วันนี้ (8 พฤษภาคม) ตั้งแต่เวลา 09.30 น. ที่อาคารรัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมี พริษฐ์ วัชรสินธุ เป็นประธานการประชุม ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว โดยเนื้อหาสำคัญเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการใช้จ่ายและการจัดสรรงบประมาณโครงการในอาคารรัฐสภา 15 โครงการ มูลค่ารวม 2,773 ล้านบาท
ในวันนี้มีการพิจารณา 5 โครงการที่ใช้งบสูงสุด คือ โครงการการก่อสร้างอาคารจอดรถรัฐสภา (เพิ่มเติม), โครงการพัฒนาระบบภาพยนตร์ 4D ห้องบรรยายใหญ่ ชั้น B1- B2, โครงการปรับปรุงศาลาแก้ว 2 หลัง งบประมาณ, โครงการปรับปรุงห้องประชุม CB406 และโครงการตกแต่งฉากหลังบัลลังก์ประธานสภาในห้องประชุมสุริยัน
พริษฐ์กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ต่อเนื่องจากการประชุมครั้งที่แล้ว จำเป็นต้องเชิญตัวแทนแต่ละสำนักที่เป็นเจ้าของโครงการทั้ง 15 โครงการมาชี้แจงเพิ่มเติม ซึ่งการพิจารณางบประมาณไม่ได้ดูเรื่องความชอบด้วยกฎหมาย แต่ต้องดูเรื่องความสมเหตุสมผลและตรวจสอบพิจารณา เพราะเป็นคำถามที่คณะกรรมาธิการและประชาชนสงสัย ว่าการพิจารณางบประมาณควรจะมีความสมเหตุสมผลสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน
โดยเฉพาะขนาดนี้เศรษฐกิจไทยย่ำแย่มาก เชื่อว่า สส. สัมผัสเรื่องนี้ได้จากการลงพื้นที่พบประชาชน ทั้งเรื่อง SMEs ล่มสลาย ค่าแรงขั้นต่ำไม่ขึ้น รวมถึงเรื่องกำแพงภาษี ดังนั้นควรจะประหยัดงบประมาณ และอยากให้ตระหนักว่าภาพลักษณ์ที่ดีของรัฐสภาไม่ได้มาจากอาคารและความสวยหรูของรัฐสภา แต่มาจากการพิจารณากฎหมาย การตรวจสอบรัฐบาลความโปร่งใสในการดำเนินงานของสภาฯ และการใช้ภาษีอย่างคุ้มค่า ประชาชนสามารถฝากความหวังไว้กับสภาผู้แทนราษฎรให้สมกับที่เป็นสถาบันที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
หากรัฐสภาไม่สามารถตรวจสอบงบประมาณของตนเองได้ ก็จะขาดความชอบธรรมในการตรวจสอบหน่วยงานอื่น และเสื่อมความไว้วางใจจากประชาชน พริษฐ์จึงตั้งคำถามว่า ในบรรดา 15 โครงการ มีโครงการใดไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่ และรัฐสภาใช้งบก่อสร้างไปแล้วกว่า 13,000 ล้านบาท รวมถึงมีการตั้งงบเพิ่มเติมในปี 2568 อีก 293 ล้านบาท
15 โครงการไม่เกี่ยวกับการก่อสร้างเดิม
ประกาสิต จำเรือง ผู้อำนวยการสำนักอาคารสถานที่ กล่าวว่า งบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารรัฐสภานั้นเป็นไปตามที่ได้รับข้อมูลมา โดยยืนยันว่าทั้ง 15 โครงการที่เสนอการปรับปรุงนั้นไม่ได้อยู่ในสัญญาในการก่อสร้างฉบับเดิม ส่วนการของบประมาณใหม่ เกิดขึ้นก่อนที่ตนเองจะเข้ามารับตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ มีการพิจารณาจัดสรรกันไปแล้ว
ขณะที่ พฤหัส ปราบปรี ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานบริหารจัดการและบริการสถานที่ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานอาคารสถานที่ ชี้แจงว่าหลังจากที่มีการตรวจรับงานยังเหลือเงินอีกก้อนหนึ่ง ที่ยังไม่ได้เบิกจ่ายกว่า 300 ล้านบาท เพราะยังมีบางประเด็นที่ต้องเรียกค่าเสียหายจากผู้รับจ้าง ซึ่งขณะนี้งบอยู่ที่สำนักงานการคลัง โดยเป็นเงินค่าคุมงานค่าจ้าง ค่าที่ปรึกษา จึงหักเงินก้อนนี้ไว้ให้กับที่ปรึกษาเป็นค่าเสียหาย และอยู่ในระหว่างการดำเนินการ
ทั้งนี้ คาดว่าอาจจะเป็นคดีความส่วนความคืบหน้าว่า เรื่องนี้ดำเนินการไปถึงขั้นไหนแล้วตนเองไม่ทราบ เพราะไม่ได้อยู่ฝ่ายกฎหมาย งบประมาณที่จอดรถและปรับปรุงศาลาแก้ว เป็นการปรับปรุงตามแบบ ทั้งห้องประชุมงบประมาณ ก็เป็นการปรับปรุงเพิ่มจากเดิม รวมถึงฉากหลังบัลลังก์ด้วย
ขณะที่ ปดิพัทธ์ สันติภาดา อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ได้กล่าวว่า เราจะต้องมีแบบอาคารเดิม ซึ่งในตอนที่ตนเองดำรงตำแหน่งรองประธานสภา ได้ขอแบบอาคารเดิมไปแล้ว ได้มาเป็นแบบวิศวกรรมอ่านแล้วไม่เข้าใจ เช่น เรื่องภาพหลังบัลลังก์ของเดิมเป็นอย่างไรไม่ทราบ กลับได้คำตอบมาว่าให้ไปขอข้อมูลจากบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้รับเหมาหลัก ซึ่งเป็นบริษัทผู้ก่อสร้าง ทั้งที่ควรจะมีแบบเดิมตั้งแต่แรก และอีกเรื่องการจ่ายเงินที่ปรึกษา ที่ตนไม่เคยเห็นรายงานของที่ปรึกษามาก่อน
พฤหัสกล่าวตอบว่า หากต้องการแบบอาคารเดิมต้องขอกับเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงรายงานของที่ปรึกษาด้วย
ลานจอดรถสร้างไม่ตรงแบบ ใครรับผิดชอบ
จากนั้นพริษฐ์ได้ถามถึงความจำเป็นของการของบประมาณทำโครงการอาคารที่จัดจอดรถเพิ่มเติม มูลค่า 1,522 ล้านบาทว่า จำเป็นแค่ไหน ทำไมถึงไม่พอแล้วตามแบบดั้งเดิมของอาคารใหญ่ขนาดนี้ ต้องมีการคาดการณ์จำนวนอาคารจอดรถไว้เท่าใด เหตุใดจึงเปิดทำการไม่ถึง 5 ปี จึงจำเป็นที่ต้องเพิ่มจำนวนที่จอดรถ แล้วใครคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้
อรุณ ลายผ่องแผ้ว ผู้อำนวยการสำนักรักษาความปลอดภัย กล่าวว่า เดิมเรื่องที่จอดรถขึ้นกับสำนักความปลอดภัย แต่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่จอดรถไม่เพียงพอมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการศึกษา 3 คณะ เนื่องจากพื้นที่รัฐสภาเป็นอาคารขนาดใหญ่ มีพื้นที่ใช้สอยเกิน 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป ตามข้อบัญญัติของ กทม. ที่จอดรถ 1 คัน ต้องมีขนาด 120 ตารางเมตร จะต้องมีที่จอดรถหนึ่งคัน
แต่แบบที่มีอยู่มีที่จอดรถไม่เพียงพอ มีช่องจอดเพียง 1,935 คัน เราเคยจัดหาและแก้ไขมาหลายวิธีคือการจัดหาพื้นที่บริเวณนอกรอบเพื่อเป็นสถานที่จอดรถชั่วคราว ซึ่งมีความเป็นไปได้ค่อนข้างยาก จากการศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการคือ การใช้พื้นที่ด้านหน้าอาคาร 21 ไร่ เจาะลงไปที่ด้านล่าง ความลึก 11 เมตร ซึ่งจะทำให้มีที่จอดรถเพิ่มเป็น 4,600 คัน โดยจะเป็นการใช้พื้นที่ที่มีอยู่ให้เต็มศักยภาพ
ส่วนการบริหารจัดการที่จอดรถ แม้จะไม่ได้ล็อกช่องจอดให้สมาชิก แต่มีการล็อกพื้นที่ในวันประชุมวันจันทร์ วันอังคารจะล็อกพื้นที่ให้ฝั่ง สว. ส่วนวันพุธวันพฤหัสล็อกพื้นที่ สส. 500 ที่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่สมาชิก
พริษฐ์กล่าวว่า หากแบบผิดกฎหมาย ผู้รับผิดชอบต้องไม่ใช้ภาษีประชาชนในการแก้แบบ ถ้าแบบเป็นไปตามข้อบัญญัติของ กทม. สัญญาเขียนว่าใครต้องรับผิดชอบ คนทำแผนหรือคนอนุมัติแผน
ปกาสิตกล่าวว่า เป็นเรื่องของผู้บริหารสมัยนั้น ตนเองมาบริหารทีหลังจึงไม่รู้ว่ารับแบบมาถูกหรือไม่ การก่อสร้างตามแบบอยู่แล้ว อย่างไรเชื่อว่ากรรมการคงจะตรวจรับตามแบบ แต่ที่พวกตนเองนิ่งเพราะไม่รู้ในสิ่งที่ท่านถาม
พริษฐ์จึงขอให้ส่งเอกสารทั้งหมดให้คณะกรรมาธิการตรวจสอบว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ พร้อมบอกว่าเราต้องยอมรับตรงๆ ว่าการออกแบบผิดกฎหมายข้อบัญญัติ กทม. ที่จะต้องมี 3,500 ช่องจอด ตนเองยังติดใจเรื่องการโอนงบประมาณว่าใช้วิธีใด ถ้าเป็นโครงการใหม่ต้องขออนุมัติงบหรือต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ หรือ ครม.
เจษฎา พรหมย้อย ตำรวจรัฐสภา ในฐานะตัวแทนสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร บอกว่าเป็นเรื่องระเบียบรัฐสภา สามารถโอนงบประมาณได้ ทำให้นายพริษฐ์ระบุว่าคณะกรรมการตามระเบียบรัฐสภาว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของส่วนราชการสังกัดรัฐสภา (คบง.รส.) ซึ่งมีประธานสภาเป็นประธานนั้น ต่ำกว่า พ.ร.บ.งบประมาณ
ศาลาแก้วสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ?
พริษฐ์ยังขอให้สำนักงานสภาชี้แจงรายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับเหตุผลในการใช้งบประมาณ 123 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงศาลาแก้วจำนวน 2 หลัง โดยสำนักงานสภาแจ้งว่า มีวัตถุประสงค์หลัก 5 ประการ คือ
- เพื่อพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ
- เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
- เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เอื้อต่อการตัดสินใจและการประชุมที่มีประสิทธิภาพ
- เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน
- เพื่อพัฒนาภาครัฐให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพ
เจษฎาชี้แจงว่า วัตถุประสงค์ในการปรับปรุงศาลาแก้วนั้น ขอให้มองที่ภาพรวม ศาลาแก้วจะเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับโครงการประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าตรงกลางระหว่างศาลาแก้วทั้ง 2 หลัง ซึ่งการปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อที่จะให้ประชาชนหรือผู้ที่เข้ามารัฐสภาได้ใช้เต็มประสิทธิภาพ
ส่วนวัตถุประสงค์ด้านการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น ส่วนหนึ่งเพื่อต้อนรับผู้นำประเทศที่มาเยี่ยมเยือนรัฐสภา จากเดิมที่ใช้พื้นที่บริเวณปลาอานนท์ที่อยู่ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในอนาคตเมื่อสร้างรถไฟฟ้าบริเวณถนนสามเสนเสร็จเรียบร้อย ก็จะปรับภูมิทัศน์ใช้พื้นที่ดังกล่าวรองรับผู้นำหรือแขกของรัฐสภาในบริเวณดังกล่าวนั้น
ส่วนสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการตัดสินใจและการประชุมอย่างมีประสิทธิภาพนั้น ในการต้อนรับผู้นำหรือแขกที่มาเยี่ยมเยือนรัฐสภาก็สามารถใช้ศาลาแก้วได้ นอกจากนี้ศาลาแก้วจะเป็นศาลาที่สามารถรองรับพิธีการต่างๆ ได้ หรือสามารถรองรับในการทำกิจกรรมที่ให้ประชาชนหรือผู้ที่มาติดต่อกับรัฐสภาได้
ทั้งนี้ ถือเป็นการยกระดับพื้นที่โดยรอบรัฐสภาให้มีความสวยงาม พร้อมทั้งตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ด้วยการเปิดโอกาสให้สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากพื้นที่บริเวณด้านหน้าอาคารรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วยพระบรมราชานุสาวรีย์ สวน บ่อน้ำ และสระบัว
แม้การปรับปรุงภูมิทัศน์ในส่วนนี้ ยังไม่ได้กำหนดไว้ในขอบเขตของงาน (TOR) อย่างครบถ้วน แต่ในเบื้องต้นได้มีแนวทางในการเปิดพื้นที่ดังกล่าวให้ประชาชนสามารถเข้ามาใช้บริการและพักผ่อนได้ โดยพื้นที่นี้ยังเชื่อมโยงกับฐานพระบรมราชานุสาวรีย์และสวนสาธารณะโดยรอบอย่างเต็มประสิทธิภาพ
พริษฐ์จึงตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ในมุมมองของตนเอง ไม่สามารถเชื่อมโยงได้กับสิ่งที่ท่านกล่าวว่า การมีศาลาแก้วจะสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงาน การตัดสินใจ และการประชุมอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร
เรากำลังจะบอกว่า หากผู้นำต่างประเทศมาเยือนรัฐสภาไทย แล้วมีการประชุมภายในห้องที่มีอยู่ อาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด และหากมีการปรับปรุงศาลาแก้ว ด้วยงบประมาณกว่า 100 ล้านบาทแล้ว การตัดสินใจจะดีขึ้นหรือไม่
ส่วนในประเด็นการตอบสนองความต้องการของประชาชน หลักคิดของการปรับปรุงศาลาแก้วในครั้งนี้ ดูจะมุ่งเน้นที่การต้อนรับผู้นำต่างประเทศ มากกว่าการใช้พื้นที่เพื่อประโยชน์ของประชาชน ซึ่งคำถามคือ ประชาชนต้องการสิ่งนี้หรือไม่ โดยปฏิกิริยาตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็สะท้อนให้เห็นในระดับหนึ่งแล้ว
อีกประเด็นหนึ่งคือ การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเกี่ยวโยงกับภาพลักษณ์ของประเทศ ตนเองไม่เห็นว่าความอลังการของรัฐสภา จะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศดีขึ้น
หากเราต้องการใช้รัฐสภาไทยเป็นเวทีในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ตนเองเห็นว่าอุปสรรคในเวลานี้ ไม่ใช่เพราะรัฐสภาไทยยังไม่สวยพอ แต่เป็นเรื่องของเนื้อหาสาระ และความพยายามในการมีบทบาทบนเวทีโลก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ไม่ได้มาเพราะการมีรัฐสภาอลังการ
“เหมือนท่านกำลังบอกว่า การลงทุนสร้างรัฐสภาที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยงบหมื่นล้านบาทนั้นยังไม่พอ ยังต้องมีศาลาแก้วเพิ่มเติมอีก เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่สำหรับผมเหตุผลที่หน่วยงานของท่านยื่นเสนอมาในเอกสารคำของบประมาณนั้นไม่สามารถเชื่อมโยงได้เลย”
ขณะที่ปดิพัทธ์ให้ข้อสังเกตถึงภารกิจด้านการต่างประเทศว่า ตนเองเคยมีโอกาสได้ต้อนรับทูตผู้แทนราษฎรในประเทศต่างๆ ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า รัฐสภาของเรานั้นฟุ่มเฟือย ใหญ่เกินไป ผู้นำจากเยอรมนีเคยถามตนเองว่า รัฐสภาไทยเสียค่าแอร์เดือนละเท่าไร ผู้นำจากเวียดนามเคยถามว่ารัฐสภาของเราใหญ่กว่าเขา 3 เท่า หรือแม้แต่ผู้นำจากเดนมาร์ก เคยบอกเขาไม่เคยไปที่ไหนที่หลงทางขนาดนี้
ดังนั้นตนเองไม่คิดว่าจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือการทำงานร่วมกัน เราห้องประชุมที่มีความเหมาะสมอยู่แล้ว ทั้งรับรองและจัดงานเลี้ยงด้วยซ้ำ นี่ไม่ใช่เนื้อหาสาระที่จะทำให้ภารกิจของรัฐสภาสำเร็จได้ ประเทศที่ซึ่งงบประมาณนั้นถูกใช้จ่ายโดยที่ประชาชนที่ล้มหายตายจากจากภาวะเศรษฐกิจ หากเรายังทุ่มเทสรรพกำลัง โดยที่ของการปรับปรุงศาลาแก้ว แม้จะเป็นแค่หนึ่งโครงการ เชื่อว่าในปีหน้าก็จะมีโครงการในลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นอีก
ปดิพัทธ์ระบุว่า แนวคิดเช่นนี้จะทำให้การตกแต่งรัฐสภาไม่มีวันสิ้นสุด ขณะที่ประสิทธิภาพของรัฐสภาควรอยู่ที่การพิจารณากฎหมาย การตรวจสอบเรื่องต่างๆ การพัฒนาเป็น Digital Parliament หรือแม้แต่ Data Government ซึ่งคำถามคือ ได้ดำเนินการแล้วหรือยัง
ขณะที่หน่วยงานได้ขออนุญาตให้พิจารณาภาพรวมว่า เป็นการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณด้านหน้าอาคารรัฐสภา โดยที่ศาลาแก้วนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการปรับปรุงภูมิทัศน์ดังกล่าว เพื่อให้สามารถใช้งานพื้นที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ตามแนวคิดเดิม ศาลาดังกล่าวเป็นเพียงอาคารเรือนชาน ลักษณะการใช้งานคือการนั่งกับพื้น ไม่มีโต๊ะหรือเก้าอี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้เป็นที่พักผ่อนได้ ตามเจตนารมณ์ของผู้ออกแบบ
แต่ในมุมมองของสำนักงานฯ เห็นว่าควรมีการยกระดับการใช้พื้นที่บริเวณด้านหน้าให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยพัฒนาให้เป็นสถานที่สำหรับรองรับแขกของรัฐสภา เช่น แขกของประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภา ซึ่งสามารถใช้พื้นที่บริเวณดังกล่าวในการต้อนรับเพิ่มเติมได้
ในอนาคตพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นที่ตั้งของแท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งอาจมีการจัดรัฐพิธี เช่น การวางพวงมาลา การตั้งพลับพลาที่ประทับ หรือภารกิจที่เกี่ยวข้องกับพระบรมราชานุสาวรีย์ ดังนั้นขอให้มองว่าศาลาแก้วเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรวม
สำหรับการใช้งาน เนื่องจากเป็นพื้นที่ของอาคารรัฐสภา สมาชิกทุกคนสามารถเข้ามาใช้พื้นที่เพื่อจัดกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการรองรับประชาชนได้
ส่วนเป้าหมายในการต้อนรับผู้นำต่างประเทศนั้น ปัจจุบันมีทูตานุทูตและผู้นำประเทศต่างๆ เดินทางมาเยี่ยมเยียนรัฐสภาไทยประมาณ 3-5 ครั้งต่อเดือน ซึ่งศาลาแก้วจะเป็นพื้นที่เพิ่มเติมในการต้อนรับแขก แม้ว่ายังคงมีพื้นที่ต้อนรับภายในอาคาร แต่พื้นที่ด้านนอกจะช่วยยกระดับการใช้งาน จากเดิมที่ประชาชนมาใช้นั่งพักผ่อน กลายเป็นพื้นที่ที่สามารถใช้ในภารกิจทางการทูตได้ด้วย
ก่อนจบการประชุม พริษฐ์ในฐานะประธาน ขอให้ ร.ต.ต. อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สรุปหลังจากรับฟังข้อเสนอในวันนี้ว่า จากทั้ง 15 โครงการ ซึ่งมี 10 โครงการอยู่ในร่างงบประมาณปี 2569 และอีก 5 โครงการที่อยู่นอกกรอบงบประมาณแต่ได้มีการส่งคำขอไปแล้วนั้น มีความเห็นอย่างไร ว่าควรยุติโครงการใดบ้าง เพื่อให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างงบประมาณปี 2569 สามารถประหยัดเวลาและดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงว่า ทั้ง 15 โครงการมีที่มาจากคณะกรรมการของแต่ละหน่วยงานที่เสนอคำของบประมาณเข้ามา โดยตนในฐานะหัวหน้าส่วนราชการ ได้ดำเนินการตามกระบวนการยื่นคำของบ ส่วนว่าจะตัดโครงการใดออกบ้างนั้น จำเป็นต้องหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องหรือเจ้าของโครงการแต่ละโครงการก่อน
ในส่วนของนโยบายจะมีการประชุมร่วมกับประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงประธานกรรมาธิการกิจการสภา และผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตนจะนำเรื่องนี้เข้าสู่การหารือ ว่าจะมีการกำหนดนโยบายให้สำนักงานนำกลับไปทบทวนในแต่ละโครงการหรือไม่
ตนเองไม่สามารถใช้อำนาจในฐานะเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเพียงลำพังได้ ไม่สามารถหักด้ามพร้าด้วยเข่า เนื่องจากไม่ทราบรายละเอียดทั้งหมดในแต่ละโครงการ และกระบวนการจัดทำคำของบประมาณไม่ได้เริ่มต้นจากตน แต่ยินดีที่จะรับข้อเสนอทั้งหมดไปหารือกับฝ่ายบริหารของรัฐสภา รวมถึงซักถามถึงความจำเป็นของแต่ละหน่วยงานอีกครั้ง