ตั้งแต่ อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นั่งเก้าอี้ในฐานะ ‘ประธานอาเซียน 2025’ เขาได้แสดงให้เห็นถึงแนวทาง ‘การทูตเชิงรุก’ ที่น่าจับตา โดยเน้นการสร้างพันธมิตรระดับภูมิภาคและการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจทั้งในเอเชียและตะวันตก การเดินสายพบปะผู้นำประเทศต่างๆ ทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ในการขยายอิทธิพลของมาเลเซียและการส่งเสริมบทบาทของอาเซียนในเวทีโลก
2025 กับผลงาน ‘การทูตเชิงรุก’
อันวาร์ อิบราฮิม เดินสายพบปะกับผู้นำประเทศมากมาย ตั้งแต่เดือนทางเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE), สหราชอาณาจักร รวมถึงบรรดาชาติในยุโรป ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2025 ก่อนที่จะทยอยเดินทางเยือน รวมถึงต้อนรับผู้นำประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในอาเซียน เอเชีย และตะวันออกกลาง
โดยผู้นำมาเลเซียได้เดินทางเยือนไทย เพื่อพบปะกับนายกรัฐมนตรีของไทย รวมถึงพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาที่กรุงเทพฯ เมื่อช่วงกลางเดือนเมษายน ซึ่งนักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า สิ่งนี้สะท้อนความพยายามของประธานอาเซียนในการเจรจาหารือ เพื่อแก้ไขวิกฤตเมียนมา โดยอาศัยช่องทางการประชุมแบบไม่เป็นทางการ
อันวาร์ยังได้ต้อนรับผู้นำประเทศมหาอำนาจอย่าง สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ที่เดินทางเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ประเทศพันธมิตรในอาเซียนที่สีจิ้นผิงเดินทางเยือน เมื่อช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา ยิ่งตอกย้ำความสำคัญของมาเลเซียในฐานะ ‘ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน’ ในสายตาจีน หลังจากที่ผู้นำมาเลเซีย เคยเดินทางเยือนเมืองโบอาว (Bo’ao) มณฑลไห่หนานของจีน เมื่อปลายเดือนมีนาคม เพื่อพบปะสีจิ้นผิงและเข้าร่วมงาน Boao Forum for Asia (BFA) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และสังคมในภูมิภาคเอเชียและทั่วโลก
ล่าสุด ผู้นำมาเลเซียยังได้ทางเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 13-16 พฤษภาคม 2025 เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างมาเลเซียและรัสเซีย รวมถึงกระชับความร่วมมือในกรอบอาเซียน โดยได้เชิญ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมสุดยอดอาเซียนที่จะมีขึ้นในมาเลเซียช่วงปลายปีนี้ โดยการเข้าร่วมประชุมของรัสเซียจะเป็น ‘ก้าวสำคัญ’ ในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและมาเลเซีย รวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกด้วย
ตัวอย่างแนวคิดหรือยุทธศาสตร์ที่มาเลเซียเลือกใช้
1. ยุทธศาสตร์ ‘Pivot to Asia’ และความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับมหาอำนาจเอเชีย
การเดินทางเยือนกันไปมาระหว่างผู้นำมาเลเซียและจีน เป็นสัญญาณชัดเจนว่า ทั้งสองประเทศต่างต้องการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยเฉพาะในด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและเขตเศรษฐกิจพิเศษ ขณะที่การเจรจาเรื่องการลงทุนในโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ได้ถูกขยายให้ครอบคลุมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในมาเลเซีย พร้อมทั้งประกาศว่า ทั้งจีนและมาเลเซียต่างร่วมมือกันทางเศรษฐกิจในระดับ ‘ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันระดับสูง’ ซึ่งในมุมหนึ่งชี้ให้เห็นถึงการเปิดประตูให้ทุนจีนเข้าสู่โครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีของมาเลเซีย
นอกจากนี้ อันวาร์ อิบราฮิม ยังเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์กับบรรดาประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการรวมกลุ่มอำนาจต่อรองในการเจรจากับชาติมหาอำนาจ โดยส่งเสริมบทบาทนำของอาเซียน (ASEAN Leadership) ในมิติต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงที่มาเลเซียนั่งเก้าอี้ประธานอาเซียน
2. การทูตสองขั้ว (Dual Diplomacy)
แนวทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่มุ่งรักษาความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับมหาอำนาจหลายฝ่ายที่มีอิทธิพลระดับโลก แม้ว่ามหาอำนาจเหล่านั้นอาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์หรืออุดมการณ์ทางการเมืองก็ตาม โดยมีเป้าหมายในการถ่วงดุลอำนาจ และใช้ความสัมพันธ์กับสองฝ่ายนี้ เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง และลดความเสี่ยงทางการเมืองและเศรษฐกิจจากการพึ่งพาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป
โดยหลังจากที่อันวาร์เดินทางประเทศต่างๆ ในยุโรปแล้วช่วงต้นปี เขาก็เดินทางเยือนรัสเซียและพบปะหารือกับปูติน ผู้นำรัสเซีย แสดงถึงความตั้งใจที่จะสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่ขึ้นอยู่กับฝ่ายตะวันตกเท่านั้น แต่พยายามที่จะสร้างความสัมพันธ์กับทั้งสองขั้วของมหาอำนาจอย่างยุโรป-รัสเซีย
3. จุดยืนที่เป็นกลาง (Non-Aligned Diplomacy)
แนวทางการต่างประเทศที่หลีกเลี่ยงการเข้าเป็นพันธมิตรหรือฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างชัดเจน โดยยึดหลักความเป็นอิสระและไม่เข้าข้างในความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ โดยมีเป้าหมายที่จะรักษาความเป็นอิสระทางการเมืองและนโยบายภายในประเทศ
มาเลเซียยึดมั่นในหลักการไม่เข้าข้างฝ่ายใดในความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ โดยเฉพาะระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่แข่งหลักในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมาเลเซียยังคงรักษาความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้าอย่างใกล้ชิดกับทั้งจีนและสหรัฐฯ ไม่แสดงอคติอย่างชัดเจนต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
อีกทั้งยังแสดงบทบาท เป็น ‘ตัวกลาง’ หรือ ‘ผู้ไกล่เกลี่ย’ ในความขัดแย้งระดับภูมิภาค เช่น กรณีเมียนมา โดยอันวาร์ได้พบปะกับทั้งตัวแทนรัฐบาลทหารเมียนมา (SAC) และกลุ่มฝ่ายค้าน NUG รวมถึงกลุ่มที่ปรึกษาของอาเซียน เพื่อรับฟังและประสานความร่วมมือด้านมนุษยธรรม โดยไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายใดในความขัดแย้ง แต่เลือกเป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ สำหรับการพูดคุยและหาทางออกร่วมกัน
อันวาร์ อิบราฮิม กับบทบาทด้านการทูตที่โดดเด่น
รศ. ดร.จุฬณี ตันติกุลานันท์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองมาเลเซีย ระบุว่า หากเราย้อนดูจริงๆ แล้วจะพบว่า อันวาร์ อิบราฮิม แสดงบทบาทด้านการทูตระหว่างประเทศมายาวนานมากแล้ว ตั้งแต่ช่วงยุคที่อยู่ร่วมรัฐบาลกับมหาเธร์ โมฮัมหมัด ก่อนที่บทบาทจะเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงที่เป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย รวมถึงประธานอาเซียน
ส่วนปัจจัยสำคัญที่ทำให้อันวาร์ต้องหันมาขับเคลื่อนบทบาทภายนอกประเทศมากยิ่งขึ้น อาจารย์มองว่าส่วนหนึ่งมาจาก ‘ปัญหาภายในประเทศ’ โดยเฉพาะเรื่องของความแตกแยกเรื่องทางชาติพันธุ์ในมาเลเซีย ซึ่งยังไม่บรรลุเป้าหมายที่เขาได้เคยหาเสียงไว้ว่า ว่าจะสร้างเอกภาพและความสามัคคีให้เกิดขึ้น โดยอันวาร์ยังได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นนี้อยู่เสมอ
ขณะที่อีกหนึ่งประเด็นสำคัญก็คือ เรื่องของธรรมาภิบาลที่เป็นปัญหาของรัฐบาลมาเลเซียในปัจจุบัน หลังจากที่อิมบราฮิมตัดสินใจจับมือกับพรรคอัมโน (UMNO) ที่มีภาพลักษณ์ด้านลบในอดีต เช่น ปัญหาคอร์รัปชันและการบริหารราชการที่ไม่โปร่งใส ทำให้ภาพลักษณ์โดยรวมของรัฐบาลมาเลเซียภายใต้การนำของ อันวาร์ อิบราฮิม เสียไป สิ่งที่เขาเคยหาเสียงไว้ว่าจะแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลและปัญหาทุจริตคอร์รัปชันภายในประเทศจึงดูอ่อนลง
ประกอบกับมาเลเซียในขณะนี้ประสบกับปัญหาเศรษฐกิจ วิกฤตเงินเฟ้อ และการชะลอตัวของนักลงทุน อาจารย์เลยมองว่าการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ในระดับภูมิภาค นอกจากจะสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกให้กับ อันวาร์ อิบราฮิม แล้ว ยังอาจเป็นความหวังในการดึงนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในมาเลเซียมากยิ่งขึ้น
สอดคล้องกับ รศ. ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิอาเซียน และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มองว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ อันวาร์ อิบราฮิม ต้องหันมาผลักดันประเด็นระหว่างประเทศ และดำเนินนโยบายการทูตเชิงรุกมากขึ้น มาจาก ‘ปัจจัยภายในประเทศ’ ซึ่งเป็น ‘ไฟต์บังคับ’ ของเขา เนื่องจากผ่านมา 3 ปียังไม่มีผลงานที่จับต้องได้ ผลงานในประเทศรัฐบาลมาเลเซียชุดปัจจุบันไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ประกอบกับมรสุมทางการเมืองต่างๆ ยิ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ ความเชื่อใจ รวมถึงคะแนนนิยมของรัฐบาลอันวาร์
ขณะที่การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก ก็เป็นปัจจัยภายนอกที่สำคัญในมุมมองของ รศ. ดร.จุฬณี ซึ่งส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนท่าทีและการดำเนินนโยบายของ อันวาร์ อิบราฮิม ในฐานะผู้นำมาเลเซีย และประธานอาเซียนขณะนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงนำไปสู่การดำเนินมาตรการการทูตเชิงรุกที่ดูแอ็กทีฟมากยิ่งขึ้น แต่จะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้หรือไม่นั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ส่วนคำถามที่ว่า บทบาทการทูตเชิงรุกของผู้นำมาเลเซียประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน รศ. ดร.ปิติ มองว่า ขณะนี้มองเห็นถึงความพยายาม แต่ ‘ยังไม่ประสบความสำเร็จ’ เท่าที่ควร เนื่องจากยังมีหลายประเด็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เช่น ปัญหาความรุนแรงทางภาคใต้ของไทย ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับมาเลเซียก็ยังคงคาราคาซังมาอย่างยาวนาน
มาเลเซียในฐานะ ‘ผู้ไกล่เกลี่ยแห่งอาเซียน’?
ส่วนคำถามที่ว่า อันวาร์ อิบราฮิม จะผลักดันมาเลเซียให้กลายเป็น ‘ตัวกลาง’ หรือ ‘ผู้ไกล่เกลี่ย’ แห่งอาเซียน เหมือนกับบทบาทของบรรดาประเทศในตะวันออกกลาง เช่น กาตาร์ หรือไม่นั้น รศ. ดร.จุฬณี อธิบายบนพื้นฐานของความเชื่อที่ว่า สิ่งที่อิมบราฮิมทำนั้น สอดคล้องกับนโยบายภายในประเทศของมาเลเซียเองด้วยอยู่แล้ว โดยเฉพาะหลักการมาดานี (Maddani) ที่ตัวเขาเป็นผู้ริเริ่มและประกาศแนวคิดนี้ในฐานะวิสัยทัศน์การบริหารประเทศที่ครอบคลุม และส่งเสริมสังคมหลากหลายทางวัฒนธรรมของมาเลเซีย โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาสังคมที่สงบสุข มีความเท่าเทียม และส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ภายใต้หลักศาสนาอิสลามที่ประยุกต์ให้เข้ากับโลกสมัยใหม่
อาจารย์มองว่าหลักการนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความร่วมมือภายในภูมิภาคให้เกิดขึ้น รวมถึงการสร้างเอกภาพและความสามัคคีในหมู่ชาติพันธุ์ต่างๆ ของมาเลเซียด้วย
อย่างไรก็ตาม อาจารย์ได้ชวนจับตามองบทบาทของอิมบราฮิม รวมถึงการเมืองภายในมาเลเซียกันต่อ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า หากรัฐบาลเดินหน้าผลักดันแต่ประเด็นภายนอกประเทศ แต่ไม่แก้ปัญหาให้กับภายในมาเลเซีย สิ่งนี้ไม่ได้การันตีว่าการเลือกตั้งหนหน้านั้น (ซึ่งมีกระแสข่าวว่าอันวาร์อาจจะยุบสภาและประกาศเลือกตั้งก่อนกำหนดในปี 2026) พรรครัฐบาลจะได้รับการสนับสนุนจนสามารถกลับมาเป็นรัฐบาลได้อีกสมัย โดยแนวทางหลังจากนั้น โดยเฉพาะหลังจากพ้นตำแหน่งประธานอาเซียนประจำปีนี้ไปแล้ว อาจทำให้อันวาร์ต้องหันมาแก้ไขปัญหาภายในประเทศมากยิ่งขึ้น เพื่อรักษาฐานเสียงและคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อไป