×

จิตวิทยาความภักดีในโลกลูกหนัง ทำไมถึงไม่เปลี่ยนทีมเชียร์? แม้ทีมรัก…ผลงานย่ำแย่

24.05.2025
  • LOADING...
football-fan-loyalty

สำหรับเกม ‘ฟุตบอล’ ไม่ใช่กีฬาที่แข่งกันเพียงแค่ 90 นาทีในสนาม แต่มันยังมีเรื่องของความรัก ความผูกพัน และความดื้อรั้นของผู้คนที่หลงใหลในเกมลูกหนัง

 

หากคุณลองถามแฟนบอลของทีมที่ห่างไกลจากความสำเร็จ ทีมที่ไม่เคยสัมผัสถ้วยแชมป์ใหญ่มานาน 3, 5 หรือมากกว่า 10 ปี ว่า “ทำไมยังเชียร์ทีมนี้อยู่?”

 

คุณอาจได้คำตอบสั้นๆ ว่า “ก็มันรักไปแล้ว”, “มันเชียร์มานานแล้ว”

 

แม้จะฟังดูไม่มีเหตุผลในแวบแรก แต่ความรู้สึกเหล่านี้สามารถอธิบายได้ด้วยความรู้สึก และหลักจิตวิทยาแบบเข้าใจง่ายๆ

 

ข้อแรกคือ ‘อัตลักษณ์’ ที่แฟนบอลแต่ละคนสร้างขึ้นจากความผูกพันกับทีมที่ตนรัก

 

ในทางจิตวิทยา Social Identity Theory (Tajfel & Turner, 1979) อธิบายว่า มนุษย์มีแนวโน้มสร้างตัวตนของตนเองผ่านการเป็นสมาชิกของกลุ่มหนึ่ง

 

สำหรับแฟนบอล พวกเขาไม่ได้แค่เลือกทีมมาเชียร์ แต่กำลังรู้สึกว่า “ตนเองเป็นส่วนหนึ่งของทีม” ผ่านสีเสื้อ โลโก้ เพลงเชียร์ หรือแม้กระทั่งชื่อเล่นและบุคลิกของนักเตะ ที่กลายเป็นสัญลักษณ์แทนตัวของแฟนบอลในยุคสมัยนี้

 

เมื่อทีมแพ้ = เราก็เจ็บ

เมื่อทีมชนะ = เราภูมิใจ

 

นั่นจึงทำให้การเปลี่ยนทีมเชียร์…ไม่ต่างอะไรจากการเปลี่ยนตัวตนของตัวเอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

 

อีกเหตุผลสำคัญคือ ‘การลงทุนทางอารมณ์’ เพราะแฟนบอลไม่ได้แค่ให้ความสนใจ แต่ยังลงทุนทั้งเวลา เงิน และความรู้สึกในการตามเชียร์ทีมรัก นั่นทำให้สมองจะไม่ยอมปล่อยสิ่งเหล่านี้สูญเปล่าโดยง่าย…

 

ลองคิดดูว่า กว่าจะรักทีมหนึ่งได้ขนาดนั้น เราต้องผ่านอะไรบ้าง?

  • ตั้งนาฬิกาตีสองเพื่อลุกขึ้นมาดูบอล
  • เสียเงินซื้อเสื้อทีมของแท้ฤดูกาลละ 1-2 ตัว
  • หมดเป็นแสน…เพื่อเดินทางข้ามประเทศไปดูเกมที่สนามจริง
  • หรือแม้กระทั่งร้องไห้ในค่ำคืนที่ทีมรักพ่ายแพ้

 

ทั้งหมดนี้คือการลงทุนทางอารมณ์ที่ไม่สามารถประเมินเป็นมูลค่าได้ และเมื่อเราทุ่มเทกับอะไรสักอย่างมากๆ สมองของเราจะต่อต้านหรือชั่งใจในการ ‘ละทิ้ง’ หรือ ‘เปลี่ยนใจ’ จากสิ่งที่ลงทุนจนเกิดความผูกพัน เพราะนั่นหมายถึงการยอมรับว่า ทุกสิ่งที่เราทุ่มเทมา…อาจไม่มีความหมาย

 

ต่อมาคือเรื่อง ‘ความทรงจำและสายสัมพันธ์’ เพราะสำหรับแฟนบอลหลายคนจะเริ่มเชียร์ทีมรัก ทีมที่ชอบจากช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต

 

อาจเป็นเกมแรกที่พ่อเปิดดู เป็นทีมที่เพื่อนสนิทเชียร์ หรือเป็นทีมที่รู้จักจากเกมวินนิ่งสมัยเด็ก

 

เมื่อเวลาผ่านไป ทีมฟุตบอลก็ไม่ใช่แค่สโมสรที่เชียร์เอาสนุกอีกต่อไป

 

แต่มันคือ ‘ที่เก็บความทรงจำ’ ที่เรารู้สึกปลอดภัย และผูกพัน…ถึงขั้นที่เรารู้โดยอัตโนมัติว่า ทีมจะแข่งวันไหน เวลาใด เจอกับใคร

 

นั่นทำให้ทีมจึงไม่ใช่แค่ทีม, เกมกีฬาทั่วไป…แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว

 

แต่ถึงแม้หลายคนจะเคยสัมผัสความสุขจากการได้เห็นทีมรักคว้าแชมป์ ได้ดื่มด่ำชัยชนะท่ามกลางเสียงเฮและธงโบกสะบัดในสนาม วันเวลาเหล่านั้นอาจเป็นหนึ่งในความทรงจำที่งดงามที่สุดของการเป็นแฟนบอล

 

แต่โลกความจริง ฟุตบอลไม่ได้มีแค่วันแบบนั้นเสมอไป…

 

จะต้องมีสักวันหนึ่งที่ทีมรักไม่สามารถทำผลงานได้อย่างที่เราคาดหวัง บางครั้ง…ทีมต้องเผชิญความย่ำแย่ชนิดที่ยากจะทนดู

 

แต่ถึงอย่างนั้น คุณก็ยังคงนั่งอยู่ที่โซฟา สวมเสื้อทีมเดิม กอดหมอนใบเดิม และเฝ้าดูทีมรักผ่านหน้าจอในทุกสุดสัปดาห์

 

ทำไมถึงยังเชียร์? ทำไมยังรักทั้งที่เจ็บซ้ำๆ?

 

นั่นเพราะว่า ความหวัง…เป็นของคนที่ยังมีรักเสมอ

 

แม้จะผิดหวังซ้ำๆ แต่แฟนบอลจำนวนมากยังคงเชื่อมั่นว่าสักวันหนึ่ง ทีมของพวกเขาจะกลับมายืนตรงจุดที่เคยอยู่ได้อีกครั้ง

 

แนวคิดนี้สอดคล้องกับ Hope Theory ของ Snyder (2002) ซึ่งอธิบายว่า ความหวังช่วยให้มนุษย์ “อยู่กับเป้าหมายระยะยาว” และอดทนต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้นระหว่างทาง

 

นั่นทำให้แฟนบอลของทีมกลางตาราง หรือแม้แต่ทีมใหญ่ในอดีต ที่วันนี้ร่วงหล่นสู่โซนท้ายตาราง ยังเชื่อว่าฤดูกาลหน้าจะดีกว่านี้ การเซ็นนักเตะใหม่จะเปลี่ยนทีมได้ หรือกุนซือคนใหม่อาจพาทีมกลับสู่แสงสว่างอีกครั้ง

 

ในมุมจิตวิทยา นักวิจัยอย่าง Daniel Wann อธิบายว่า ความภักดีของแฟนกีฬา คือพฤติกรรมทางสังคมที่ช่วยหล่อหลอมอัตลักษณ์ และมอบความมั่นคงทางอารมณ์ให้กับชีวิตในแบบที่สิ่งอื่นไม่สามารถให้ได้

 

สุดท้ายแล้ว คำถามที่ว่า “ทำไมแฟนบอลถึงไม่เปลี่ยนทีมเชียร์ แม้ทีมจะย่ำแย่?” 

 

อาจมีคำตอบที่หลากหลายในหัวใจของแต่ละคน เพราะบางคนมีเหตุผล บางคนไม่มี แต่เกือบทุกคำตอบล้วนผูกโยงด้วยสิ่งเดียวกัน…คือ ‘ความผูกพัน’

 

และถ้าจะสรุปให้ง่ายที่สุด ความรักของแฟนบอลมันไม่ต้องการตรรกะ ไม่ต้องมีหลักฐานมายืนยันว่าเชียร์มานานแค่ไหน

 

เพราะสำหรับแฟนบอลตัวจริง พวกเขาไม่รักทีมเพราะถ้วยแชมป์…แต่เพราะหัวใจที่ผูกพัน จึงพร้อมจะอยู่เคียงข้าง แม้ในวันที่ทีมล้มเหลว

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising