หลังจากจีนกับสหรัฐฯ ได้บรรลุข้อตกลงที่จะลดภาษีนำเข้าสินค้ากันชั่วคราวเป็นเวลา 90 วัน ในศึกสงครามภาษี (Tariff War)โดยทางการจีนจะลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เหลือ 10% จากเดิม 125% ส่วนสหรัฐฯ จะลดภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเหลือ 30% จากเดิม 145%
สัญญาณดังกล่าวส่งผลให้ยอดจองตู้คอนเทนเนอร์ส่งสินค้าจากจีนไปยังสหรัฐฯ พุ่งเกือบ 300% ในสัปดาห์เดียว สะท้อนให้เห็นว่าภาคการขนส่งฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มกลับมาส่งสินค้าเร็วกว่าปกติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- จาก 145% สู่ 80%? ทรัมป์โยนหินถามทางลดภาษีจีน ก่อนเจรจาที่เจนีวา หวังลดระดับความตึงเครียดก่อนบานปลาย
- สหรัฐฯ-จีน เจรจาการค้าที่สวิตเซอร์แลนด์ ทรัมป์ชี้ ปรับสัมพันธ์การค้า เริ่มต้นใหม่ทั้งหมด
- ‘ไทย’ เซฟโซน? เปิดตัวเลขคำขอส่งเสริมลงทุน 8 อุตสาหกรรม ต่างชาติหนี Trade War มาลงทุนไทยมากแค่ไหน
Ben Tracy รองประธานบริษัท Vizion ผู้ให้บริการติดตามตู้คอนเทนเนอร์ ระบุว่า ยอดจองตู้คอนเทนเนอร์จากจีนไปยังสหรัฐฯ รายสัปดาห์อยู่ที่ 21,530 TEU เพิ่มขึ้นจากจำนวน 5,709 TEU ในสัปดาห์ก่อนหน้า หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 277% โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นหลังสองประเทศมหาอำนาจเศรษฐกิจประกาศชะลอการเก็บภาษีเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา
ฝั่งนักวิเคราะห์จาก Freightos หรือแพลตฟอร์มจองขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ กล่าวต่อไปว่า การชะลอภาษีอาจกระตุ้นให้ผู้ส่งสินค้าเร่งขนส่งก่อนถึงวันสิ้นสุดของการชะลอภาษีในเดือนสิงหาคม ส่งผลให้ช่วงพีคของฤดูของการส่งสินค้าของปีนี้เริ่มเร็วขึ้นและอาจสิ้นสุดเร็วกว่าปกติ
ด้าน บริษัท Maersk ผู้นำด้านขนส่งทางเรือ ย้ำว่า สายเรือยักษ์ใหญ่จะได้รับอานิสงส์เต็มๆ เห็นได้จากแนวโน้มการจองบริการขนส่งข้ามแปซิฟิกเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับ Hapag-Lloyd จากเยอรมนีที่รายงานว่ายอดจองจากจีนไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 50% ภายในสัปดาห์เดียว
แต่แม้ความต้องการขนส่งจะพุ่งสูง อัตราค่าระวางเรือที่เดินทางไปฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ กลับยังทรงตัวอยู่ที่ระดับ 2,300 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อราคาตู้ขนาด 40 ฟุต (FEU) และอัตราค่าระวางเรือที่เดินทางไปฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ อยู่ที่ 3,400 ดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุหลักมาจากสายเรือลดกำลังการขนส่งลงประมาณ 22% ผ่านการยกเลิกเที่ยวเรือและใช้เรือขนาดเล็กลง
ทั้งนี้ Freightos ประเมินว่า แม้อัตราค่าระวางจะขยับขึ้นในช่วงฤดูการส่งของปีนี้ แต่จะไม่สูงเท่าปี 2024 ที่เคยแตะ 8,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อราคาตู้ขนาด 40 ฟุตแน่นอน เพราะปัจจัยหลักคืออุปทานเรือที่เพิ่มขึ้นและการแข่งขันในตลาดที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
สุดท้ายแล้ว แม้ภาพรวมการขนส่งสินค้าจะดูสดใสขึ้น แต่ภาคอุตสาหกรรมยังเตือนว่าการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วอาจนำไปสู่ปัญหาท่าเรือแออัด ความล่าช้าและการขาดแคลนพื้นที่ขนส่งทั้งในฝั่งจีนและสหรัฐฯโดยเฉพาะในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าเป็นต้นไป
ภาพ: Mike Mareen / Shutterstock
อ้างอิง: