วันนี้ (17 พฤษภาคม) คารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลมีความห่วงใยสุขภาพของเด็กนักเรียน โดยเฉพาะในช่วงใกล้เปิดภาคเรียนใหม่ ซึ่งมักตรงกับช่วงเริ่มต้นฤดูฝน ทำให้สภาพอากาศมีความชื้นสูง เอื้อต่อการเจริญเติบโตและแพร่กระจายของเชื้อโรค จึงขอแนะนำให้ผู้ปกครองเตรียมความพร้อมและดูแลสุขภาพบุตรหลานเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มักมีความเสี่ยงสูงต่อโรคระบาดที่มาพร้อมกับฤดูฝน ทั้งโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โรคติดต่อผ่านการสัมผัส และกลุ่มโรคที่มียุงเป็นพาหะ
คารม พลพรกลาง กล่าวว่า โรคที่พบได้บ่อยในช่วงนี้ ได้แก่
- โรคมือ เท้า ปาก: มักพบในเด็กเล็กวัยก่อนเข้าเรียนหรือต่ำกว่า 5 ปี ติดต่อผ่านการสัมผัสโดยตรง อาการเด่นคือมีไข้สูง มีแผลในปาก และมีผื่นที่มือและเท้า หากติดเชื้อสายพันธุ์รุนแรงอาจมีภาวะแทรกซ้อนทางสมอง กล้ามเนื้อ และหัวใจ
- โรคไข้หวัดใหญ่: มีความรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา เด็กจะมีไข้สูง ปวดเมื่อยตัว อ่อนเพลีย อาจมีอาการไอ น้ำมูก อาเจียน หรือท้องเสียร่วมด้วย หากไม่ได้รับการรักษา อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดบวมและสมองอักเสบ
- โรคปอดบวม: เป็นการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างที่อาจพัฒนามาจากไข้หวัดธรรมดา เด็กจะมีอาการไอและมีเสมหะมาก หายใจเร็วหรือหอบเหนื่อย เสียงหายใจผิดปกติ บางรายอาจมีริมฝีปากเขียวคล้ำ ซึ่งเป็นสัญญาณอาการรุนแรง
- โรคตาแดงจากไวรัส: แพร่กระจายได้ง่าย เด็กจะมีอาการตาแดง เคืองตา น้ำตาไหล และมีขี้ตามาก
- โรคไข้เลือดออก: มียุงลายเป็นพาหะ ระยะแรกเด็กจะมีไข้สูง ปวดเมื่อย มีจุดเลือดออกสีแดงตามร่างกาย ระยะที่ต้องระวังคือช่วงไข้ลด เพราะบางรายอาจเกิดภาวะช็อก และมีอาการเลือดออก เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน อาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด
คารม กล่าวว่า รัฐบาลห่วงใยสุขภาพเด็ก แนะผู้ปกครองควรเสริมภูมิคุ้มกันให้บุตรหลานเพื่อป้องกันโรคระบาด โดยให้เด็กกินอาหารครบ 5 หมู่ รวมถึงผักผลไม้ที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน และควรนอนหลับอย่างน้อย 8-10 ชั่วโมงต่อวัน นอกจากนี้ ควรฉีดวัคซีน เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก และมือเท้าปาก โดยเฉพาะช่วงเปิดเทอมนี้เวลาไปโรงเรียนหรือสถานที่ที่มีคนเยอะ
แนะนำให้บุตรหลานรักษาความสะอาด ใช้ช้อนกลาง ฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์หรือล้างมือบ่อย ๆ และสวมใส่หน้ากากอนามัย ถ้าหากพบอาการเจ็บป่วยหรืออาการผิดปกติที่น่าเป็นห่วงจะได้พาไปพบแพทย์ทันที เพื่อให้ลูกหลานของเราปลอดภัยมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน
รองโฆษกฯ ย้ำว่า ผู้ปกครองจึงควรสังเกตอาการของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หากพบอาการผิดปกติหรืออาการที่เข้าข่ายโรคเหล่านี้ ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที