×

สงครามภาษีสหรัฐฯ ‘ขว้างหินทับเท้าตัวเอง’ มั่นใจไทยไม่แทงข้างหลังจีน

18.05.2025
  • LOADING...
เอกอัครราชทูตจีนกล่าวถึงสงครามภาษีสหรัฐฯ พร้อมแสดงจุดยืนของจีนในการปกป้องระบบการค้าเสรี

เอกอัครราชทูต หานจื้อเฉียง ได้รับเชิญให้เข้าร่วมสัมมนาหัวข้อ ‘ภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจโลก และบทบาทของจีน: โอกาสและความท้าทายสำหรับประเทศไทย’ ซึ่งจัดโดยวุฒิสภาไทย โดยได้กล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับสถานการณ์ระหว่างประเทศและระดับภูมิภาคในปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและไทยเป็นต้นพร้อมได้ตอบคำถามจากสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งมีข้อความดังนี้

 

สวัสดีทุกท่านครับ ผมมีความยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมสัมมนาในวันนี้ ทุกท่านให้ความสำคัญและติดตามสถานการณ์ระหว่างประเทศและการพัฒนาของประเทศไทย และความสัมพันธ์จีน-ไทยมาโดยตลอด ผมยินดีที่จะแบ่งปันทัศนะมุมมองของผมกับท่านทั้งหลายและหวังว่าจะได้รับรู้ความคิดเห็นเชิงลึกเพิ่มเติมจากท่านด้วย

 

หากท่านถามว่าปัญหาอะไรที่น่ากังวลที่สุดในโลกขณะนี้ ปัญหาที่กำลังทำให้เกิดความไม่สงบไปทั่วโลก ผมคิดว่าผู้คนร้อยละร้อยจะให้คำตอบเดียวกัน นั่นก็คือ การใช้มาตรการภาษีศุลกากรในทางที่ผิดของรัฐบาลทรัมป์แห่งสหรัฐอเมริกา

 

สิ่งที่ทุกคนอยากฟังอยากรู้จากผมมากที่สุดคือจีนคิดอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ และจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้?

 

นี่เป็นโอกาสที่ดีที่ผมอยากจะพูดคุยอย่างตรงไปตรงมากับท่านทั้งหลายในประเด็นนี้พอดี

 

สันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองเป็นเป้าหมายร่วมกันที่มนุษยชาติที่แสวงหามาตลอดประวัติศาสตร์อารยธรรมหลายพันปี ปีนี้ถือเป็นวาระครบรอบ 80 ปีของการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้ว่าสงครามและความขัดแย้งจะไม่เคยหายไปจากโลกใบนี้ในช่วง 80 ปีที่ผ่านมา แต่มนุษยชาติก็ไม่ได้ประสบกับสงครามโลกอีกเลย

 

ในแง่นี้เราทุกคนโชคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตสิ้นสุดลงในทศวรรษ 1990 กระบวนการก่อตั้งตลาดโลกแบบรวมเป็นหนึ่งเดียวกันก็เร่งตัวขึ้น และปัจจัยการผลิตก็ไหลเวียนไปทั่วโลกอย่างอิสระ ก่อให้เกิดคลื่นโลกาภิวัตน์และส่งเสริมให้เศรษฐกิจโลกพัฒนาอย่างรวดเร็วและ 30 ปีที่ผ่านมานี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นช่วงเวลาทองของการพัฒนาในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

 

การพัฒนาเศรษฐกิจมีกฎของมันเอง กล่าวคือ ‘ความไม่สมดุลของการพัฒนา’

 

ประการแรกคือความไม่สมดุลระหว่างประเทศ แม้ว่าการพัฒนาโดยรวมจะดี แต่ก็ยังมีบางประเทศที่พัฒนาเร็วกว่าและบางประเทศที่พัฒนาช้ากว่าอยู่เสมอ ประเทศที่พัฒนาแล้วได้รับผลประโยชน์จากโลกาภิวัตน์มากขึ้นโดยอาศัยเงินทุนและข้อได้เปรียบทางเทคโนโลยี และประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศซึ่งเป็นตัวแทนของเศรษฐกิจเกิดใหม่ก็ประสบความสำเร็จในการพัฒนาที่ดีขึ้นเช่นกันโดยมีส่วนร่วมเศรษฐกิจโลก

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศที่ได้รับประโยชน์จากโลกาภิวัตน์เพียงเล็กน้อย และบางประเทศยังเสี่ยงต่อการเป็นประเทศชายขอบอีกด้วย

 

ประการที่สอง คือความไม่สมดุลระหว่างกลุ่มต่างๆ ภายในประเทศ ลองยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกา ในคลื่นโลกาภิวัตน์ ทุนทางการเงินของอเมริกาและอุตสาหกรรมข้อมูลสมัยใหม่สร้างมูลค่ามหาศาล แต่ภาคการผลิตแบบดั้งเดิมจำนวนมากกลับหดตัวอย่างรุนแรงเนื่องจากเงินทุนไหลออก ส่งผลให้เกิดเขตอุตสาหกรรมถดถอยที่เรียกว่า ‘เขตขึ้นสนิม’ และความยากจนของชนชั้นแรงงานจำนวนมาก และความมั่งคั่งทางสังคมก็กระจุกตัวอยู่ในมือของคนเพียงไม่กี่คนเป็นอย่างมาก

 

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการทบทวนความคิดในระดับโลกเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ โดยทั่วไป ผู้คนคาดหวังที่จะแก้ไขทิศทางของโลกาภิวัตน์และช่วยให้สามารถพัฒนาต่อไปในลักษณะที่มีเสถียรภาพและมั่นคงตามหลักการของการเปิดกว้าง ความครอบคลุมและผลประโยชน์ร่วม

 

อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกา ซึ่งสนับสนุนการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนมาโดยตลอด ได้เปลี่ยนแปลงไปแบบ 180 องศา 

 

‘Make America Great Again (MAGA)’ คือสโลแกนหาเสียงของนายทรัมป์ ซึ่งสะท้อนความรู้สึกชาวอเมริกันเป็นอย่างมากคำกล่าวนี้ดูเหมือนจะดี เนื่องจากทุกประเทศมีสิทธิที่จะยิ่งใหญ่ แต่ปัญหามีอยู่ที่ประเทศเหล่านั้นกำลังพยายามบรรลุความยิ่งใหญ่ของตนเองโดยทำร้ายผลประโยชน์ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก เมื่อเกิดปัญหาในการพัฒนาประเทศ เรามักจะมองหาปัญหาของตนเองก่อน จากนั้นพยายามเปลี่ยนแปลงตนเองและปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมภายนอกให้ดีขึ้น การพัฒนาอย่างรวดเร็วของประเทศจีนเกิดขึ้นได้จากการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง

 

แต่เราพบว่า สหรัฐอเมริกาไม่ได้เป็นแบบนี้อย่างที่เราเข้าใจกัน แทนที่จะแก้ไขปัญหาของตัวเอง สหรัฐฯ กลับกล่าวโทษทั้งโลก โดยอ้างว่าโลกเอาเปรียบสหรัฐฯ และประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ปล้นเทคโนโลยีและทุนของสหรัฐฯ ไป รวมทั้งงานของประชาชนชาวอเมริกันไปด้วย

 

ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้โดยสิ้นเชิงและได้เปิดสงครามภาษีกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก สาระสำคัญของการละเมิดระบบภาษีนี้คืออะไร? มันคือการเก็บภาษีอย่างหนักกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกผ่านทางภาษีศุลกากร และใช้ภาษีศุลกากรเป็นอาวุธในการแบล็กเมลประเทศต่างๆ ทั่วโลก นักวิจารณ์ระหว่างประเทศบางรายชี้ให้เห็นว่า สหรัฐอเมริกาเองก็ป่วย แต่กลับให้ประเทศอื่นรับประทานยาด้วย ผมขอพูดว่า นี่เป็นรูปแบบการครอบงำทางเศรษฐกิจ และการกลั่นแกล้งที่เห็นแก่ตัวอย่างยิ่ง

 

การแบ่งงานกันทำระหว่างประเทศและการค้าเสรีเป็นรากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจโลก การค้าระหว่างประเทศนั้นขึ้นอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติและข้อได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของแต่ละประเทศ และความสมัครใจและผลประโยชน์ร่วมกันถือเป็นคุณลักษณะพื้นฐาน หากการเกินดุลการค้าสินค้าของต่างประเทศกับสหรัฐฯ เป็นการเอาเปรียบสหรัฐฯ และก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในด้านการค้าบริการ สหรัฐฯ จะมีดุลการค้ากับพันธมิตรการค้าโลกมูลค่า 295,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2024 ถือเป็นการทำลายหุ้นส่วนการค้าโลกหรือไม่ หุ้นส่วนการค้าโลกควรลงโทษสหรัฐฯ หรือไม่? สิ่งที่เรียกกันว่า ‘ภาษีศุลกากรตอบโต้’ ของสหรัฐฯ นั้นขัดกับหลักตรรกะทางเศรษฐกิจโดยทั่วไปอย่างสิ้นเชิง

 

สหรัฐอเมริกาคือผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากระบบการค้าเสรีโลก ผู้บริโภคชาวอเมริกันพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคคุณภาพสูงและราคาถูกจากทั่วโลก บริษัทข้ามชาติของอเมริกาถ่ายโอนกำลังการผลิตระดับล่างไปยังประเทศกำลังพัฒนาเพื่อสร้างกำไรสูง สหรัฐอเมริกาเน้นความพยายามในด้านการเงินเทคโนโลยีขั้นสูง และด้านอื่นๆ เพื่อสร้างข้อได้เปรียบในการผูกขาด

 

นาย Ngozi Okonjo-Iweala ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) เคยเขียนบทวิจารณ์ต่อสาธารณะว่า “สหรัฐอเมริกาคือผู้ชนะรายใหญ่ในด้านการค้า” สหรัฐอเมริกาเพิกเฉยต่อตรรกะและข้อเท็จจริงพื้นฐานเหล่านี้ และก่อสงครามภาษี ซึ่งส่งผลเสียต่อผู้อื่นแต่ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง

 

การที่สหรัฐฯ ก่อสงครามภาษีศุลกากรได้คุกคามระบบการค้าเสรีของโลกอย่างร้ายแรง ทำลายความสงบเรียบร้อยทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง และสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่ออำนาจอธิปไตย ความมั่นคง และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ซึ่งถูกต่อต้านอย่างหนักและถูกประณามอย่างรุนแรงจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก

 

นางอัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป แถลงต่อสาธารณะว่านโยบาย ‘ภาษีศุลกากรตอบโต้’ ของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก และส่งผลเสียต่อผลประโยชน์ของผู้บริโภคทั่วโลก นายกรัฐมนตรีคาร์นีย์ของแคนาดาเรียกเหตุการณ์นี้ว่าเป็น ‘โศกนาฏกรรมของการค้าโลก’ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย อันวาร์ เรียกร้องให้ประเทศอาเซียนอย่าประมาทเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีลอว์เรนซ์ หว่อง แห่งสิงคโปร์ เชื่อว่าการเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ จะผลักดันให้โลกเข้าสู่ยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยการใช้อำนาจตามอำเภอใจ กีดกันทางการค้า และอันตรายมากขึ้น

 

จีนเป็นเป้าหมายหลักของสงครามภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ โดยอัตราภาษีสูงถึงระดับที่น่าตกใจถึง 145% เมื่อเผชิญกับการจัดการแบบไร้ยางอายและการกลั่นแกล้งของสหรัฐฯ จีนตระหนักได้ว่าการประนีประนอมและการยอมจำนนจะไม่ทำให้เกิดการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน แต่จะทำให้ผู้รังแกก้าวร้าวมากขึ้นแทน จีนได้ใช้มาตรการตอบโต้ที่เด็ดขาดและเข้มแข็งต่อการกระทำที่ไม่สมเหตุสมผลของสหรัฐฯ ไม่เพียงแต่เป็นการปกป้องสิทธิและผลประโยชน์อันชอบธรรมของจีนเท่านั้น แต่ยังเป็นการปกป้องระบบการค้าเสรีของโลกและรักษาความยุติธรรมให้กับมวลมนุษยชาติด้วย

 

เป็นเวลามากกว่าหนึ่งเดือนแล้วนับตั้งแต่ทรัมป์ประกาศเมื่อวันที่ 2 เมษายนว่าเขาจะเรียกเก็บ ‘ภาษีศุลกากรตอบโต้’ อันไร้สาระจากทั่วโลก สหรัฐอเมริกายังคงติดอยู่กับปัญหาที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกซึ่งตนเองเป็นผู้สร้างขึ้น ขณะที่ต้องเผชิญกับการต่อต้านอย่างหนักจากกลุ่มเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงสหภาพยุโรป แคนาดา และญี่ปุ่น แถมมีการร้องเรียนเพิ่มมากขึ้นในสหรัฐอเมริกา

 

ในช่วงสี่เดือนแรกของปีนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อยู่ที่ติดลบ 0.4% และการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนแสดงให้เห็นว่าชาวอเมริกัน 70% เชื่อว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย นักเศรษฐศาสตร์กว่า 1,200 คนร่วมกันออก ‘ปฏิญาณต่อต้านภาษีศุลกากร’ ผู้ว่าการรัฐ 13 รัฐฟ้องร้องทรัมป์ต่อศาล โดยอ้างว่านโยบายภาษีศุลกากรของเขานั้นผิดกฎหมาย และคะแนนความนิยมของรัฐบาลทรัมป์ก็ลดลงเหลือ 36% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์

 

มีคำพูดโบราณของจีนกล่าวไว้ว่า “ยกหินขึ้นมาขว้างทับเท้าตัวเอง” การกำหนดภาษีศุลกากรในทางที่ผิดกำลังส่งผลเสียร้ายแรงต่อสหรัฐอเมริกาเอง

 

ระหว่างวันที่ 10-11 พฤษภาคม ตัวแทนของจีนและสหรัฐฯ ได้จัดการเจรจาด้านเศรษฐกิจและการค้าที่เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และได้บรรลุฉันทมติที่สำคัญ และออก ‘แถลงการณ์ร่วม’

 

ฉันทามติที่สำคัญที่สุดที่ทั้งสองฝ่ายบรรลุได้คือ ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม เป็นต้นไป สหรัฐฯ จะยกเลิกการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนสามรอบที่เรียกเก็บจากจีนตั้งแต่วันที่ 2 เมษายนปีนี้ โดยคงอัตราภาษีไว้ 10% และระงับการเรียกเก็บอัตราภาษีอีก 24% เป็นเวลา 90 วัน

 

ส่วนจีนจะปรับภาษีตอบโต้ต่อสหรัฐฯ เช่นกัน และทั้งสองฝ่ายจะจัดตั้งกลไกในการดำเนินการเจรจาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าต่อไป ถือเป็นความก้าวหน้าเชิงบวกที่เกิดขึ้นจากการปรึกษาหารือบนพื้นฐานของความเท่าเทียม ความร่วมมือ และความเคารพซึ่งกันและกัน และเป็นผลจากการต่อสู้

 

การกระทำครั้งนี้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของทั้งจีนและสหรัฐอเมริกา รวมถึงเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของโลกด้วย เราหวังว่าสหรัฐฯ จะทำงานร่วมกับจีนต่อไป แก้ไขปัญหาการขึ้นภาษีศุลกากรฝ่ายเดียวตามใจชอบ รักษาการพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯให้แข็งแกร่งและร่วมกันสร้างความแน่นอนและเสถียรภาพให้กับเศรษฐกิจโลกมากขึ้น

 

ในช่วงเริ่มต้นของสงครามการค้ารอบนี้ จีนประกาศชัดเจนว่าไม่มีผู้ชนะในสงครามการค้า หากสหรัฐฯต้องการพูดคุย ประตูของจีนเปิดอยู่เสมอ หากสหรัฐฯต้องการต่อสู้ เราพร้อมจะสู้จนถึงที่สุด เราจะทำงานร่วมกับประเทศอื่นๆ ในโลกต่อไปเพื่อรักษาความยุติธรรมและความเป็นธรรมในระดับโลก ปกป้องระบบการค้าเสรีของโลกและระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ต่อต้านลัทธิฝ่ายเดียวและอนุรักษนิยม และต่อต้านการใช้อำนาจบาตรใหญ่และการกลั่นแกล้งในทุกรูปแบบ

 

ในช่วง 3 ปีกว่าที่ผมทำงานในประเทศไทย ผมรู้สึกด้วยตัวเองว่าประเทศจีนและประเทศไทยเป็นเพื่อนบ้านที่ดีที่เชื่อมโยงกันด้วยภูเขาและแม่น้ำ เป็นญาติที่ดีที่มีสายสัมพันธ์ทางสายเลือด และเป็นหุ้นส่วนที่ดีที่มีชะตากรรมร่วมกัน เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รวมไปถึงความเสี่ยงและความท้าทายจากปัจจัยภายนอกต่างๆ

 

จีนและไทยควรสืบสานประเพณีอันดีของการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เสริมสร้างความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อกัน และตอบสนองต่อความท้าทายร่วมกัน ประเทศจีนยึดมั่นในการพัฒนาที่มีคุณภาพสูงและเปิดกว้าง และยินดีที่จะแบ่งปันโอกาสในการพัฒนาให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย จีนไม่เพียงแต่เป็นประเทศผู้ผลิตหลักเท่านั้น แต่ยังเป็นตลาดหลักด้วย โดยมีตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่เกือบ 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มีโอกาสการลงทุนและความร่วมมือทางการค้าระหว่างจีนและไทยมากมาย และมีแนวโน้มที่กว้างขวาง

 

ปีนี้ถือเป็นวาระครบรอบ 50 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและไทย ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นทางประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทยได้เดินทางไปเยือนประเทศจีนและได้บรรลุฉันทามติที่สำคัญกับผู้นำจีนเกี่ยวกับความร่วมมือทวิภาคีในด้านต่างๆ

 

ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนระดับสูงระหว่างจีนและไทยที่สำคัญยิ่งขึ้น จะเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญของความสัมพันธ์ฉันมิตรอันดีระหว่างจีนและไทย บนพื้นฐานการเยือนประเทศไทยอย่างประสบความสำเร็จของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงในปี 2022 และทั้งสองฝ่ายได้กำหนดเป้าหมายของการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน

 

จีนยินดีที่จะทำงานร่วมกับไทยเพื่ออนาคตที่ดีกว่าของทั้งสองประเทศ เพื่อให้ประชาชนของทั้งสองประเทศได้รับประโยชน์มากขึ้น และเพื่อเติมพลังบวกให้กับสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองของโลกและภูมิภาค ท่ามกลางสถานการณ์ระหว่างประเทศที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงและความวุ่นวาย

 

ถาม: การเจรจาด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนและสหรัฐเมื่อเร็วๆ นี้ประสบความคืบหน้าไปในทางบวก ประเทศไทยสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากเรื่องนี้ในการรับมือกับนโยบายภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ?

 

ตอบ: จีนและสหรัฐฯ บรรลุฉันทมติที่สำคัญในการเจรจาด้านเศรษฐกิจและการค้า ต่อไปนี้ทั้งสองฝ่ายจะยังคงแก้ไขความขัดแย้งระหว่างกันโดยการปรึกษาหารืออย่างเท่าเทียมกัน ผมขอเสนอให้เพื่อนๆ ชาวไทยให้ความสำคัญสามประเด็นต่อไปนี้

 

ประการแรก เมื่อเผชิญหน้ากับการกลั่นแกล้งเรื่องภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ จีนยืนหยัดอยู่แถวหน้าอย่างกล้าหาญและตอบโต้การกระทำของสหรัฐฯ อย่างเด็ดขาด

 

ประการที่สอง สหรัฐฯ ได้ปรับเปลี่ยนทัศนคติและแนวทางปฏิบัติ

 

ประการที่สามภาษีศุลกากรบางส่วนที่สหรัฐฯ กำหนดกับจีนหลังวันที่ 2 เมษายน

ยังคงอยู่ เมื่อรวมกับภาษีศุลกากรที่บังคับใช้ก่อนหน้านี้ ภาระภาษียังคงเป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลก

 

โดยสรุป นโยบายภาษีศุลกากรที่สูงของรัฐบาลสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับการโจมตีจากทุกด้านและไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ประเทศต่างๆ ทั่วโลกควรเสริมสร้างความเชื่อมั่นและต่อต้านอย่างเด็ดขาด ในที่สุดความยุติธรรมต้องชนะ

 

ถาม: เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะกดดันประเทศอื่นๆ ในการเจรจาภาษีศุลกากรและขอให้จำกัดการค้ากับจีนนั้น จีนระบุว่า จีนคัดค้านอย่างหนักแน่นต่อฝ่ายใดๆ ที่บรรลุข้อตกลงโดยเสียสละผลประโยชน์ของจีนหากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น จีนจะมีมาตรการรับมืออย่างไร?

 

ตอบ: จีนเชื่อว่าแต่ละประเทศมีเงื่อนไขของชาติที่แตกต่างกัน เมื่อเผชิญกับความท้าทายที่รุนแรงในปัจจุบัน เราต้องรักษาจุดยืนร่วมกันและมีผลประโยชน์ร่วมกันที่ต้องปกป้อง ในขณะเดียวกัน เรายังเข้าใจว่าประเทศต่างๆ ก็ได้ดำเนินมาตรการตอบสนองผลประโยชน์ของตนเองโดยพิจารณาจากเงื่อนไขที่แท้จริงของตนเองด้วย เนื่องจากเป็นประเทศหลัก จีนจึงมีความรับผิดชอบในการรักษาการพัฒนาเศรษฐกิจโลกให้แข็งแรงและมั่นคง

 

พูดตรงๆ ก็คือ หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการ ‘ภาษีศุลกากรตอบโต้’ รัฐบาลสหรัฐฯ ยังได้กำหนดช่วงเวลาพิจารณา 90 วันด้วย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งมาจาก มาตรการตอบโต้ที่เด็ดขาดของจีน

 

ผู้นำจีนเคยบอกผู้นำไทยว่าจีนยินดีที่จะเป็นหุ้นส่วนที่เชื่อถือได้และไว้ใจได้ของไทยอยู่เสมอ เราพูดอย่างนี้และเราทำอย่างนี้ นี่คือสิ่งที่จีนทำระหว่างวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชียเมื่อปี 1997 และจะทำแบบเดียวกันเพื่อตอบสนองต่อนโยบายภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ในปี 2025 จีนยืนหยัดอย่างกล้าหาญอยู่แนวหน้าในการต่อต้านการกลั่นแกล้งทางภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ไม่เพียงเพื่อผลประโยชน์ของตนเองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผลประโยชน์ของส่วนอื่นๆ ของโลกด้วย

 

เรายังเชื่อว่าเพื่อนของเราจะไม่แทงเราจากด้านหลัง เราเชื่อมั่นว่ารัฐบาลไทยมีเจตนารมณ์อันแน่วแน่และภูมิปัญญาเพียงพอที่จะรับมือกับปัญหาซับซ้อนที่เกี่ยวข้องได้อย่างเหมาะสม

 

ถาม: โปรดแนะนำผลเชิงบวกที่เกิดจากความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างจีนและไทยซึ่งนำมาสู่ประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้ไหมครับ?

 

ตอบ: ความร่วมมือเชิงปฏิบัติระหว่างจีนและไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาและรักษาโมเมนตัมการพัฒนาที่ดีไว้ได้ ทั้งนี้เกิดจากนโยบายที่มีประสิทธิผลของทั้งสองรัฐบาล และไม่อาจแยกจากการมีส่วนร่วมเชิงบวกของสังคมทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจ ความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศนั้นมีหลายมิติ และผลลัพธ์ของความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียวมีความโดดเด่นเป็นพิเศษ

 

ประเทศไทยเป็นประเทศอาเซียนประเทศแรกที่นำเทคโนโลยี 5G มาใช้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งได้ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนในประเทศไทยมีความก้าวหน้าในเชิงบวกในด้านต่างๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ บริษัทจีน เช่น HUAWEI ได้มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันและมีส่วนสนับสนุนอย่างสำคัญในเรื่องนี้

 

ในแง่ของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสีเขียว ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าจีนได้มาลงทุนและเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญในประเทศไทยแล้วและกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อสร้างความสัมพันธ์ความร่วมมือที่ดีกับซัพพลายเออร์ชิ้นส่วน บริษัทผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ของจีนกำลังลงทุนอย่างแข็งขันในประเทศไทยเพื่อช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานใหม่ของไทย

 

นอกจากนี้ จีนยังมีความก้าวหน้าเชิงบวกในสาขาปฏิกิริยาฟิวชันนิวเคลียร์แบบควบคุมอีกด้วย ตามคำร้องขอของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จีนได้มอบอุปกรณ์วิจัยทางวิทยาศาสตร์ฟิวชันนิวเคลียร์แบบควบคุม ‘โทคาแมก’ ให้แก่ไทย ทำให้ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้เป็นเจ้าของอุปกรณ์วิจัยทางวิทยาศาสตร์นี้

 

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย เยือนจีนอย่างเป็นทางการ และทั้งสองฝ่ายได้ลงนามเอกสารความร่วมมือหลายฉบับครอบคลุมถึงเศรษฐกิจดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ การพัฒนาสีเขียว และสาขาอื่นๆ

 

ในปี 2024 ประเทศจีนได้มีกำลังผลิตพลังงานหมุนเวียนใหม่ที่เป็นครึ่งหนึ่งของโลก และครึ่งหนึ่งของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมใหม่ของโลกได้อยู่ที่ประเทศจีน ความร่วมมือระหว่างจีนและไทยในอุตสาหกรรมเชิงกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นอนาคตยังมีโอกาสอีกมาก ความร่วมมือครั้งนี้ซึ่งเป็นกำลังหลักความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างจีนและไทย จะส่งเสริมการพัฒนาของไทยได้อย่างมีประสิทธิผลและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนชาวไทยเป็นอย่างมาก

 

ในช่วงอันใกล้นี้ มีรายงานเชิงลบเกี่ยวกับทุนและสินค้าจีนเป็นจำนวนไม่น้อย ผมเชื่อว่าสำหรับปัญหาที่มีอยู่ การกำกับดูแลควรได้รับการเสริมสร้างให้เข้มแข็งตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ ในขณะเดียวกันเราควรตระหนักว่า ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่กระแสหลักของความร่วมมือระหว่างจีนและไทย ความร่วมมือระหว่างจีนและไทยมีความเข้มแข็งและเกิดประโยชน์ร่วมกัน เราควรเสริมสร้างความเชื่อมั่นของเรา ขยายความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างสองประเทศอย่างต่อเนื่อง และรักษาสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างสองประเทศอย่างมีสติ

 

ถาม: หากการเจรจาด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่เจนีวาไม่สามารถบรรลุฉันทามติตามที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จีนจะทำอย่างไร

 

ตอบ: ท่านได้ตั้งคำถามเชิงสมมติฐานแต่ก็เป็นคำถามเชิงปฏิบัติเช่นกัน จีนเชื่อเสมอมาว่าไม่มีผู้ชนะในสงครามภาษีและสงครามการค้า หากสหรัฐฯ ริเริ่มสงครามการค้า ประเทศต่างๆ ทั้งหมดจะได้รับผลกระทบ รวมถึงสหรัฐฯ เองด้วย ในความเป็นจริงความเจ็บปวดที่ต้องทนทุกข์ของสหรัฐฯ อาจยิ่งใหญ่มากขึ้นตามกาลเวลาที่ผ่านไป

 

เราเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าสงครามการค้าที่ริเริ่มโดยสหรัฐฯ จะอยู่ไม่ได้นาน ดังนั้น หากสามารถบรรลุ ‘การลงจอดอย่างนุ่มนวล’หรือ Soft-Landing) ผ่านการเจรจาได้ ก็จะถือเป็นผลลัพธ์ที่ดี หากไม่สามารถ “ลงจอดอย่างนุ่มนวล” ได้ ก็คงไม่ถือเป็นเรื่องใหญ่อะไร เราจะต้องทนทุกข์ทรมานกับช่วงเวลาแห่งความเจ็บปวดที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ผลกระทบตอบโต้จากสงครามการค้าที่ริเริ่มโดยสหรัฐฯ จะสร้างอันตรายให้กับสหรัฐฯ มากขึ้น 

 

ผมเป็นคนมองโลกในแง่ดีและเชื่อว่าโลกยังคงหมุนไปข้างหน้าเสมอ และสิ่งผิดพลาดใดๆก็ตามจะไม่คงอยู่ยาวนาน แน่นอนว่าเราต้องสามัคคีกันมากขึ้น ช่วยเหลือกันและกัน และเอาชนะความยากลำบากไปด้วยกัน ประเทศจีนกำลังดำเนินการขยายตลาดเปิดกว้างไปยังประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งประเทศไทย และให้ความสะดวกสบายมากขึ้นสำหรับสินค้าจากประเทศต่างๆ เพื่อเข้าสู่ตลาดจีน นี่เป็นการดำเนินการโดยคำนึงถึงสถานการณ์ปัจจุบัน

 

ในไตรมาสแรกของปีนี้ ปริมาณการค้าทวิภาคีระหว่างจีนและไทยอยู่ที่ 37,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยการส่งออกของจีนไปไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 และการนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ตัวเลขนี้มีความหมายมากและสามารถอธิบายปัญหาต่างๆ ได้มากมาย

 

ถาม: ประเทศสมาชิกอาเซียนยังได้รับผลกระทบเชิงลบต่อกันเนื่องจากการใช้นโยบายรับมือกับภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้?

 

ตอบ: ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มักถูกเรียกเก็บ ‘ภาษีศุลกากรตอบโต้’ ในอัตราสูงจากสหรัฐอเมริกา และแต่ละประเทศก็มีสถานการณ์ของตนเอง ในขณะที่ประเทศต่างๆ กำลังนำมาตรการตอบโต้ต่อนโยบายภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ตามสถานการณ์ของตนเอง

 

ประเทศต่างๆ ควรเสริมสร้างการสื่อสารและการประสานงานระหว่างกัน เราได้ทราบแล้วว่าก่อนหน้านี้อาเซียนเคยจัดการประชุมฉุกเฉินของรัฐมนตรีเศรษฐกิจและได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันแล้ว ในอนาคตอาเซียนยังอาจมีการประชุมระดับรัฐมนตรีหรือระดับผู้นำอีกด้วย

 

เราเชื่อว่าอาเซียนจะเสริมสร้างการสื่อสารและการประสานงานภายในอีก ผมเชื่อว่าในช่วงเวลาพิเศษนี้ อาเซียนในฐานะองค์กรที่ประกอบด้วยเศรษฐกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 10 ประเทศในภูมิภาค สามารถสร้างเวทีสำหรับการสื่อสารและการประสานงานระหว่างประเทศสมาชิก และเป็นกำแพงป้องกันประเทศสมาชิกจากคลื่นลมและฝนได้ ชาวตะวันออกทุกคนเชื่อว่าความแข็งแกร่งร่วมกันเป็นสิ่งที่ทรงพลัง เมื่อเกิดพายุ เราต้องสามัคคีกันเพื่อความอยู่รอด

 

ถาม: จีนจะขยายตลาดให้กับสินค้าส่งออกของประเทศขนาดเล็กและขนาดกลางเช่นไทย เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสงครามการค้าหรือไม่?

 

ตอบ: นี่เป็นนโยบายและการกระทำที่จีนกำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน จีนเน้นย้ำเสมอมาถึงความเต็มใจที่จะแบ่งปันโอกาสการพัฒนาของจีนให้กับประเทศอื่นๆ และปรับปรุงระบบเศรษฐกิจที่เปิดสู่ภายนอกระดับสูงอย่างจริงจัง

 

ระดับภาษีศุลกากรของจีนถือเป็นระดับต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และใกล้เคียงกับระดับภาษีศุลกากรเฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้ว งานมหกรรมสินค้านำเข้านานาชาติจีน หรือ China International Import Expo ได้กลายเป็นเวทีสำคัญสำหรับผลิตภัณฑ์จากทั่วโลกที่จะเข้าสู่ตลาดจีน และจัดขึ้นที่เซี่ยงไฮ้ทุกปี มณฑลไหหลำของจีนจะสร้างเกาะทั้งเกาะให้เป็นเกาะการค้าเสรีภายในปีนี้ คาดว่าจะมีการลงนามข้อตกลงการค้าเสรีจีน-อาเซียน 3.0 ภายในปีนี้

 

ประเทศจีนมีคนรายได้ปานกลาง 500 ล้านคน และตลาดผู้บริโภคมีมูลค่าเกือบ 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เรายินดีต้อนรับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงจากประเทศเพื่อนบ้านรวมทั้งประเทศไทยเข้าสู่ตลาดจีนมากขึ้น

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising