×

อาวุธจีนในสมรภูมิโลก อนาคตอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และโจทย์ภูมิรัฐศาสตร์

15.05.2025
  • LOADING...
china-military-weapons-global-strategy

แม้ว่าเราจะยังไม่ทราบแน่ชัดว่าปากีสถานและอินเดียเสียอากาศยานของตนในสงครามทางอากาศระหว่าง Operation Sindoor ของอินเดียมากน้อยเท่าใด เพราะส่วนใหญ่แล้วยังเป็นแค่คำกล่าวอ้าง ซึ่งแต่ละฝ่ายอ้างว่าสามารถทำลายอากาศยานของอีกฝ่ายได้ แต่ยังมีภาพและหลักฐานไม่เพียงพอที่จะระบุได้ว่าอากาศยานถูกทำลายตามที่อ้างไว้ทั้งหมด

 

แต่สิ่งที่มีหลักฐานชัดเจนก็คือ เครื่องบินขับไล่ชั้นนำของโลกอย่าง Rafale ของอินเดียถูกยิงตกอย่างน้อย 1 ลำ เพราะเห็นซากเครื่องบินพร้อมเลขประจำตัวเครื่องชัดเจน และถ้าตามคำกล่าวอ้างของปากีสถานก็คือ ผู้ที่ยิงทำลาย Rafale ก็คือ J-10CE ของปากีสถานโดยใช้จรวด PL-15E นั่นเอง

 

สาเหตุที่การถูกทำลายของ Rafale ของอินเดีย ได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกนั้นก็เพราะว่า Rafale ถือเป็นเครื่องบินยุค 4.5 ที่ดีที่สุดเท่าที่มีในตลาด อย่างน้อยก็ตามสเปกหน้ากระดาษ วัดจากการที่หลายประเทศที่ถ้าไม่สามารถจัดหา F-35 มาประจำการได้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร ก็จะเลือกมาจัดหา Rafale ทดแทน เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรืออินโดนีเซีย เพราะถือว่า Rafale มีประสิทธิภาพใกล้เคียงเครื่องบินยุคที่ 5 อย่าง F-35 มากที่สุด แต่กลายเป็นว่าวันนี้ Rafale ถูกทำลายโดยเครื่องบินขับไล่ J-10CE ของจีนที่ยังไม่เคยออกสงครามจริงมาก่อน จึงทำให้หลายฝ่ายให้ความสนใจค่อนข้างมาก

 

เพราะในครั้งนี้ คือปฏิบัติการจริงครั้งแรกของ J-10 ทุกรุ่นแม้แต่ของจีนเองก็ตาม และการทำลาย Rafale ก็คือการยิงเครื่องบินขับไล่ของฝ่ายตรงข้ามตกได้เป็นเครื่องแรก ในขณะที่ Rafale ก็ถือว่าสูญเสียในการปฏิบัติการจริงครั้งแรกเช่นกัน

 

แม้ว่าเมื่อพิจารณาโดยถี่ถ้วนแล้ว การรบที่มีอากาศยานกว่า 100 ลำเข้าร่วม ซึ่งก็น่าจะเป็น J-10 ไม่ต่ำกว่า 10 ลำ แล้ว Rafale ถูกยิงตกได้เพียงลำเดียว จากเครื่องบินและจรวดหลายสิบนัดที่เข้าร่วมปฏิบัติการ อาจถือได้ว่าอัตราส่วนการทำลายต่ำมาก เพราะหมายถึงการต้องยิงจรวดเป็นสิบๆ ลูกกว่าจะทำลายอากาศยานได้แค่ 1 ลำ ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของจรวดชั้นนำของโลกเป็นอย่างมาก และยังมีปัจจัยอีกอื่นพอสมควรเช่นการที่อินเดียเป็นฝ่ายรุก ปากีสถานเป็นฝ่ายรับ ซึ่งมีความได้เปรียบเสียเปรียบต่างกัน รวมถึงปัจจัยด้านการฝึก ความเชี่ยวชาญทางยุทธวิธี และการวางแผนการปฏิบัติการของทั้งอินเดียและปากีสถานนั้นส่งผลต่อผลของปฏิบัติการมากกว่าประสิทธิภาพเครื่องบินเสียอีก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่ J-10CE ของจีนที่ใช้งานโดยปากีสถานสามารถทำลาย Rafale ของฝรั่งเศสที่ใช้งานโดยอินเดียได้ถือว่าส่งผลทางจิตวิทยามากพอสมควร

 

ประการแรกคืออาวุธของจีนมักจะถูกมองว่ามีราคาถูก ใช้ปริมาณมากกว่าคุณภาพ และส่วนใหญ่แล้วอาวุธของจีนแทบไม่เคยออกสนามรบจริง ต่างจากอาวุธของตะวันตกหรือรัสเซียที่มีการใช้งานจริงมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นทุกอย่างอยู่บนพื้นฐานของการวิจัยและคาดการณ์ของผู้ผลิตอย่างจีนทั้งสิ้น แต่ในเมื่อมีเหตุการณ์ที่อาวุธของจีนได้พิสูจน์ตัวเองในสถานการณ์จริง ก็ทำให้สามารถลบภาพอาวุธที่มีดีแค่ในโบรชัวร์ออกไปได้

 

ประการต่อมาก็คืออาวุธของจีนหลายแบบที่เข้าร่วมปฏิบัติการนี้เกิดจากการวิจัยและพัฒนาของจีนเอง ไม่ได้เป็นการลอกเลียนแบบเอาให้เหมือนต้นฉบับที่สุดเหมือนในอดีต ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจีนก้าวขึ้นมาจากการก๊อปปี้เพื่อผลิตใช้ มาเป็นการใช้เทคโนโลยีและประสบการณ์ที่ตนเองเคยได้จากการก๊อปปี้มาใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นของจีนเองได้ ซึ่งหมายถึงสิ่งที่จีนขายให้ปากีสถานอย่าง J-10CE และ PL-15E นั้นเป็นเทคโนโลยีที่พูดได้ว่าเกิดขึ้นจากมันสมองของจีนล้วนๆ

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ทำให้โลกหันมามองอาวุธของจีนในมุมที่แม้ว่าอาวุธจีนจะเหนือกว่าของประเทศอื่นหรือไม่ยังต้องพิสูจน์ต่อไป แต่ที่แน่ๆ คืออย่างน้อยอาวุธของจีนขึ้นมาเทียบเท่าผู้ผลิตอาวุธชั้นนำของโลกแล้ว

 

สิ่งนี้จะสร้างผลกระทบต่อทั้งตลาดอาวุธของโลกและภูมิรัฐศาสตร์ของโลกแน่นอน อย่างแรกก็คืออาวุธของจีนอาจจะกินส่วนแบ่งทางการตลาดได้มากขึ้น เพราะจีนสามารถบอกได้ว่าอาวุธหลายอย่างของตนเองนั้นได้รับการพิสูจน์ประสิทธิภาพแล้วในสนามรบหรือ Combat Proven ไม่ต้องขายตามสเปกในโบรชัวร์อีกต่อไป เมื่อบวกกับราคาที่ถูกกว่า และการลงทุนอุดหนุนจากรัฐบาลอย่างเต็มที่ น่าจะทำให้จีนมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของโลกได้อีกมาก

 

ส่วนในแง่ภูมิรัฐศาสตร์นั้น ประเทศที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามของจีนอาจจะต้องคิดมากขึ้น โดยเฉพาะถ้าจะต้องทำสงครามกับจีน ซึ่งก็คงหนีไม่พ้นสหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกซึ่งอาจต้องจริงจังมากขึ้นในการพัฒนาเทคโนโลยีทางทหารของตนเพื่อคงความเหนือกว่าหรือแม้แต่ป้องกันไม่ให้จีนไล่ตามทัน ซึ่งต้องพยายามมากขึ้นเป็นสองเท่า เพราะอาวุธจีนได้รับการพิสูจน์ในสนามรบแล้วว่าทำงานได้จริงตามที่โฆษณา

 

นอกจากมหาอำนาจแล้ว ประเทศเพื่อนบ้านของจีนก็อาจจะต้องตื่นตัวมากกว่าเดิมด้วยเช่นกัน เช่นไต้หวันอาจจะต้องเป็นประเทศที่ต้องกลับมาพิจารณาการเสริมสร้างอาวุธของตนมากเป็นพิเศษ เพราะในกรณีของปากีสถานนั้น ปากีสถานใช้เพียงเครื่อง J-10CE พร้อมจรวด PL-15E ซึ่งล้วนเป็นรุ่นส่งออกที่ลดประสิทธิภาพบางอย่าง แต่ไต้หวันต้องรับมือกับรุ่นที่มีขีดความสามารถตามปกติ และต้องรับมือกับอากาศยานรุ่นอื่นอย่าง J-20 ที่เป็นเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 5 อีกด้วย ในขณะที่โครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ F-16V จำนวน 66 ลำดำเนินการไปค่อนข้างช้า และเพิ่งได้รับมอบเครื่องบินลำแรกในเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้เท่านั้น

 

โดยรวมแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในสงครามปากีสถานและอินเดียทำให้ช่องว่างระหว่างกองทัพจีนและไต้หวันที่เคยกว้างอยู่แล้วนั้นกว้างขึ้นไปอีก ดังนั้นไต้หวันอาจต้องพิจารณาดำเนินการเพิ่มเติม เช่น การพยายามจัดหาเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่กว่า F-16V เช่น F-15EX หรือแม้แต่เครื่องบินขับไล่ F-35 ซึ่งสหรัฐอเมริกาเคยปฏิเสธไม่ขายมาแล้ว รวมถึงอาจต้องพิจารณาจัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศและระบบอาวุธที่ใช้งานกับอากาศยานเพิ่มเติม เพื่อลดช่องว่างดังกล่าวให้มากที่สุด

 

ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคหลักของไต้หวันก็คือ ปัจจุบันมีเพียงสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่ยินดีขายอาวุธให้ เพราะประเทศอื่นๆ ล้วนเกรงว่าการขายอาวุธให้ไต้หวันอาจทำให้จีนไม่พอใจจนนำมาสู่การตอบโต้ทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไต้หวันต้องพยายามหาทางออกให้ได้

 

อีกประเทศคือฟิลิปปินส์ซึ่งมีความขัดแย้งกับจีนในทะเลจีนใต้ และช่องว่างของขีดความสามารถของฟิลิปปินส์และจีนนั้นกว้างกว่าไต้หวันและจีนมากกว่ามาก เช่นเครื่องบินขับไล่ที่ดีที่สุดของฟิลิปปินส์นั้นมีแค่ 11 ลำ ซึ่งเป็นเครื่องบินขับไล่เบาที่พัฒนาจากเครื่องบินฝึกอย่าง FA-50PH หรือเรือฟริเกตที่มีขีดความสามารถสูงที่มีเพียงสองลำเท่านั้น ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยกว่ากองกำลังรักษามณฑลๆ หนึ่งของจีนเสียอีก ทำให้ฟิลิปปินส์เสียเปรียบทั้งจำนวน เทคโนโลยี และความเชี่ยวชาญถ้าต้องเผชิญหน้ากับจีนในทะเลจีนใต้จริงๆ

 

ฟิลิปปินส์จึงอาจจะต้องลงทุนในการพัฒนากองทัพให้มากขึ้น ไม่ใช่เพื่อความเหนือกว่า แต่เพื่อปิดช่องว่างให้แคบที่สุด และเน้นไปที่การป้องกันตนเองหรือป้องกันพื้นที่หนึ่งๆ ให้ได้ ซึ่งจะเป็นโจทย์ที่ง่ายกว่าการพยายามเอาชนะจีนให้ได้ในทะเลจีนใต้ทั้งหมด แต่แค่โจทย์นี้ก็ต้องมาพร้อมกับการลงทุนจัดหาเครื่องบินขับไล่เพิ่มเติม รวมถึงเรือฟริเกตที่มีขีดความสามารถสูงเพิ่มเติมเช่นกัน

 

ทั้งหมดนี้อาจกล่าวได้ว่า จรวด PL-15E ที่ J-10CE ของปากีสถานยิงออกไปทำลาย Rafale ของอินเดียนั้นไม่ได้ส่งผลเฉพาะการรบในแคชเมียร์เท่านั้น แต่ส่งผลต่อเนื่องไปค่อนข้างมาก และเป็นเหมือนคลื่นที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ทำให้หลายฝ่ายที่แม้จะจริงจังในการรับมือกับการขยายตัวของจีนอยู่แล้ว อาจต้องจริงจังมากกว่าเดิมเป็นสองเท่า เพราะจีนกลายมาเป็นผู้เล่นชั้นนำที่มีทั้งเทคโนโลยีทางทหาร อำนาจทางเศรษฐกิจ และอิทธิพลทางการเมืองของโลกอย่างแท้จริง

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising