×

SME หมดแรงจ่ายหนี้? หนี้เสียธุรกิจเล็กพุ่ง! หนักกว่าช่วงโควิด ยอดปล่อยสินเชื่อแบงก์ให้ SME หดตัวหนัก 5.5% ใน 1Q68

20.05.2025
  • LOADING...

แบงก์ยังไม่ปล่อยสินเชื่อ ธปท. เผย สินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ (รวมเครือ) ใน 1Q68 ติดลบ 1.3% หดตัว 3 ไตรมาสติดต่อกัน โดยเฉพาะสินเชื่อ SME ที่หดตัวถึง 5.5% ต่างจากสินเชื่อธุรกิจใหญ่ที่ยังขยายตัวได้อยู่ โดยเมื่อเจาะดู หนี้เสีย (NPL) ก็พบว่า สัดส่วนหนี้เสีย SME ต่อสินเชื่อ SME ทั้งระบบ พุ่งแตะระดับ ‘สูงกว่า’ ตอนเกิดการระบาดของโควิดแล้ว

 

วันนี้ (20 พฤษภาคม) สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ (รวมเครือ) ในไตรมาส 1 ปี 2568 หดตัวอยู่ที่ 1.3% จากระยะเดียวกันปีก่อน นับเป็นการหดตัว 3 ไตรมาสติดต่อกัน และหดตัวหนักกว่าไตรมาส 4 ปี 2567 ที่หดตัวอยู่ที่ 0.4%

 

โดยปัจจัยหลักที่ทำให้สินเชื่อหดตัวในไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ การชำระคืนหนี้ที่อยู่ในระดับสูง และแม้สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ยังขยายตัว แต่สินเชื่อธุรกิจ SME และสินเชื่ออุปโภคบริโภคหดตัวต่อเนื่อง ตามความเสี่ยงด้านเครดิตที่ยังอยู่ในระดับสูง 

 

สินเชื่อ SME ยังคง ‘หดตัว’ ทุกภาคธุรกิจ 

 

สุวรรณีกล่าวอีกว่า สินเชื่อ SME ยังคงหดตัวในทุกภาคธุรกิจ ที่หดตัว 5.5% โดยเฉพาะภาคการพาณิชย์ ส่วนหนึ่งมาจากการพิจารณาสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่เข้มงวด อย่างไรก็ดี ธปท. พบว่า กลุ่มที่เป็นลูกค้าเดิม ที่มีประวัติการชำระหนี้ที่ดี และกลุ่มที่มีศักยภาพในการแข่งขันก็ยังคงได้รับสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง

 

ขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ยังคงขยายตัวได้ในอัตรา 1.5% โดยกลุ่มธุรกิจที่ได้สินเชื่อไปจะอยู่ในกลุ่มภาคอสังหา ธุรกิจการเงิน และภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ กลุ่มผู้ส่งออกก็พบการเร่งตัวขึ้น โดยเป็นการเร่งตัวก่อนมาตรการภาษีใหม่ของสหรัฐฯ จะมีผลบังคับใช้

 

 

หนี้เสีย SME พุ่ง แตะระดับสูงกว่าช่วงก่อนโควิด

 

สุวรรณีเปิดเผยอีกว่า ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (non-performing loan: NPL) ไตรมาส 1 ปี 2568 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.48 แสนล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.9% โดยปัจจัยหลักมาจากสินเชื่อ SMEs และสินเชื่อที่อยู่อาศัย

 

เมื่อแยกตามขนาดธุรกิจพบ NPL ของสินเชื่อธุรกิจวงเงินน้อยกว่าหรือเท่ากับ 500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นแตะระดับ 7.35% ของสินเชื่อ SME ทั้งระบบ นับเป็นระดับ ‘สูงกว่า’ ตอนเกิดการระบาดของโควิดเสียอีก

 

สวนทางกับธุรกิจ ‘ขนาดใหญ่’ วงเงินมากกว่า 500 ล้านบาท ที่สัดส่วน NPL คงที่ที่ 1.01% ของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งหมด

 

 

จับตา หนี้เสีย ‘ลาม’ สินเชื่อบ้านราคาสูงกว่า 5 ล้านบาท

 

เมื่อแยกตามพอร์ตสินเชื่ออุปโภคบริโภคพบว่า สัดส่วน NPL ของสินเชื่อที่อยู่อาศัย ‘เพิ่มสูงต่อเนื่อง’ อยู่ที่ 4.10% ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งระบบ และสูงสุดเมื่อเทียบกับพอร์ตสินเชื่ออุปโภคบริโภคประเภทอื่นๆ ดังนี้

 

  • สัดส่วน NPL ของสินเชื่อเช่าซื้อ อยู่ที่ 2.20%
  • สัดส่วน NPL ของสินเชื่อส่วนบุคคล อยู่ที่ 2.95%
  • สัดส่วน NPL ของสินเชื่อบัตรเครดิต อยู่ที่ 3.35%
  • สัดส่วน NPL ของสินเชื่อที่อยู่อาศัย อยู่ที่ 4.10%

 

สุวรรณีกล่าวอีกว่า เมื่อแบ่งเป็นราคาบ้าน พบว่าสินเชื่อบ้านมากกว่า 5 ล้านบาทขึ้นไปกำลังมี NPL สูงขึ้น

 

“สำหรับ NPL สินเชื่อที่อยู่อาศัย เมื่อเจาะลงไปดูจำนวนบัญชี พบว่าบัญชีในกลุ่มบ้านที่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท มีจำนวนบัญชี NPL ลดลง แสดงว่าส่วนที่เป็น NPL ก้อนใหม่เริ่มไต่ระดับมาในกลุ่มที่มีมูลค่าสูงขึ้น อยู่ที่กลุ่มบ้านมากกว่า 5 ล้านบาทขึ้นไป” สุวรรณีกล่าว

 

ส่วนสินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อบัตรเครดิต แม้สัดส่วนเพิ่มขึ้นเนื่องจากฐานสินเชื่อที่หดตัว แต่ถ้าไปดูที่ปริมาณสินเชื่อ หรือปริมาณ NPL ที่เป็นเม็ดเงินยังคงปรับลดลง 

 

สำหรับ NPL ในระยะต่อไป สุวรรณีกล่าวว่า จากข้อมูลแนวโน้ม (Trend) พบว่า ยังมีน่าความกังวลอยู่ โดยความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าสหรัฐฯ ยิ่งเพิ่มเติม ความกังวลนี้ สมมติว่าหากการส่งออกได้รับผลกระทบ มีการปลด (Layoff) คนงาน ก็จะเพิ่มความกังวลต่อ NPL เข้าไป ดังนั้นจึงต้องรอดูผลการเจรจา ซึ่งรัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่อีกที

 

สำหรับสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (Significant Increase in Credit Risk: SICR) ปรับลดลง โดยหลักจากการชำระคืนหนี้ของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ส่งผลให้สัดส่วนทรงตัวอยู่ที่ 6.97%

 

 

เปิดภาพรวมหนี้ครัวเรือนต่อ GDP จ่อลดต่ำกว่า 88% ต่อ GDP

 

สำหรับภาพรวมหนี้ครัวเรือนต่อ GDP พบว่าทยอยปรับลดลงจากจุดสูงสุด เมื่อช่วงประมาณกลางปี 2564 ต่อเนื่อง จากระดับ 94.6% ต่อ GDP เหลืออยู่ที่ 88.4% ต่อ GDP

 

นอกจากนี้ สุวรรณียังกล่าวว่า จากตัวเลขสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่หดตัว และ GDP ที่ยังขยายตัวได้ในไตรมาส 1 ปี 2568 จึงคาดว่าหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในไตรมาส 1 ของปีนี้น่าจะปรับลดลงอีก โดยอาจจะต่ำกว่า 88% ต่อ GDP

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising