วันที่ 22 พฤษภาคม เวลา 13.30 น. ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับพวกรวม 2 คน ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้เพิกถอน คำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1351/2559 ซึ่งเรียกให้ยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากโครงการรับจำนำข้าว รวมเป็นเงินกว่า 35,717 ล้านบาท
เปิดสูตรคิดค่าเสียหาย จากคำสั่งมาตรา 44 สู่กลไกเรียกเงินคืน
ต้นทางของการดำเนินคดีนี้ย้อนกลับไปเมื่อ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้อำนาจตาม มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 39/2558 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2558 เพื่อแต่งตั้ง คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งครอบคลุมปีการผลิตตั้งแต่ 2548/2549 ถึง 2556/2557
คำสั่งดังกล่าวให้อำนาจคณะกรรมการในการตรวจสอบและดำเนินการเรียกค่าเสียหายจากผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงยิ่งลักษณ์ และยังระบุว่า การดำเนินการของคณะกรรมการฯ ให้ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และ ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 44 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ด้วยอำนาจตามคำสั่งนี้ คณะกรรมการฯ ได้กำหนดสูตรคำนวณค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวในแต่ละปีการผลิต โดยใช้วิธี
มูลค่าการรับจำนำข้าว – ความคุ้มค่าและประโยชน์ต่อเกษตรกร – มูลค่าที่ได้จากการระบายข้าว = ค่าเสียหายสุทธิ
ต่อมาจึงมีคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1351/2559 ให้ยิ่งลักษณ์รับผิดเฉพาะในปีการผลิต 2555/56 และ 2556/57 โดยไม่รวมปี 2554/55 และปี 2555 เนื่องจากเธอเพิ่งเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และยังไม่ปรากฏพฤติการณ์ประมาทร้ายแรงที่จะต้องรับผิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
ปมคำนวณค่าเสียหายจากปีที่ไม่มีการระบายข้าว
ปัญหาใหญ่ที่ตามมาคือ ปีการผลิต 2555/56 และ 2556/57 ไม่มีการระบายข้าว ทำให้ไม่มีข้อมูลสำคัญในการคำนวณค่าเสียหายตามสูตรนี้ได้อย่างชัดเจน อีกทั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีหมายเลขแดงที่ อม. 211/2560 ยังวินิจฉัยว่า ยิ่งลักษณ์ไม่มีความผิดในภาพรวมของโครงการ แต่มีความผิดเฉพาะในกรณี ละเว้นให้เกิดการทุจริตในการระบายข้าวในปี 2554/55 และปี 2555 เท่านั้น
แต่หากศาลปกครองสูงสุดจะนำเอาคำพิพากษาในคดีอาญา ที่ตัดสินว่ามีการ ‘ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ’ ปล่อยให้บุญทรง กับพวกทุจริตในการระบายข้าวในปีการผลิต 2554/2555 และ ปี 2555 มาเป็นฐานในการคิดค่าเสียหาย ก็อาจเกิดคำถามว่าว่าจะเป็นการขัดหลักการของกฎหมายที่ว่าศาลจะไม่พิพากษาเกินคำขอ หรือไม่
ในคดีนี้ที่มีประเด็นพิจารณาค่าเสียหายเฉพาะปีการผลิต 2555/56 และ 2556/57 ที่ไม่มีส่วนของการระบายข้าว ที่สำคัญในคำฟ้องก็มิได้ปรากฏ ข้อเท็จจริงหรือคำสั่ง ที่จะต้องให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเกี่ยวกับค่าเสียหายในส่วนของปี 2554/2555 และ ปี 2555
คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นชี้ว่า คำสั่งคลังไม่ชอบและหลักฐานไม่ชัด
ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ให้ยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าสินไหม รวมถึงเพิกถอนการยึดและอายัดทรัพย์ของเธอ โดยให้เหตุผลว่า
ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ายิ่งลักษณ์เป็นผู้สั่งการให้เกิดความเสียหาย หรือมีส่วนร่วมโดยตรง
การกำหนดสัดส่วนให้เธอรับผิดร้อยละ 20 ของมูลค่าความเสียหาย ไม่ได้เป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบราชการที่เกี่ยวข้อง
โครงการดำเนินงานในรูปแบบคณะกรรมการ ซึ่งเธอแม้จะเป็นประธาน ก็ไม่มีอำนาจตัดสินใจเพียงลำพัง
ศาลยังระบุด้วยว่า การที่หน่วยงานรัฐนำประเด็นอภิปรายไม่ไว้วางใจมาใช้ประกอบคำสั่งเรียกค่าเสียหาย ไม่สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานทางกฎหมายได้ และคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการก็ไม่มีอำนาจประเมิน ‘ความคุ้มค่าของนโยบาย’ โดยดูเพียงผลขาดทุนจากบัญชีการเงิน
เดิมพันครั้งใหญ่: ศาลปกครองสูงสุดจะตัดสินอย่างไร
ฝ่ายผู้ถูกฟ้องทั้ง 9 คน ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด โดยหวังพลิกคำตัดสิน ซึ่งการอ่านคำพิพากษาในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ จะเป็นจุดสิ้นสุดของกระบวนการในศาลปกครอง และอาจกลายเป็น ‘คดีตัวอย่าง’ ในเรื่องขอบเขตความรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐในโครงการนโยบายของรัฐบาล
คำตัดสินของศาลไม่เพียงสะท้อนความชอบธรรมในทางกฎหมาย แต่ยังเป็นบทพิสูจน์ถึงหลักนิติธรรม
อย่างไรก็ตามการยื่นอุทธรณ์คำตัดสินข้างต้นไปยังศาลปกครองสูงสุดให้เป็นผู้ชี้ขาดว่า จะยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น หรือกลับคำตัดสิน ท่ามกลางการลุ้นระทึกของหลายๆฝ่าย
เพราะมีความหมายไปถึงอนาคตการเดินทางกลับสู่ ‘มาตุภูมิ’ ของอดีตนายกยิ่งลักษ์ด้วย