×

เชื้อ HPV เพศไหนก็ติดได้! แพทย์แนะ ควรฉีดวัคซีน HPV ทั้งชายและหญิง สกัดแพร่เชื้อก่อมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งจากเชื้อ HPV เร็วขึ้น [ADVERTORIAL]

โดย THE STANDARD TEAM
23.05.2025
  • LOADING...
hpv-vaccine-prevention

HIGHLIGHTS

  • ปี 2022 มีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก 8,600 กว่าราย และเสียชีวิต 4,500 กว่าราย หรือทุก 2 ชั่วโมงจะมีผู้หญิง 1 คนที่เสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูก
  • ที่สำคัญ คือ ทั้งหญิงและชายมีโอกาสได้รับเชื้อ HPV เหมือนกัน ผ่านการสัมผัสขณะมีเพศสัมพันธ์ การร่วมเพศทางปาก ทางช่องคลอดหรือทางทวารหนัก
  • เชื้อ HPV ยังเป็นต้นเหตุของมะเร็งช่องปากและลำคอ โดยข้อมูลของ Globocan ปี 2022 พบว่า มะเร็งช่องปากและลำคอพบในผู้ชายสูงกว่าผู้หญิงถึง 5 เท่า และติดอันดับ 5 ของมะเร็งที่พบในประเทศไทย 
  • รู้หรือไม่ว่า หากผู้ชายได้รับเชื้อ HPV ความเสี่ยงของการติดเชื้อในผู้ชายไม่ลดลงตามช่วงอายุ สามารถติดเชื้อ HPV ได้หลายสายพันธุ์ และเป็นพาหะแพร่เชื้อไปสู่ผู้หญิง 
  • ปี 2023 อัตราฉีดวัคซีนในเด็กหญิงทั่วโลกเพียง 15% ในประเทศไทย 8% แพทย์แนะควรฉีดวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย หรือ Gender-Neutral Vaccination (GNV) จะช่วยเร่งการกำจัดการติดเชื้อ HPV สาเหตุมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งจากเชื้อ HPV อื่นๆ ให้เร็วขึ้นได้

730,000 ราย คือจำนวนผู้ป่วยทั้งชายและหญิงทั่วโลกในแต่ละปีที่ติดเชื้อ HPV ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก มะเร็งช่องปากและลำคอ และหูดหงอนไก่ ฯลฯ 

 

‘มะเร็งปากมดลูก’ เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับที่ 4 ในผู้หญิงทั่วโลก 

 

สำหรับประเทศไทย มะเร็งปากมดลูกพบมากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม 

 

ปี 2022 มีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก 8,600 กว่าราย และเสียชีวิต 4,500 กว่าราย หรือทุก 2 ชั่วโมงจะมีผู้หญิง 1 คนที่เสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูก เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ของมะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV หรือ Human Papillomavirus 

 

เรารู้จักเชื้อไวรัส HPV ดีแค่ไหน? 

 

HPV เป็นเชื้อไวรัสที่มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ แต่มีประมาณ 40 สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ เช่น สายพันธุ์ 16 และ 18 ที่เป็นสาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูกถึงร้อยละ 70 รองลงมาคือ สายพันธุ์ 58 52 45 33 และ 31 ในขณะที่ HPV สายพันธุ์ 6 และ 11 ยังเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคหูดหงอนไก่ 

 

เชื้อ HPV ไม่ได้เป็นต้นเหตุของมะเร็งปากมดลูกเท่านั้น แต่ยังเป็นต้นเหตุของมะเร็งทวารหนัก มะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์ชาย รวมไปถึงมะเร็งช่องปากและลำคอ 

 

ข้อเท็จจริงที่ไม่ควรมองข้ามคือ ทั้งหญิงและชายมีโอกาสได้รับเชื้อ HPV เหมือนกัน ผ่านการสัมผัสขณะมีเพศสัมพันธ์ การร่วมเพศทางปาก ทางช่องคลอดหรือทางทวารหนัก

 

ยุทธศาสตร์การกำจัด ‘มะเร็งปากมดลูก’ ของ WHO 

 

แม้ว่าวัคซีน HPV จะเป็นอาวุธสำคัญในการป้องกันมะเร็งที่เกิดจากเชื้อ HPV ในชายและหญิง แต่ทว่า จากการสำรวจของ WHO ในปี 2023 อัตราการฉีดวัคซีนในเด็กหญิงทั่วโลกและประเทศไทยยังต่ำ โดยทั่วโลกมีเพียง 15% และในประเทศไทยเพียง 8% ของเด็กหญิงกลุ่มเป้าหมายหลักที่ได้รับวัคซีน HPV

 

สมาคมมะเร็งนรีเวชไทย (TGCS), บริษัท เอ็มเอสดี (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท Docquity ประเทศไทย จึงจัดงานเสวนาภายใต้หัวข้อ The Impact of HPV-Related Diseases and the Role of Thai Societies in Elimination Efforts: Services and Academic Contributions เพื่อร่วมมือกันหาแนวทางการกำจัดมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งอื่นๆ จาก HPV ด้วยการฉีดวัคซีนทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย หรือที่เรียกว่า Gender-Neutral Vaccination (GNV) 

 

HPV

 

ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงศิริวรรณ ตั้งจิตกมล นายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์ระดับโลกในการเร่งกำจัดมะเร็งปากมดลูก ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งเป้าหมายกำจัดมะเร็งปากมดลูกภายใน 2030 คือ ต้องมีอุบัติการณ์จากมะเร็งปากมดลูกน้อยกว่า 4 รายต่อผู้หญิง 100,000 ราย

 

โดยมี 3 แนวทาง คือ 

 

90% ของเด็กผู้หญิงได้รับวัคซีน HPV ครบ เมื่ออายุ 15 ปี

 

70% ของผู้หญิงได้รับการตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิภาพสูง เมื่ออายุ 35 ปี และอีกครั้งเมื่ออายุ 45 ปี

 

90% ของผู้หญิงที่ระบุว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกได้รับการรักษา (90% ได้รับการรักษามะเร็งก่อนระยะลุกลาม และ 90% ได้รับการจัดการมะเร็งระยะลุกลาม)

 

“ออสเตรเลียน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะได้ประกาศว่าจะเป็นประเทศแรกที่กำจัดมะเร็งปากมดลูก จากการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2007 รวมถึงเทคโนโลยีการตรวจคัดกรองที่พัฒนาเรื่อยๆ โดยในปี 2018 ออสเตรเลียได้เปลี่ยนมาฉีดวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ และเป็นการให้วัคซีนแบบ Gender-neutral vaccination (GNV) หรือการฉีดวัคซีน HPV ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย เพื่อกระตุ้นให้เด็กชายมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ HPV ด้วย” 

 

HPV

 

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ รองประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยและอดีตนายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย กล่าวเสริมว่า การฉีดวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ จำนวน 2 โดส จะคุ้มค่าและครอบคลุมการปกป้องได้มากกว่า

 

“ตามข้อกำหนดล่าสุดของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย, สมาคมมะเร็งนรีเวชไทย และสถาบันมะเร็งแห่งชาติ แนะนำให้เด็กชายและหญิงอายุต่ำกว่า 15 ปี ควรฉีดวัคซีน HPV จำนวน 2 โดส แต่ถ้าเริ่มฉีดหลังอายุ 15 ปีขึ้นไป ควรฉีดวัคซีน HPV จำนวน 3 โดส ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานที่ทั่วโลกปฏิบัติ”

 

HPV

 

เมื่อผู้ชายไม่มีมดลูกแล้วมะเร็งเกิดที่ไหน? 

 

คำตอบ คือ มะเร็งช่องปากและลำคอ และมะเร็งทวารหนัก 

 

แล้วรู้หรือไม่ว่า หากผู้ชายได้รับเชื้อ HPV จะมีข้อกังวลอื่นๆ ที่ไม่พบในเพศหญิง ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย  เล่าให้เห็นถึงภาพความเสี่ยง ของผู้ชาย โดยพบว่า ความเสี่ยงของการติดเชื้อในผู้ชายไม่ลดลงตามช่วงอายุ สามารถติดเชื้อ HPV ได้หลายสายพันธุ์ และ ภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติที่เกิดจากการติดเชื้อ (seroconversion) ต่ำเพียง 8% ทำให้ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อซ้ำได้ หากเคยเป็นแล้วก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้

 

แต่ประเด็นที่น่ากังวลใจยิ่งกว่ามาจากข้อมูลของ Globocan ปี 2022 พบว่า มะเร็งช่องปากและลำคอพบในผู้ชายสูงกว่าผู้หญิงถึง 5 เท่า และติดอันดับ 5 ของมะเร็งที่พบในประเทศไทย
 

งานวิจัยล่าสุดพบว่ากว่า 42% ของผู้ป่วยมะเร็งช่องปากและลำคอในประเทศไทย มีสาเหตุมาจากเชื้อ HPV ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 10 ปีที่ผ่านมา 

 

จำนวนผู้ป่วยมะเร็งจากเชื้อ HPV ทั่วโลกกว่า 730,000 ราย พบผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก 570,000 ราย รองลงมาคือ มะเร็งช่องปากและลำคอ ประมาณ 52,000 ราย ในขณะที่มะเร็งปากช่องคลอดและช่องคลอดมีประมาณ 25,000 ราย 

 

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ภัทรวุฒิ วัฒนทรัพย์ ประธานสมาคมมะเร็งศีรษะและคอแห่งเอเชีย กล่าวว่า “เดิมทีเราเข้าใจว่าสาเหตุของมะเร็งช่องปากและลำคอเกิดจากการสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เคี้ยวหมาก พลู แต่ปัจจุบันสาเหตุของการเกิดมะเร็งช่องปากและลำคออีกส่วนหนึ่งมาจากการติดเชื้อ HPV ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกันกับที่ก่อโรคมะเร็งปากมดลูก”

 

HPV

 

“การป้องกันไม่ให้เกิดโรคง่ายกว่าการรักษา” รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ณปฎล ตั้งจาตุรนรัศมี ประธานชมรมแพทย์มะเร็งศีรษะและคอ แห่งประเทศไทย อธิบายเพิ่มเติมว่า “ปัจจุบันมีข้อกำหนดให้มีการตรวจ p16 IHC เพื่อช่วยระบุผู้ป่วยที่มีรอยโรคน่าสงสัยหรือมีความเสี่ยงสูง นอกจากนี้ยังช่วยในการแบ่งประเภทมะเร็งเพื่อการวางแผนการรักษาที่เหมาะสม และนำไปสู่มาตรการป้องกันเชิงรุก เช่น การฉีดวัคซีน HPV ซึ่งเป็นวิธีการป้องกันมะเร็งที่มีประสิทธิภาพ”

 

จะเกิดอะไรขึ้นหาก GNV กลายเป็นนอร์มใหม่ 

 

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วิชัย บอกว่าการฉีดวัคซีน HPV ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย หรือ GNV จะช่วยเร่งการกำจัดการติดเชื้อ HPV สาเหตุมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งจากเชื้อ HPV อื่นๆให้เร็วขึ้นได้ เนื่องจากการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรของประเทศ จะทำให้ผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันหรือไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนได้รับการป้องกันการติดเชื้อ HPV ไปด้วย เรียกว่า ภูมิคุ้มกันหมู่ หรือ Herd immunity จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฉีดทั้งหญิงและชายและควรเป็น Norm ใหม่ของประเทศไทย”

 

หากการฉีดวัคซีน HPV แบบ GNV ถูกบรรจุเพิ่มเข้าไปในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันแห่งชาติในประเทศไทย (NIP) และมีการกระจายวัคซีน HPV ให้เข้าถึงเด็กชายและหญิงอายุตั้งแต่ 11-12 ปี นอกจากจะทำให้เกิดการครอบคลุมการฉีดวัคซีนในประชากรของประเทศมากขึ้น ยังช่วยเร่งการกำจัดการติดเชื้อ HPV สาเหตุมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งจากเชื้อ HPV อื่นๆ ให้เร็วขึ้นได้

 

ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขในหลายประเทศทั่วโลกก็เดินหน้าเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง อาทิ สมาพันธ์สูตินรีแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา หรือ American College of Obstetricians and Gynecologists (ACOG) ก็แนะนำให้ฉีดวัคซีน HPV ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง

 

HPV

 

สำหรับประเทศไทย ศ.พญ.กุลกัญญา เน้นย้ำถึงสิทธิประโยชน์ของผู้หญิงอายุระหว่าง 11-20 ปี สามารถรับวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ ได้ฟรีที่ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย เพราะถูกบรรจุในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันแห่งชาติโดยภาครัฐ ปีงบประมาณ 2568 เป็นที่เรียบร้อย

 

“อย่างไรก็ตาม วัคซีน HPV จำเป็นสำหรับการป้องกันในผู้ชายเช่นกัน เพราะมีความเสี่ยงติดเชื้อ HPV มากกว่าผู้หญิง โดยตลอดช่วงชีวิตของผู้หญิงหนึ่งคนเมื่อเริ่มมีเพศสัมพันธ์ จะมีโอกาสติดเชื้อ HPV สูงถึง 85% ในขณะที่ผู้ชายมีโอกาสติดเชื้อ HPV สูงถึง 91% นอกจากจะป้องกันมะเร็งทวารหนัก และมะเร็งช่องปากและลำคอ ผู้ชายที่ได้รับวัคซีนจะมีโอกาสแพร่เชื้อต่อให้คู่นอนในอนาคตน้อยลง ซึ่งจะช่วยลดการแพร่ระบาดในวงกว้างได้ รวมถึงการผลักดันการฉีดวัคซีนในผู้ชายช่วยให้อัตราการฉีดวัคซีนในผู้หญิงเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน” 

 

สรุปง่ายๆ ยิ่งประชาชนสามารถเข้าถึงการฉีดวัคซีน HPV แบบ GNV ได้เร็วเท่าไร ก็ยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งอื่นๆ จาก HPV ได้มากขึ้น 

 

และเพื่อให้เกิดการครอบคลุมในระดับประเทศ การฉีดวัคซีน HPV แบบ GNV ควรถูกพิจารณาบรรจุเพิ่มเข้าไปในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันแห่งชาติในประเทศไทย (NIP) โดยเร็วที่สุด 

 

แม้การลงทุนในวันนี้จะยังไม่เห็นผลลัพธ์ทันที แต่ในระยะยาว การฉีดวัคซีน HPV แบบ GNV จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยจากการติดเชื้อ HPV และลดการเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูก มะเร็งจากเชื้อ HPV รวมไปถึงลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในการรักษาพยาบาลได้ 

 

ท้ายที่สุดแล้วประเทศที่เต็มไปด้วยคนสุขภาพดีย่อมหมายถึงการมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพที่จะมาช่วยยกระดับสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising