวทางไซเบอร์ การซ่อนตัวตนอยู่ภายใต้ชื่อหรือรูปภาพอื่นทำให้บุคคลกล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น ดังการทดลองจำนวนมากทางจิตวิทยาที่ยืนยันว่ายิ่งระบุตัวตนน้อยเท่าไร อิสระในการแสดงพฤติกรรมโดยไม่ต้องคำนึงถึงกรอบทางสังคม ความคาดหวัง ความเหมาะสม หรือค่านิยมทางสังคม ยิ่งมีมากขึ้น อย่างไรก็ดี แม้แอ็กเคานต์ที่ใช้ในการแสดงความคิดเห็นจะเป็นชื่อและรูปภาพของบุคคลก็ตาม แต่ความไม่รู้จักกันในชีวิตจริงก็ลดความวิตกกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตนเอง หรือความรับผิดชอบตนเองลงได้”

 

ไม่แปลกใจหลายคนเวลาเจอหน้ากัน คนเหล่านี้อาจจะดูภายนอกเป็นคนเรียบร้อย แต่เวลาเขียนสเตตัส กลายเป็นคนมีอารมณ์อันเกรี้ยวกราด เพราะตัวตนในโลกเสมือนอาจจะไม่ใช่ตัวตนจริงแท้ของคนเดียวกันในโลกความเป็นจริง

 

สเตตัสทั้งของตนเองและของคนอื่นจึงกลายเป็นที่ระบายอารมณ์อันขุ่นมัวและความเก็บกดของคนคนนั้นได้อย่างเต็มที่

 

หลายคนเก็บกดจากที่ทำงาน จากความสัมพันธ์ในครอบครัว จากเพื่อนฝูง จากเพื่อนร่วมงาน ประกอบกับความเก็บกดที่มีอยู่ในสังคมอำนาจนิยมที่ไม่สนใจและไม่เปิดใจรับฟังความคิดของผู้น้อย ยิ่งทำให้การแสดงความคิดเห็นผสมกับอารมณ์เก็บกดมาระบายในสเตตัส และลุกลามไปถึงการแสดงความคิดเห็นอื่นๆ อย่างก้าวร้าว โดยไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบอะไร สเตตัสกลายเป็นทางระบายความคับข้องหมองใจโดยไม่รู้ตัว

 

อีกเหตุผลคือ เวลารักใคร ชอบใคร เป็นแฟนคลับใคร ส่วนใหญ่ไม่มีเหตุผลรองรับในการถกเถียง ฝ่ายเรามักเป็นฝ่ายถูกเสมอ ใครวิจารณ์ฝ่ายเรา หรือสิ่งที่เราศรัทธา แม้จะมีเหตุผลน่ารับฟัง แต่เรายอมไม่ได้ ต้องหาทางด้อยค่าคนคนนั้น ไปจนถึงลากไปให้โดนรุมด่าหรือทัวร์ลง

 

ในโลกโซเชียลจึงมีความเชื่อบางอย่างที่เหตุผลการถกเถียงมักจะพ่ายแพ้อารมณ์เสมอ อาทิเรื่อง ศาสนา การเมือง กีฬา ดารา ฯลฯ เพราะความเชื่อของคนบางคนเปลี่ยนแปลงได้ยาก

 

พระไพศาล วิสาโล เคยเทศน์ไว้ตอนหนึ่งว่า

 

“เดี๋ยวนี้คนสนใจเรื่อง ‘ความถูกต้อง’ น้อย แต่สนใจเรื่อง ‘ความถูกใจ’ มากกว่า…เขาจะไม่ถามว่าคุณคิดอะไร แต่จะถามก่อนเลยว่าคุณฝ่ายไหน สิ่งที่คุณพูดไม่สำคัญ เท่ากับว่าคุณเป็นฝ่ายไหน” 

 

คนทุกวันนี้ที่ติดโซเชียลมากจึงมีแนวโน้มจะมีพฤติกรรมอันก้าวร้าวมากขึ้น มักแสดงความคิดเห็นก่อนที่จะแสวงหาข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือ มักใช้ข้อมูลความรู้น้อยกว่าความรู้สึกและมีอคติ

 

สุดท้ายการแสดงความก้าวร้าวแบบนี้ อาจจะนำไปสู่การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Cyberbullying) อัน เกิดการละเมิดสิทธิต่างๆ จนทำให้ผู้ถูกกระทำหวาดกลัว ตกใจ รู้สึกแย่ ไร้ค่า อาทิ การโดนรุมด่าทอ (โดนทัวร์ลง) การใช้คำพูดที่สร้าง Hate Speech (ทำร้ายด้วยวาจา) ซึ่งผู้กระทำอาจจะไม่ได้คิด แต่อาจจะกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้ถูกกระทำ 

 

WEF Global Press Releases ได้เผยแพร่งานวิจัยระดับโลกในเรื่องพลเมืองดิจิทัลของโลกว่า เด็กไทยมีโอกาสเสี่ยงภัยจากพื้นที่ออนไลน์ถึง (60%) ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ (56%) เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านพบว่าฟิลิปปินส์ (73%) อินโดนีเซีย (71%) เวียดนาม (68%) และสิงคโปร์ (54%)

 

และอีกเหตุผลคือ ในโลกออนไลน์ เทคนิคอันหนึ่งในการสามารถสร้างยอด Engagement (การที่มีคนเข้ามามีส่วนร่วมกับสิ่งที่คุณโพสต์) ได้มาก คือการใช้คำพูดที่แรงๆ เพื่อสร้างยอด Engagement และจะช่วยทำให้โพสต์ของคนคนนั้นขึ้นมาอันดับต้นๆ เสมอ เวลามีคนเปิดดู

 

ไม่แปลกใจที่บรรดาอินฟลูหลายคน จึงพยายามสร้างตัวตนและความโด่งดังจากความแรง ความก้าวร้าวของการโพสต์เรื่องราว การแสดงความเห็นต่างๆ จนนำไปสู่ความขัดแย้งและความเกลียดชังในที่สุด 

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising