ถึงแม้ว่า อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน จะใช้ความพยายามมากสักแค่ไหนในการทำให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กลับมาครองความยิ่งใหญ่อีกครั้ง แต่ดูเหมือนพวกเขายังขาดอะไรสักอย่าง
ใครสักคนที่จะเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายที่ทำให้ปีศาจแดงกลับมาเป็น ‘ผู้ชนะ’ อีกครั้งแต่เขาคนนั้นจะเป็นใครนะ?
บางครั้งเรื่องราวบางเรื่องมันก็ยากที่จะหาคำอธิบาย
ในระหว่างที่เฟอร์กูสันกำลังขบคิดถึงบทสนทนากับ สตีฟ บรูซ และ แกรี พัลลิสเตอร์ สองปราการหลังตัวหลักของทีมที่คุยกันในห้องอาบน้ำของสโมสร และเอ่ยปากชมระคนยกย่อง เอริก คันโตนา กองหน้าตัวเก่งของลีดส์ ยูไนเต็ด ว่ามีทักษะการเล่นที่ยอดเยี่ยมหาตัวจับยาก การเคลื่อนที่ที่ทำให้จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน
บ่ายวันหนึ่งของเดือนพฤศจิกายน ปี 1992 ก็มีโทรศัพท์เข้ามาถึง มาร์ติน เอ็ดเวิร์ดส์ ประธานสโมสรแมนฯ ยูไนเต็ด ในเวลานั้น
และเสียงตามสายในวันนั้นเปลี่ยนแปลงโชคชะตาของทีมปีศาจแดงไปตลอดกาล
พฤศจิกายน 1986 ในวันสายฝนโปรยที่แมนเชสเตอร์
อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน หนึ่งในผู้จัดการทีมสายเลือดใหม่ไฟแรงแต่ไม่อ่อนประสบการณ์ เพราะผลงานโดดเด่นในวงการฟุตบอลสกอตแลนด์ ทั้งการพาอเบอร์ดีนครองความยิ่งใหญ่ในแผ่นดินลูกหนังไฮแลนด์และการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสตาฟฟ์โค้ชของปรมาจารย์ จ็อก สตีน นำทีม ‘ตาร์ตัน’ ชุดลุยฟุตบอลโลก ถูกเปิดตัวในฐานะผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในฤดูร้อนปี 1986 โดยมาแทนที่ของ รอน แอตกินสัน หรือ “บิ๊กรอน” หนึ่งในกุนซือจอมเก๋าของวงการฟุตบอลอังกฤษ ซึ่งประสบปัญหาผลงานย่ำแย่ยาวนานจนต้องถูกไล่ออกไป
ความจริงจะโทษบิ๊กรอนก็ไม่ถูกนัก เพราะยูไนเต็ดในช่วงเวลานั้นไม่ได้อยู่ในยุคทองเหมือน 20 ปีที่แล้ว ในช่วงเวลาของเซอร์แมตต์ บัสบี และเหล่า ‘บัสบีเบบส์’ ซึ่งรวมถึง 3 นักเตะที่ดีที่สุดตลอดกาลของสโมสรในยุคนั้นอย่าง บ็อบบี ชาร์ลตัน, จอร์จ เบสต์ และ เดนิส ลอว์
เฟอร์กูสันใช้ความพยายามและความอดทนในการเปลี่ยนแปลงโชคชะตาของสโมสรแห่งนี้ เพื่อหวังจะยืนหยัดต่อสู้กับมหาอำนาจแห่งยุค 80 ซึ่งเป็น 2 ทีมจากเมอร์ซีย์ไซด์ อย่างลิเวอร์พูล ซึ่งเป็นคู่ปรับกันโดยตรง และเอฟเวอร์ตันที่ถือเป็นทีมชั้นนำในเวลานั้น
การเปลี่ยนแปลงยาวนานกว่าที่คิด จนกุนซือชาวสกอตติชเกือบเอาตัวไม่รอดเหมือนกัน แต่แชมป์เอฟเอคัพ ด้วยการเอาชนะคริสตัล พาเลซ ในนัดชิงชนะเลิศปี 1990 ที่ต้องพบกันถึง 2 นัดหลังจากที่เสมอในเกมนัดแรกมา 3-3 ซึ่ง ลี มาร์ติน ทำประตูชัยในเกมนัดรีเพลย์ (ในยุคนั้นฟุตบอลถ้วยอังกฤษ ถ้าเสมอกันก็แข่งใหม่) เป็นการ ‘ซื้อเวลา’ ให้เฟอร์กูสัน
หลังจากนั้นมาแมนฯ ยูไนเต็ด ค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ จนกลับมาลุ้นแชมป์เต็มตัวในฤดูกาล 1991/92 โดยทีมคู่แข่งในเวลานั้นคือ ลีดส์ ยูไนเต็ด คู่ปรับอีกทีมแห่ง ‘สงครามกุหลาบ’ (Roses Wars) ที่ชิงชังกันรุนแรง
ปรากฏว่าลีดส์ ภายใต้การนำของ โฮเวิร์ด วิลกินสัน หรือ ‘วิลโก้’ กุนซือผู้ยิ่งใหญ่แห่งเอลแลนด์ โรด แกร่งและสม่ำเสมอกว่า คว้าแชมป์ฟุตบอลดิวิชัน 1 ฤดูกาลสุดท้าย ก่อนจะมีการแยกลีกสูงสุดไปตั้งพรีเมียร์ลีกในฤดูกาลถัดไป
ความจริงแมนฯ ยูไนเต็ด ในเวลานั้นก็นับว่าเก่งและแกร่งมากแล้ว ด้วยขุนพลอย่าง ‘กัปตันมาร์เวล’ ไบรอัน ร็อบสัน (ในวัยเริ่มโรยรา), ไบรอัน แม็คแคลร์, ลี ชาร์ป, อังเดร แคนเชลสกี, ปีเตอร์ ชไมเคิล, สตีฟ บรูซ, แกรี พัลลิสเตอร์
แต่พวกเขายังขาดบางอย่างจากบางคนที่จะสร้างความแตกต่างได้
บางอย่างที่ลีดส์มี แต่แมนฯ ยูไนเต็ดไม่มี
พฤศจิกายน 1992 สายฝนยังคงโปรยปรายเสมอที่เมอร์เชสแตน (อนุญาตให้ผวนได้)
ในห้องทำงานเล็กๆ ของ มาร์ติน เอ็ดเวิร์ดส ผู้อำนวยการสโมสรแมนฯ ยูไนเต็ดในเวลานั้นมีเสียงตามสายต่อตรงมาถึง และความจริงเป็นเสียงตามสายที่ไม่น่ารับแขกสักเท่าไรนัก
“สวัสดีมาร์ติน” เป็นคำทักทายจาก บิลล์ โฟเธอร์บี ประธานสโมสรลีดส์ถึงประธานสโมสรคู่แข่งก่อนจะเข้าเรื่องทันทีว่า “คุณคิดอย่างไรถ้าหากเราจะขอซื้อ เดนิส เออร์วินมาอยู่กับเรา”
เดนิส เออร์วิน งั้นเรอะ นี่คือฟูลแบ็กในแบบหายากกับการเป็นผู้เล่นแบ็กซ้ายที่ถนัดเท้าขวา แถมยังมีทักษะในการเปิดบอลที่แม่นยำหาตัวจับได้ยาก ถ้าใครได้ตัวไปร่วมทีมก็ถือเป็นโชคดี เพราะสามารถสลับไปเล่นแบ็กขวาได้ด้วยถ้าจำเป็น
แต่แบ็กไอริชผู้นี้คือนักเตะที่เฟอร์กูสันไว้ใจและหวงแหนมาก และแน่นอนเมื่อเรื่องถึงหูบอสใหญ่ในโรงละครแห่งความฝันก็ควันออกหูทันที
“ไม่ขาย”
แต่ในเวลานั้นเองที่เขาได้ความคิดอะไรดีๆ ขึ้นมา
2 เดือนก่อนหน้านั้น แมนฯ ยูไนเต็ด ลงสนามในโอลด์แทรฟฟอร์ด และสามารถเอาชนะลีดส์ คู่ปรับได้สำเร็จด้วยสกอร์ 2-0 จากการทำประตูของ อังเดร แคนเชลสกี ปีกจรวดยูเครน และ สตีฟ บรูซ ปราการหลังจอมแกร่ง
หลังเกมจบลงในระหว่างที่ทุกคนอาบน้ำแต่งตัว เฟอร์กี้ซึ่งนึกอย่างไรไม่รู้เข้าไปห้องอาบน้ำร่วมกับทีมด้วย ได้พูดคุยกับบรูซ และ ‘พัลลี’ แกรี พัลลิสเตอร์ คู่ปราการหลังเกี่ยวกับเกมที่เพิ่งจบลงไป
ปรากฏว่าทั้งสองพูดถึงความเก่งกาจของ เอริก คันโตนา กองหน้าเฟรนช์แมนจอมศิลปินของลีดส์ขึ้นมาว่าเก่งจนยากที่จะรับมือ เรื่องนี้ได้เข้าไปอยู่ในความคิดของเฟอร์กี้มาตั้งแต่วันนั้น และความคิดนี้ก็ผุดออกมาเหมือนมาริโอ้ที่โผล่มาจากท่อ
“มาร์ติน คุณลองถามให้หน่อยว่ามีโอกาสไหมที่พวกเขาจะขายคันโตนา”
ถึงการทำธุรกิจระหว่างสโมสรฟุตบอลจะไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะไม่ว่าภาพของความขัดแย้งจะรุนแรงแค่ไหนแต่คนทำงานนั้นรู้กันว่าทุกอย่างคุยกันบนโต๊ะเจรจาได้ แต่การจะคว้าตัวนักเตะระดับดาวเด่นของคู่แข่งมาแบบนี้ไม่น่าเป็นความคิดที่ดีนัก
แต่ประธานแมนฯ ยูไนเต็ดก็ถามให้ตามคำขอ และคำตอบที่ได้ก็ชวนตกใจ
โฟเธอร์บี บอกว่า “เป็นไปได้” สาเหตุนั้นเป็นเพราะคันโตนา มีปัญหาภายในทีมลีดส์ เริ่มไม่มีความสุขกับการเล่น ซึ่งเอ็ดเวิร์ดสรู้ได้ทันทีว่าพวกเขาจะได้ตัวมาอย่างแน่นอน แต่การเจรจาจะต้องรวดเร็วไม่ให้เกิดความลังเลที่อาจจะทำให้เปลี่ยนใจได้
“ผมอยากได้คันโตนา ผมให้เวลา 24 ชั่วโมงแล้วกัน คุณไปคิดมาว่าจะขายหรือไม่ขาย”
แค่ชั่วโมงเดียวโฟเธอร์บีก็โทรกลับมาแล้ว
เอริก คันโตนา ย้ายจากลีดส์มาอยู่กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดด้วยค่าตัวเพียง 1.2 ล้านปอนด์ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 1992 เดือนเดียวกับที่เฟอร์กี้ย้ายมาคุมทีมในโอลด์ แทรฟฟอร์ดเมื่อ 6 ปีก่อนหน้านั้น
คันโตนา นั้นขึ้นชื่อในเรื่องของความเป็น ‘แบดบอย’ นักฟุตบอลอารมณ์ร้อนที่ยากจะควบคุมได้ และพร้อมก่อปัญหาเสมอในทีม
นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ แกรมม์ ซูเนสส์ ผู้จัดการทีมลิเวอร์พูลเคยปฏิเสธโอกาสจะเซ็นสัญญากับเขาในปี 1991 ในช่วงที่คันโตนามีปัญหาในทีมโอแซร์ จนมิเชล พลาตินี โค้ชทีมชาติฝรั่งเศสแนะนำให้ย้ายไปเล่นในอังกฤษเพื่อเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง และพยายามช่วยเสนอขายให้ลิเวอร์พูล แต่ ‘ซูอี้’ ไม่รับข้อเสนอเพราะไม่อยากทำลายความกลมเกลียวภายในแอนฟิลด์
สุดท้ายคันโตนาได้มาทดสอบฝีเท้ากับ เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ แต่กลายเป็นลีดส์ที่ได้ตัวเขามาร่วมทีม ในเดือนมกราคม 1992 โดยที่มีสัญญาการยืมตัวจากนีมส์ สโมสรต้นสังกัดในเวลานั้นถึงเดือนเมษายน หากถึงตอนนั้นลีดส์ ต้องการได้ตัวมาร่วมทีมถาวรต้องจ่ายเงิน 900,000 ปอนด์
แต่เพชรไม่ว่าอยู่ที่ใดก็เปล่งประกาย แบดบอยคันโตนากลายเป็นคนสำคัญในทีมลีดส์ เพราะพรสวรรค์ที่สูงส่งในการเล่นของเขาคือสิ่งที่สร้างความแตกต่างขึ้นในเกมการแข่งขัน เป็นคุณสมบัติที่หาได้ยากที่สุดในนักฟุตบอล
สุดท้ายลีดส์ยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อตัวเขามาและคันโตนา ก็มีส่วนสำคัญในการชนะรวด 5 นัดสุดท้าย พาทีมคว้าแชมป์ลีกมาครองได้ในที่สุดในเกมรองสุดท้ายของฤดูกาลซึ่งพวกเขาเอาชนะเวนส์เดย์ได้และแมนฯ ยูไนเต็ดไปพลาดพ่ายให้ลิเวอร์พูล
อย่างไรก็ดีการทำตัวของเขาทำให้คันโตนากลายเป็นปัญหาเหมือนเดิม การขายให้แมนฯ ยูไนเต็ดด้วยเงิน 1 ล้านปอนด์ ถือว่าลีดส์ได้กำไรด้วยซ้ำ
แต่ทีมที่ได้กำไรกว่ากลับเป็นคู่แข่ง
การได้คันโตนามาก็เป็นการเซ็นสัญญาที่ดีที่สุดในชีวิตของเฟอร์กี้และแมนฯ ยูไนเต็ด เพราะนี่คือกองหน้าที่พวกเขารอคอย คนที่สร้างความแตกต่างในสนามให้เกิดขึ้นได้ด้วยพรสวรรค์การเล่นที่เหนือชั้นหาตัวจับได้ยาก ซึ่งเป็นสิ่งที่เฟอร์กี้เคยอยากได้และพยายามติดตาม แมตธิว เลอ ทิสซิเอร์ พ่อมดลูกหนังแดนใต้จากเซาแธมป์ตันแต่ไม่สำเร็จ
สุดท้ายกองหน้าจอมศิลปินผู้ถูกจดจำด้วยการทำคอปกเสื้อแข่งให้ตั้ง ก็พาแมนฯ ยูไนเต็ด คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก ฤดูกาลปฐมฤกษ์ได้สำเร็จในฤดูกาล 1992/93 เป็นแชมป์ลีกสูงสุดสมัยแรกในรอบ 26 ปีของสโมสร และเป็นจุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่ในโอลด์ แทรฟฟอร์ด
สำหรับคันโตนา การมาอยู่กับเฟอร์กี้ ก็เหมือนได้พ่อคนใหม่ที่เข้าใจและพร้อมอยู่เคียงข้าง แม้ว่าจะยังคงมีพฤติกรรมสร้างปัญหาบ้าง โดยเฉพาะเหตุการณ์ “ลูกเตะกังฟู” ที่กระโดดถีบใส่แมตธิว ซิมมอนส์ แฟนบอลปากปีจอของคริสตัล พาเลซ ในเดือนมกราคม 1995 จนถูกตัดสินลงโทษสถานหนักด้วยการแบนห้ามลงแข่งขันถึง 9 เดือน
โทษนั้นหากเป็นสโมสรอื่นคันโตนาจะโดนตัดหางปล่อยวัดแน่นอน แต่เฟอร์กี้ปกป้องและให้โอกาส รอคอยเขากลับมา ซึ่งสุดท้ายคันโตนาก็กลับมา และเกมแรกในการกลับมาก็เป็นตำนานด้วยการทำคนเดียว 2 ประตูหยุดไม่ให้ลิเวอร์พูลบุกมาคว้าชัยชนะได้ที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด ในฤดูกาล 1995/96
ก่อนที่ ‘ก็องโต้’ หรือที่แฟนในสมัยนั้นจะร้องเรียก (Chant) กันสนุกปากว่า “อุ๊อ๊า” จะช็อกวงการด้วยการประกาศแขวนสตั๊ดหลังจบฤดูกาล 1996/97 แบบไม่มีใครได้ตั้งตัว
การลงสนามในสีเสื้อแมนฯ ยูไนเต็ด ครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นหลังนัดส่งท้ายฤดูกาลแค่ 5 วัน ในเกมเทสติโมเนียลของเดวิด บุสต์ อดีตกองหลังโคเวนทรี ผู้โชคร้ายขาหักสะบั้นในจังหวะปะทะกับชไมเคิล ในปีก่อนหน้านั้น และหลังจากนั้นคันโตนาก็ลาจากทีมไป
โดยที่ไม่มีแฟนปีศาจแดงคนไหนลืม ‘คิง เอริก’ คนนี้ได้เลย