เมื่อพูดถึงการลงทุน ทัศนคติของคนญี่ปุ่นกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งเกิดจากการที่เงินเฟ้อกลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง นำมาสู่นโยบายที่มุ่งเน้นการเรียนการสอนที่ปลูกฝังให้หนุ่มสาววางแผนทางการเงินและลงทุนตั้งแต่อายุ 19 ปี
ปัจจุบันหนุ่มสาวญี่ปุ่นนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งถือว่าเปลี่ยนจากแนวคิดอนุรักษ์นิยมเดิมๆ จากรุ่นพ่อแม่และปู่ย่าตายายที่มักนิยมออมเงินสด
รัฐบาลญี่ปุ่นมองว่า การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการลงทุนนี้จะช่วยกระตุ้นตลาดหุ้นญี่ปุ่นให้ฟื้นตัว
“ฉันเริ่มลงทุนเพราะสังคมผู้สูงอายุของญี่ปุ่น ทำให้ฉันกังวลจริงๆ ว่าเงินบำนาญของเราจะเพียงพอเมื่อแก่ตัวลงไปหรือไม่” อาสึกะ โคอิเซกิ นักศึกษาอายุ 19 ปีจากมหาวิทยาลัยเคโอในโตเกียว กล่าว
“แม้เงินออมไม่มีความเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินต้น แต่ก็ไม่ได้ปลอดภัยเสมอไปในแง่ที่ว่ามูลค่าของเงินออมอาจจะผันผวนได้ ”
โคอิเซกิกล่าวว่า ความปั่นป่วนของตลาดเมื่อเร็วๆ นี้ หลังจากที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ใช้มาตรการภาษี ทำให้เธอตระหนักถึงความเสี่ยงโดยธรรมชาติของการลงทุนมากขึ้น
“ภาษีสหรัฐฯ ที่ออกมา เพิ่มแรงกดดันทั้งเชิงจิตวิทยา ทั้งการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง แต่ฉันจะลงทุนต่อไปแทนที่จะฝากเงินไว้ในบัญชีธนาคาร”
มีชุดข้อมูลของ Investment Trusts Association น่าสนใจ ระบุว่า ปัจจุบันจำนวนผู้ลงทุนในกองทุนรวม หุ้น และตราสารหนี้ในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าหรือมากกว่า 36% เมื่อปีที่แล้ว 2024 จากในปี 2016 ที่มีเพียง 13% สำหรับผู้ลงทุนในวัย 30 ปี เองก็เพิ่มขึ้นเป็น 42.5% จาก 24%
แรงผลักดันในการลงทุนมาจากความกังวลว่าเงินบำนาญที่ดำเนินการโดยรัฐอาจไม่เพียงพอ สังคมญี่ปุ่นก็สะท้อนถึงสังคมจีนเช่นกัน ซึ่งคนหนุ่มสาวหลายสิบล้านคนเลือกที่จะไม่รับเงินบำนาญจากรัฐบาล เนื่องจากพวกเขาคาดว่าเงินจะหมดลง
ความสนใจที่เพิ่มขึ้นในแวดวงการลงทุนของญี่ปุ่นเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลผลักดันให้ปรับปรุงความรู้ทางการเงินในโรงเรียน และความพยายามที่จะนำเงินประมาณ 1 ล้านล้านเยนที่อยู่ในบัญชีธนาคารไปลงทุนในตลาดหุ้น
โดยหนึ่งในความคิดริเริ่มที่สำคัญคือการขยายโครงการออมเพื่อการลงทุนที่ได้รับการยกเว้นภาษีที่เรียกว่าโครงการ Nippon Individual Savings Account (NISA) ซึ่งเป็นโครงการยกเว้นภาษีสำหรับการลงทุนขนาดเล็กเริ่มตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งมุ่งเน้นเพื่อสร้างวัฏจักรการเติบโตทางเศรษฐกิจ
แรงผลักดันดังกล่าวส่งผลให้จำนวนบัญชี NISA ของผู้คนที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี เพิ่มขึ้นเป็น 7.4 ล้านบัญชี ณ เดือนกันยายน 2024 จาก 5.8 ล้านบัญชีเมื่อปีก่อน ตามข้อมูลของสำนักงานบริการทางการเงิน บัญชีเหล่านี้ช่วยให้สามารถลงทุนในหุ้น กองทุนรวม และหลักทรัพย์อื่นๆ ได้
มาซาฮิโระ ยามากูจิ นักวิเคราะห์ตลาดอาวุโสของ SMBC Trust Bank Ltd. กล่าวว่า “คนรุ่นใหม่จะเป็นฐานการลงทุนของอนาคต และคาดว่าจะเป็นผู้ซื้อที่แข็งแกร่งในตลาดหุ้นญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงรุ่นในหมู่นักลงทุนรายย่อย โดยมีแรงหนุนจากโครงการลงทุนปลอดภาษี
“คนรุ่นใหม่ไม่สนใจความกังวลแบบคนรุ่นเก่า ซึ่งเคยได้รับบาดแผลครั้งฟองสบู่แตกในช่วงต้นทศวรรษ 1990 และเลือกที่จะเก็บเงินสดไว้ในธนาคาร หรือเก็บเงินสดไว้กับตัว”
แม้ว่าคนรุ่นเก่าจะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น แต่การเพิ่มขึ้นนี้เห็นได้ชัดเจนกว่ามากในกลุ่มคนรุ่นเจน Z
ยามากูชิกล่าวว่า การปลูกฝังการศึกษาด้านการวางแผนการเงินสร้างความแตกต่างเจเนอเรชันอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งคนรุ่นใหม่มักจะมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาด ส่วนหนึ่งก็เพราะไม่เคยเผชิญกับภาวะตกต่ำที่ยาวนาน และประสบกับภาวะครั้งตลาดตกต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 1987 กระทั่งล่าสุด เกิดความปั่นป่วนจากภาษีศุลกากรสหรัฐ
“นักลงทุนรุ่นใหม่ดูเหมือนจะไม่สะทกสะท้านกับความผันผวนที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันมากนัก ส่วนใหญ่มักลงทุนเป็นระยะๆ ดังนั้นแม้ว่าตลาดจะตกต่ำ พวกเขาก็ไม่น่าจะหยุดลงทุน และบางคนอาจพิจารณาเพิ่มจำนวนเงินลงทุนด้วยซ้ำไป”
ทั้งนี้ ก่อนการเปิดตัวโครงการการศึกษาด้านการเงินแห่งชาติในปี 2022 มีเพียง 7% ของประชากรเท่านั้นที่ได้รับคำแนะนำอย่างเป็นทางการดังกล่าว เมื่อเทียบกับ 20% ในสหรัฐฯ
ตามการสำรวจของ Central Council for Financial Services Information ที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น พบว่า “การศึกษาดังกล่าวกระตุ้นให้รัฐบาลเพิ่มความพยายามในการมุ่งเน้นแผนการเรียนการสอนเพื่อวางแผนการเงิน”
จะเห็นได้จากเริ่มมีการจัดตั้งสโมสรการลงทุนขึ้นในโรงเรียนมัธยมศึกษาเอกชนแห่งหนึ่งซึ่งมีวิทยาเขตหลักอยู่ในจังหวัดโอกินาวา ซึ่งมีนักศึกษาจำนวนมากกว่า 100 คนใช้การวิเคราะห์พื้นฐานเพื่อจัดการการลงทุนในหุ้นจริงมูลค่า 200,000 เยน (1,396 ดอลลาร์) พบว่า หลังจากซื้อขายได้ 1 ปี นักศึกษาเหล่านี้ก็จะคืนเงินต้นแต่ยังคงเก็บผลตอบแทนส่วนเกินเอาไว้
“ความท้าทายวันข้างหน้าคือการปลูกฝังความสำคัญของการลงทุนในวันนี้เพื่อสร้างสินทรัพย์ระยะยาว แม้ว่าตลาดจะผันผวนก็ตาม”
คานาโกะ อุจิมูระ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยญี่ปุ่นกล่าว เธอเสริมว่า ภาวะเงินเฟ้อที่ครอบงำญี่ปุ่นทำให้คนรุ่นใหม่สะสมสินทรัพย์ได้ง่ายขึ้นด้วย
นาโอะ โอทามะ อายุ 19 ปี นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคโอ กำลังคิดที่จะเริ่มลงทุนในหุ้น เธอบอกว่า แรงจูงใจสำคัญ คือ การมีเงินเพียงพอที่จะใช้จ่ายในเหตุการณ์สำคัญของชีวิตในอนาคต เช่น การแต่งงาน การซื้อบ้าน และการมีลูก
ภาพ: kogome / Getty Images,nisi / Getty Images
อ้างอิง: