วันนี้ (22 พฤษภาคม) ที่อาคารรัฐสภา รังสิมันต์ โรม สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงปัญหาสารพิษในแม่น้ำกก เนื่องจากการสร้างเหมืองแร่เอิร์ธ ในประเทศเมียนมา โดยเปิดเผยว่าจากการได้ลงพื้นที่แม่น้ำกก พบว่า สารที่หนักที่สุดคือสารหนูเกินกว่าค่ามาตรฐาน โดยเฉพาะในลำน้ำสาขา และแม่น้ำกกที่ไหลจากจังหวัดเชียงใหม่มาจังหวัดเชียงราย จะมีสารหนูที่เข้มข้นมาก
ดังนั้น การจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้านั้น คงจะได้เห็น ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เสนอทำเขื่อนกรองสารพิษ แต่ส่วนตัวไม่แน่ใจว่า เข้าใจผิดหรือมีคนมาบรีฟไม่ถูกต้องหรืออย่างไร เพราะมีข้อเสนอคล้ายกันคือการทำฝายชั่วคราวหรือถาวร อยู่ที่เราจะประเมินว่า ปัญหาแม่น้ำกกหนักหนาแค่ไหน
สำหรับการสร้างเขื่อนหรือฝายนั้น สามารถทำได้ แต่มีปัญหาอยู่ข้อหนึ่งคือ หากทำในลักษณะแบบนี้ จะเกิดตะกอนที่เกาะกับสารหนู และขั้นตอนต่อไป คือจะต้องมีการดูดตะกอนเข้าไปบำบัด ซึ่งเข้าใจว่าในพื้นที่ดังกล่าวไม่มีศักยภาพที่จะทำได้เอง ต้องส่งไปที่จังหวัดสระบุรี จึงจะต้องใช้ภาษีประชาชน เข้าไปใช้การแก้ปัญหา
ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมคนไทยจะต้องรับชะตากรรมกับสิ่งที่เกิดขึ้นในแม่น้ำกก ทั้งที่เราไม่ได้เป็นคนก่อนั้น ปัญหานี้มีสาเหตุมาจากการทำเหมืองทองในฝั่งเมียนมา ซึ่งเป็นพื้นที่เขตอิทธิพลของกลุ่มว้า ภาคประชาสังคมได้นำคลิปวิดีโอมาให้ตนเองดูพบว่า มีการทำลายสิ่งแวดล้อม มีการร่อนแร่โดยใช้แม่น้ำธรรมชาติ ปัญหาแม่น้ำกกจึงเป็นปัญหาที่รุนแรง มีทั้งสารหนูและสารอื่น ๆ เกิดค่ามาตรฐานมากกว่าเท่าตัวไปแล้ว
รังสิมันต์มองว่า ความน่าเป็นห่วงจะยิ่งมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสารหนูที่อาจจะเพิ่มสูงกว่านี้ หรือถ้าเกิดอุทกภัยเหมือนแม่น้ำสาย ก็จะพลัดดินโคลนที่หนักกว่าเดิม เนื่องจากมีการขยายเหมืองในพื้นที่ว้า เรื่องนี้หากประเทศไทยจะทำลำพังโดยไม่พูดคุยกับเพื่อนบ้าน ก็จะทำได้แค่ลดปัญหา หรือการสร้างเขื่อนสร้างฝายเท่านั้น แต่จะมีภาระเรื่องการบำบัดตลอดเวลา
“ถ้าอยากให้ปัญหานี้จบอย่างถาวร จะต้องพูดคุยและใช้มาตรการกับกลุ่มว้า การที่คุณภูมิธรรมออกมาบอกว่า ได้คุยกับเมียนมาแล้ว และเขาไม่มีอำนาจ เพราะเป็นพื้นที่ของว้านั้น การตัดบทแบบนี้ไม่ได้ทำให้ประชาชนรู้สึกอุ่นใจ สุดท้ายกลุ่มว้า ไม่เกรงใจประเทศไทย เพราะเราไร้น้ำยา ดังนั้น รัฐบาลจะต้องทำให้ประชาชนคนไทยรู้สึกอุ่นใจปลอดภัย ที่มีรัฐบาลแบบนี้” รังสิมันต์กล่าว
รังสิมันต์กล่าวต่อไปว่า เนื่องจากรัฐบาลทำงานช้ามากเกี่ยวกับปัญหาความมั่นคง โดยเฉพาะกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับชีวิต อนามัย และสุขภาพ ซึ่งคณะกรรมาธิการความมั่นคงฯ ได้ติดตามเรื่องนี้และได้การประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายแล้ว โดยจะมีการประชุมอีกครั้ง เพื่อติดตามความคืบหน้าในวันที่ 5 มิถุนายนนี้ เพื่อหารือเรื่องการสร้างฝาย ซึ่งอาจใช้งบประมาณไม่เยอะ และไม่น่าจะใช้ถาวรได้ ทางจังหวัดควรสนับสนุน แต่ในระยะยาว จะต้องมีการแก้ปัญหาเหมืองที่ต้นตอ
“การแก้ปัญหาของรัฐบาลล่าช้า ไม่ชัดเจน และไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไร เหตุใดถึงปล่อยให้สารเกินมาตรฐานหลายเท่าตัว อีกทั้งรัฐบาลยังไม่รู้ว่า จะสร้างความชัดเจนให้กับประชาชนอย่างไร ช่วยอะไรไม่ได้ ก็จะต้องอยู่ ๆ กันไปหรือ เสี่ยงเรื่องสุขภาพ การท่องเที่ยวถูกทำลายเละเทะ” รังสิมันต์ระบุ
รังสิมันต์กล่าวต่อไปว่า ในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา การท่องเที่ยวที่บริเวณนั้น จะมีร้านเรือนแพ เมื่อมีปัญหาแบบนี้ ก็จะส่งผลกระทบทั้งระบบ ไม่มีนักท่องเที่ยว เพราะทุกคนกังวลเรื่องอันตราย สัตว์น้ำจับกินไม่ได้ เราไม่ควรปล่อยให้พี่น้องประชาชนลอยคอรอความช่วยเหลือ โดยไม่รู้ว่าความช่วยเหลือจะมาเมื่อไร
ส่วนกรณีที่ มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระบุ จะพุ่งเป้าไปที่เมียนมานั้น รังสิมันต์กล่าวว่า ขอแนะนำ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ภูมิธรรม และมาริษว่า การจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ ต้องคุยกับจีนเพื่อหาทางออก แต่จีนคงจะไม่รับปาก หรือให้หลักประกัน ไทยควรแสดงจุดยืนว่า ปัญหาเรื่องนี้ร้ายแรง เมื่อเราเห็นว่าจีนมีจุดยืนต่อเรื่องนี้อย่างไร ประเทศไทยต้องแสดงความจำนงว่า จะไม่นิ่งเฉยกับเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด มีมาตรการจากเบาไปหาหนัก และจำเป็นอย่างมากที่รัฐบาลจะต้องแสดงความเป็นผู้นำ ซึ่งเราแทบจะไม่เห็น
รังสิมันต์ ย้ำว่า ประเด็นสำคัญคือ ภาคประชาชนบอกว่าถ้ารัฐบาลไม่ทำ เขาจะไปทำหนังสือยื่นถึงรัฐบาลจีน ขนาดประชาชนยังรู้เลย ทุกคนรู้ว่าถ้าต้องการแก้ปัญหาต้องไปคุยว้าและจีน ทำไมรัฐบาลถึงไม่ทำ จะมาบอกว่าไม่ใช่รัฐมีพฤติกรรมไม่ต่างจากกลุ่มก่อการร้ายไม่ได้ เพราะวันนี้ปัญหาเกิดขึ้นร้ายแรง
อย่างไรก็ตาม สส. ในพื้นที่ก็พยายามผลักดันและหารือเรื่องนี้ คงจะต้องหาทางการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยคณะกรรมาธิการความมั่นคงฯ ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา และมีตัวอย่างคดีในบางประเทศที่มีการฟ้องร้อง สอดคล้องกับข้อเสนอของนักวิชาการในคณะทำงานที่เห็นว่า ควรจะมีการฟ้องร้องเอาค่าสินไหมทดแทน แต่คงไม่ได้เกิดขึ้นในเร็ววัน
สุดท้าย การฟ้องร้องเป็นคดีให้มีคำพิพากษาออกมา หากคำพิพากษาเป็นคุณกับประชาชนคนไทยในวันข้างหน้า เราก็อาจจะนำคำพิพากษานี้ ไปเรียกร้องชดใช้ค่าเสียหาย เนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้น อาจจะต้องนำงบประมาณไปปรับปรุงสภาพแวดล้อมแม่น้ำกก ยังมีอีกหลายสเต็ปที่ต้องดำเนินการ กลายเป็นว่าสุดท้ายแล้ว คนไทยเดือดร้อน ทั้งเรื่องสุขภาพ และการนำเอาภาษีของประชาชนไปใช้