วันนี้ (26 พฤษภาคม) สำนักงานศาลปกครอง เผยแพร่แถลงการณ์ชี้แจงข้อกฎหมายในคดีหมายเลขแดงที่ อผ.160-163/2568 ซึ่งเป็นคดีที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และ อนุสรณ์ อมรฉัตร ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ยื่นฟ้องต่อนายกรัฐมนตรีกับพวกรวม 9 คน กรณีคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากโครงการรับจำนำข้าว
คดีของผู้ฟ้องคดีที่ 1 มีต้นเหตุจากคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ที่กำหนดให้ยิ่งลักษณ์ ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 35,717,273,028.23 บาท ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองที่ให้ชำระเงิน หากไม่ชำระ กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถใช้มาตรการบังคับทางปกครองได้ โดยไม่จำต้องฟ้องคดีต่อศาล ตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และมาตรา 57 ของ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 รวมถึงมาตรา 63/7 ที่แก้ไขเพิ่มเติม
เมื่อผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง โดยขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ซึ่งคดีนี้ถือเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการออกคำสั่งทางปกครองโดยมิชอบ ซึ่งศาลมีอำนาจเพียงในการพิจารณาเพิกถอนคำสั่งนั้นตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1) ของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง พ.ศ. 2542 โดยไม่มีอำนาจสั่งให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแทนผู้ถูกฟ้อง
ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาว่า คำสั่งพิพาทดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายบางส่วน จึงมีคำสั่งเพิกถอนเฉพาะในส่วนที่ให้ยิ่งลักษณ์ ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าจำนวน 10,028,861,880.83 บาท โดยศาลไม่ได้มีคำสั่งให้ยิ่งลักษณ์ต้องชำระเงินให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 9 รายแต่อย่างใด
ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาคดีเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 โดยองค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดทั้ง 5 คนได้ลงลายมือชื่อในร่างคำพิพากษาครบถ้วน ต่อมาประธานศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้นำคดีเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งประกอบด้วยตุลาการที่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ ณ ขณะนั้น โดยตุลาการที่พ้นจากราชการไปแล้วไม่สามารถเข้าร่วมได้
ในการประชุมใหญ่ ตุลาการเสียงข้างมากเป็นผู้กำหนดคำวินิจฉัย และเมื่อจัดทำคำพิพากษาตามมติดังกล่าวเสร็จแล้ว ตุลาการในองค์คณะ 2 คนที่พ้นจากราชการจึงไม่สามารถลงลายมือชื่อในคำพิพากษาได้ ซึ่งประธานศาลปกครองสูงสุดได้จัดทำบันทึกชี้แจงเหตุผลไว้แล้ว
กระบวนการทั้งหมดดำเนินไปตามมาตรา 68 และมาตรา 69 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
ในการพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ ตุลาการศาลปกครองสูงสุดทุกคนมีสิทธิแสดงความเห็นแย้งตามมาตรา 67 โดยความเห็นแย้งและรายชื่อตุลาการที่เห็นแย้งได้ปรากฏในคำพิพากษาเรียบร้อยแล้ว
“สำนักงานศาลปกครองได้เผยแพร่แถลงการณ์นี้เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบโดยทั่วกัน”