×

จากห้องน้ำถึงสตาร์ทอัพ: ผู้หญิงที่เปลี่ยน Pain Point เป็นธุรกิจที่โลกยอมรับ

26.05.2025
  • LOADING...

หากมีใครเคยคิดว่า ‘เรื่องของผู้หญิง’ เช่น ห้องน้ำ ผ้าอนามัย หรือการคุกคามทางเพศ เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยหรือเรื่องส่วนตัว อาจต้องทบทวนใหม่ เพราะวันนี้ ‘เรื่องใกล้ตัว’ ได้กลายเป็น ‘พลังเปลี่ยนโลก’ เมื่อผู้หญิงจำนวนมากลุกขึ้นมาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ผ่านธุรกิจเพื่อสังคม เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวก ทั้งต่อผู้คนและโลกใบนี้

 

ในช่วงวันที่ 20-23 พฤษภาคมที่ผ่านมา ณ นครโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ฉันมีโอกาสเข้าร่วมงาน Cartier Women’s Initiative (CWI) ซึ่งจัดขึ้นควบคู่ไปกับพิธีเปิด Women’s Pavilion ในงาน World Expo 2025

 

สองเวทีสำคัญนี้ไม่ได้เป็นเพียงงานประชุมหรือนิทรรศการ แต่เป็นพื้นที่ของความหวัง แรงบันดาลใจ และพลังที่เต็มเปี่ยมด้วยศักยภาพของ ‘ธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยพลังผู้หญิง’ ซึ่งนำโดยผู้นำหญิงที่ไม่ได้มีแค่ความฝัน แต่ลงมือทำอย่างจริงจัง

 

เรื่องราวของผู้ประกอบการที่ถ่ายทอดออกมาตรงกันโดยมิได้นัดหมาย พวกเธอสะท้อนว่าเส้นทางผู้ประกอบการสตรีนั้นเปล่าเปลี่ยว ครอบครัวไม่เข้าใจ เพื่อนร่วมทางก็หายาก แต่เมื่อก้าวเข้าสู่ชุมชน CWI พวกเธอรู้สึกเหมือนอยู่ในชุมชนที่ทุกคนล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน และที่ซึ่งความตั้งใจของพวกเธอได้รับการส่งเสริม

 

Impact Awardees: ผู้หญิงธรรมดาที่ไม่ธรรมดา

 

Cartier Women’s Initiative (CWI) เริ่มต้นขึ้นในปี 2006 และจนถึงวันนี้ได้สนับสนุนผู้ประกอบการหญิงมากกว่า 330 คน จาก 66 ประเทศ มูลค่าทุนรวมกว่า 12 ล้านดอลลาร์ และสร้างเครือข่ายผู้เปลี่ยนโลกกว่า 500 คน

 

ปีนี้ ไฮไลต์ของงานคือการมอบ Impact Awards ให้ 9 อดีตเฟลโลว์ที่ขยายผลกระทบได้เป็นรูปธรรม โดยแบ่งเป็นสามหมวดหมู่รางวัลคือ

 

  • Preserving the Planet
  • Improving Lives
  • Creating Opportunities

 

ตัวอย่างของผู้ประกอบการสตรีที่ฉันประทับใจและจดจำถึงความมุ่งมั่นของพวกเธอโดยเป้าหมายในการขับเคลื่อนธุรกิจของแต่ละคนสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs)

 

ผู้ประกอบการสตรี 9 คน ที่ได้รับรางวัล CWI Impact Awardees

 

✦ Namita Banka – อินเดีย

 

หนึ่งในผู้ประกอบการที่สร้างแรงบันดาลใจคือ Namita Banka จากอินเดีย ผู้ก่อตั้ง Banka Bioloo ธุรกิจที่ถือกำเนิดจากความจริงอันเจ็บปวดว่าในอินเดียมีคนกว่า 900 ล้านคนไม่มีห้องน้ำใช้ เธอผลิตสุขาชีวภาพราคาถูกที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ และติดตั้งตามรถไฟและพื้นที่ห่างไกล

 

ปัจจุบันให้บริการผู้ใช้นับ สิบล้านคนต่อวัน และมีทีมงานกว่า 1,000 คน

 

เธอย้ำคำขวัญประจำตัวแบบติดตลกว่า “Shit is a business.”

 

✦ Kristin Kagetsu – อินเดีย

 

ผู้ร่วมก่อตั้ง Saathi อินเดีย ผลิตผ้าอนามัยจากเยื่อกล้วยที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ลดการใช้พลาสติก ช่วยผู้หญิงกว่า 114,000 คน และลดขยะมากกว่า 92 ตัน นวัตกรรมของเธอไม่เพียงสร้างความมั่นใจ แต่ยังช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมในระดับชุมชนและประเทศ

 

✦ Kresse Wesling – อังกฤษ

 

ผู้ร่วมก่อตั้ง Elvis & Kresse นำสายท่อดับเพลิงเก่ามารีไซเคิลเป็นกระเป๋าแฟชั่นหรูที่ทั้งสวยและแข็งแรง เธอบริจาค 50% ของกำไร ให้กับมูลนิธินักดับเพลิง และรีไซเคิลวัสดุกว่า 315 ตัน แล้ว ธุรกิจของเธอคือบทพิสูจน์ว่าสิ่งไร้ค่าก็สามารถมีชีวิตใหม่ได้ และนำไปสู่การสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน

 

✦ Mariam Torosyan – อาร์เมเนีย

 

สร้างแอป SAFE YOU สำหรับผู้หญิงที่เผชิญกับความรุนแรงในครอบครัว โดยใช้อัลกอริทึม AI วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อช่วยเหลือแบบเรียลไทม์
ปัจจุบันให้บริการใน 5 ประเทศ และช่วยชีวิตผู้หญิงกว่า 18,000 คน

 

ผู้หญิงเหล่านี้ไม่ได้ทำธุรกิจเพราะต้องการเพียงรายได้

แต่เพราะเห็นปัญหาที่ไม่มีใครยอมแก้

และเชื่อว่า ‘ถ้าไม่มีใครเริ่ม ฉันจะเป็นคนแรก’

 

ผู้หญิงในโลกธุรกิจ: ตัวเลขที่บอกเล่า

 

จากรายงาน GEM Women’s Entrepreneurship 2023/24 พบว่าในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา:

 

  • โอกาสในการเริ่มต้นธุรกิจของผู้หญิงเพิ่มขึ้น 79%
  • กิจกรรมสตาร์ทอัพที่ดำเนินโดยผู้หญิงเพิ่มขึ้น 76%
  • ผู้หญิงที่เป็นเจ้าของธุรกิจที่มั่นคงแล้วเพิ่มขึ้น 45%

 

แต่ มีเพียง 20% ของธุรกิจเพื่อสังคมที่ก่อตั้งโดยผู้หญิงที่สามารถเข้าถึงทุนได้

 

นี่คือความเหลื่อมล้ำที่ยังต้องได้รับการแก้ไข

 

 

เสียงสะท้อนจาก ซีริลล์ วิญเญอรอง: เมื่อหัวใจธุรกิจคือผู้หญิง

 

ซีริลล์ วิญเญอรองประธานกรรมการด้านวัฒนธรรมและสาธารณกุศลของ Cartier และอดีต CEO ของ Cartier International
ไม่เพียงเป็นผู้ผลักดัน CWI อย่างจริงจัง แต่ยังเป็นคนที่เข้าใจความหมายของ ‘การลงทุนในผู้หญิง’ อย่างลึกซึ้ง

 

เขาเล่าถึงอดีตที่แม่ของเขาต้องได้รับการอนุมัติจากพ่อก่อนจึงจะสามารถทำงานได้ตามกฎหมายฝรั่งเศสในยุคนั้น และชี้ให้เห็นว่าแม้โลกจะเปลี่ยนไปมาก แต่โครงสร้างของความเหลื่อมล้ำยังแฝงอยู่ในทุกมิติ เช่น

 

  • ผู้หญิงมักไม่ได้รับเครดิตจากธนาคาร ต้องให้สามีเซ็นรับรอง
  • การตั้งคำถามว่าผู้หญิงจะ “ทุ่มเท” ได้แค่ไหนหลังแต่งงานหรือมีลูก

 

“สิ่งเหล่านี้คืออคติที่ฝังลึก เราต้องไม่เพียงแค่เปิดประตูให้ผู้หญิง แต่ต้องรื้อกำแพงที่ขวางอยู่ด้วย” ซีริลล์ วิญเญอรอง กล่าว

 

เขาเชื่อว่าความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะความสามารถ แต่เพราะระบบที่ยังไม่ยอมรับผู้หญิงในฐานะเจ้าของธุรกิจอย่างเท่าเทียม

 

“การเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มจากโครงสร้าง และต้องออกแบบระบบใหม่ให้การสนับสนุนผู้หญิงไม่ใช่แค่การช่วยเหลือ แต่เป็นการเปิดทางให้ศักยภาพได้ทำงานอย่างเต็มที่”

 

ซีริลล์เน้นว่า CWI ไม่ใช่เวทีเพื่อความหวือหวาหรือภาพลักษณ์ แต่เป็น ‘โครงสร้างพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงระยะยาว’ ที่เติบโตจากเครือข่ายของผู้หญิงทั่วโลกที่มีเป้าหมายร่วมกัน คือการสร้างผลกระทบในโลกจริง และส่งต่อการเปลี่ยนแปลงให้คนรุ่นถัดไป

 

“เมื่อผู้หญิงได้รับพื้นที่ในการนำ พวกเธอไม่ได้ใช้เพื่อตัวเอง แต่จะดึงคนรอบข้างขึ้นมาด้วยเสมอ”

 

 

พิธีเปิด Women’s Pavilion: เชิดชูพลังความหลากหลายก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน

 

พิธีเปิด Women’s Pavilion ในปีนี้ย้ำธีม ‘Tomoni’ ที่หมายถึง ‘เคียงข้างกัน’’ เพื่อเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการสร้างอนาคตที่ทุกคนมีส่วนร่วม

 

แนวคิดนี้เริ่มต้นที่ดูไบ ใน Expo 2020 ภายใต้การผลักดันของ Reem Al Hashimy รัฐมนตรีหญิงของ UAE ที่มองว่าการออกแบบอนาคตต้องมีพื้นที่ของผู้หญิง เธอเลือกจับมือกับ UN Women และ Cartier จนนำไปสู่ Women’s Pavilion แห่งแรก และพัฒนาต่อเนื่องมาสู่โอซาก้า

 

ในครั้งนี้ สถาปนิกหญิง Yuko Nagayama ออกแบบอาคารด้วยวัสดุรีไซเคิลจากดูไบ ซึ่งจะย้ายไปจัดแสดงต่อใน Green Expo 2027 ที่โยโกฮามะ

 

ภายใน Pavilion มี ‘ห้อง Ma’ พื้นที่เงียบสงบที่ปูด้วยหินและสายน้ำ
ผู้มาเยือนจะสัมผัสพลังการฟื้นตัว เสมือนอยู่ในครรภ์ของธรรมชาติ

 

กรุงเทพฯ เตรียมต้อนรับ: CWI 2026

 

Cartier Women’s Initiative (CWI) ประกาศเปิดรับสมัครผู้ประกอบการสตรีเพื่อสังคมจากทั่วโลก สำหรับโครงการ Cartier Women’s Initiative Awards ประจำปี 2026 เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ – 24 มิถุนายน 2568

 

สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.cartierwomensinitiative.com โดยผู้ประกอบการหญิงเพื่อสังคมที่จัดตั้งบริษัทฯ และดำเนินธุรกิจในประเทศไทย สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ 2 ประเภท:

 

  • รางวัลประเภทภูมิภาค (ประเทศไทยอยู่ในสาขาภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียกลาง)
  • รางวัลผู้บุกเบิกด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • การประกาศผลและมอบรางวัลจะจัดขึ้นในปี 2569 ณ กรุงเทพมหานคร
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising