วันนี้ (7 พฤษภาคม) ที่อาคารรัฐสภา ช่างภาพทีมข่าว THE STANDARD สำรวจอาคารรัฐสภา สัปปายะสภาสถาน ถนนสามเสน มีพื้นที่ดิน 119.6 ไร่ มีพื้นที่ใช้สอยในอาคาร 424,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่บนพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านเกียกกาย กรุงเทพมหานคร ที่ได้รับมอบ 100% เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา หลังจากผ่านการต่อสัญญาก่อสร้าง 4 ครั้ง
สัปปายะสภาสถาน ก่อสร้างด้วยงบประมาณ 12,280 ล้านบาท มีบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ของตระกูลชาญวีรกูล เป็นผู้รับเหมาหลัก ก่อสร้างเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2556 เปิดใช้งานเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2564
ทั้งนี้ ล่าสุด สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้เสนอของบประมาณในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2569 เพื่อปรับปรุงพื้นที่รัฐสภา รวม 956 ล้านบาท เช่น
- ก่อสร้างและปรับปรุงพื้นที่พิพิธภัณฑ์รัฐสภา (รวมค่าจ้างที่ปรึกษา) งบประมาณ 44 ล้านบาท
- พัฒนาระบบภาพยนตร์ 4D ห้องบรรยายใหญ่ ชั้น B1- B2 งบประมาณ 180 ล้านบาท
- ปรับปรุงไฟส่องสว่างเพิ่มเติมบริเวณห้องประชุมสัมมนาชั้น B1 และ B2 งบประมาณ 117 ล้านบาท
- ติดตั้งภาพและเสียงประจำห้องจัดเลี้ยง ชั้น B2 งบประมาณ 99 ล้านบาท
- ปรับปรุงศาลาแก้ว 2 หลัง งบประมาณ 123 ล้านบาท
- ปรับปรุงห้องประชุม งบประมาณ 118 ล้านบาท
- ปรับปรุงพื้นที่ครัวของอาคารรัฐสภา งบประมาณ 117 ล้านบาท
- จัดซื้อจอ LED Display งบประมาณ 72 ล้านบาท
- พัฒนาปรับปรุงพื้นที่ส่วนภูมิทัศน์และผลิตปุ๋ยอินทรีย์ งบประมาณ 43 ล้านบาท
- ปรับปรุงห้องจัดเลี้ยง ชั้น 1 โซน C งบประมาณ 43 ล้าน
นอกจากนี้ ยังมีอีก 5 โครงการที่หน่วยงานทำคำขอ แต่ยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 2569 โดยคณะรัฐมนตรี เช่น ก่อสร้างอาคารจอดรถรัฐสภา (เพิ่มเติม) รวมค่าควบคุมงานและค่าจ้างที่ปรึกษา งบประมาณ 1,529 ล้านบาท, ออกแบบ และตกแต่งฉากหลังบัลลังก์ประธานสภาในห้องประชุมสุริยัน งบประมาณ 133 ล้านบาท, จัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัย งบประมาณ 74 ล้านบาท, ระบบป้องกันฝุ่นพิษ PM2.5 และเสริมสร้างคุณภาพอากาศ งบประมาณ 50 ล้านบาท และการจ้างงานซ่อมแซมปรับปรุงเสาไม้สัก งบประมาณ 31 ล้านบาท รวม 1,817 ล้านบาท
ในช่วงบ่ายที่ผ่านมา ภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 นำสื่อมวลชนประจำรัฐสภาเดินชมบริเวณอาคารรัฐสภา ซึ่งเป็นประเด็นเรื่องชงการใช้งบประมาณปรับปรุงพื้นที่ในส่วนต่างๆ ที่ภราดรรับผิดชอบ เช่น ห้องจัดเลี้ยงสัมมนาที่สามารถรองรับคนได้ 1,500 คน ชั้น B 2 ที่ของบประมาณไป 99 ล้านบาท รวมถึงโซนพิพิธภัณฑ์รัฐสภา บริเวณชั้น MB1 ชั้น1 และชั้น 11 ซึ่งเป็นจุดเดียวกับเครื่องยอดของอาคารรัฐสภา ซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมด 6,000 ตารางเมตร
สำหรับพิพิธภัณฑ์ทำแล้วจะคุ้มค่าหรือไม่นั้น ภราดรกล่าวว่า ตรงนี้จะกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ในด้านการเมืองการปกครอง งานนิติบัญญัติ จะคุ้มค่าหรือไม่ต้องดูว่าสิ่งที่ได้กับการลงทุนมากน้อยแค่ไหน หลักใหญ่ตนให้โจทย์ว่าคนที่มาแล้วอยากจะกลับมาอีก เชื่อว่าจะกลายเป็นอีกจุดเช็กอินอีกหนึ่งที่ นอกจากเครื่องยอดแล้ว
ภายหลังการเดินชมพื้นที่ดังกล่าว ภราดรกล่าวว่า ตนได้พาไปดูในส่วนที่เป็นข่าว 2 ส่วนคือพิพิธภัณฑ์ และห้องสัมมนาที่จุคนได้ 1,500 ที่นั่ง โดยห้องสัมมนานั้นวัตถุประสงค์คือตั้งใจที่จะใช้เป็นห้องสัมมนาขนาดใหญ่ ไม่ใช่เฉพาะของสภาผู้แทนราษฎรแต่รวมถึงพี่น้องประชาชนทั่วไปด้วยที่ประสงค์จะใช้ห้องประชุมขนาดใหญ่และสามารถขอใช้กับสภาผู้แทนราษฎรได้ และจากที่พาไปดูจะเห็นว่ามีระบบแสง แต่ไม่มีระบบเสียง
เราเคยจัดงานไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เราต้องไปจ้างระบบเสียงและแสงรวมถึงโต๊ะที่นั่ง ค่าบริหารจัดการเป็นล้านบาท ยังไม่รวมถึงการจัดงานประชุมระดับประเทศที่ผ่านมาก็เพิ่งจะจัดไป เราต้องไปเช่าห้องสัมมนาของโรงแรมที่จะจัดงานของสภา และใช้เงินอีกมากพอสมควร ฉะนั้น ทางประธานสภาก็ดำริว่าเมื่อเรามีห้องเป็นของเราแล้วจำเป็นที่จะต้องนำพื้นที่ที่ว่างเปล่ามาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุดเพื่อบริการให้กับประชาชนด้วย ซึ่งเป็นหนึ่งโครงการที่ทางสำนักงานเลขาธิการสภาได้ขอสู่สำนักงบประมาณไป
ภราดรกล่าวว่า ส่วนของพิพิธภัณฑ์ที่หลายคนได้มาสภา คงจะเห็นในส่วนที่มีการจัดไว้ชั่วคราวซึ่งเป็นส่วนแค่เล็กๆ เท่านั้น โดยพื้นที่ทั้งหมดมี 3 ชั้นคือชั้น MB1 ชั้น 1 และชั้น 11 รวมทั้งหมด 6,000 ตารางเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ใหญ่พอสมควร โดยในแบบเตรียมไว้เพื่อทำพิพิธภัณฑ์ ซึ่งทางสภาเห็นว่าเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชน และมีประชาชนเข้ามาเยี่ยมชมจำนวนมากในแต่ละวัน รวมถึงพิพิธภัณฑ์จะเป็นแหล่งเรียนรู้ใหม่ ที่เปิดกว้างให้ประชาชนเข้ามายังสภา
ประเทศที่เจริญแล้วอย่างประเทศอังกฤษจะเห็นว่ามีพิพิธภัณฑ์อยู่ทั่วเมืองเต็มไปหมด ที่แสดงถึงประวัติศาสตร์ด้านต่างๆ เราจึงอยากให้ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ของประชาชนในเรื่องของการเมืองการปกครอง นิติวิธีในกระบวนการของรัฐสภาจึงได้ให้โจทย์กับทางกลุ่มงานพิพิธภัณฑ์ไปว่าพิพิธภัณฑ์จะต้องทำให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต (Interactive Museum) คือคนเข้ามาแล้วต้องอยากที่จะกลับมาอีกและเมื่อกลับมาแล้วต้องมีสิ่งที่มาเปลี่ยนแปลงไป และบริการให้กับพี่น้องประชาชน
ภราดรกล่าวถึงการพิจารณาโครงการในต่างๆ มีหลักใหญ่ 3 หลักคือ 1. หลักความจำเป็น 2. เมื่อดูความจำเป็นแล้วโครงการนั้นความคุ้มค่ากับงบประมาณที่จะใช้หรือไม่ และ 3. หลักของความโปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยตนเชื่อว่าทั้งวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ในฝ่ายนโยบายก็ได้ให้กับนโยบายกับข้าราชการเรื่องความโปร่งใสที่ตรวจสอบได้
รวมถึงเรื่องของความคุ้มค่าของงบประมาณที่ได้ขอดำเนินการต่างๆ ก็ต้องเน้นถึงความจำเป็น แต่อย่างไรก็ตาม โครงการต่างๆ ที่สภาได้ขอไปยังอยู่ในขั้นตอน ยังไม่ได้รับการอนุมัติ ซึ่งเดือนพฤษภาคม จะมีการพิจารณางบประมาณ ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของ สส. ที่จะมีการเปิดโครงการของหน่วยงานต่างๆ รวมถึงสภาด้วยว่า ได้ของบประมาณในส่วนไหนไปบ้าง
ทั้งนี้ หากกรรมาธิการงบประมาณเห็นว่าโครงการไหนไม่มีความจำเป็นทางกรรมาธิการก็สามารถปรับลดงบประมาณในส่วนที่ไม่มีความจำเป็นได้ในชั้นวาระ 2 และทาง สส. ในห้องประชุมใหญ่ก็สามารถขอแปรญัตติ เพื่อปรับลดงบประมาณได้ ฉะนั้น จึงเป็นเพียงแค่แนวทางของสำนักงานเลขาธิการสภาที่ได้เสนอของบประมาณขึ้นไป ส่วนจะอนุมัติหรือไม่ก็อยู่ที่ผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการที่จะพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป
ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่างบประมาณที่ขอไปมีความไม่คุ้มค่า ต้องมีการไปกำชับเรื่องลดทอนให้น้อยลงหรือไม่ ภราดรกล่าวว่า ในส่วนของตนที่ได้พาไปดูห้องประชุม 1,500 ที่นั่ง ตอนแรกงบประมาณที่ทำเสนอมา น่าจะประมาณ 170 ล้านบาท ตนจึงให้โจทย์กับหน่วยงานไปว่าต้องไปเชิญผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านนี้หลายเจ้าเพื่อมาปรึกษาและพูดคุยกันว่างบประมาณที่ทางสำนักงานเลขาธิการสภาได้ตั้งมาว่ามากเกินไปหรือไม่ สุดท้ายจึงได้นำเสนอขึ้นมาใหม่คือ 99 ล้านบาท ลดไปประมาณเกือบครึ่งหนึ่ง จึงเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถปรับลดได้
เช่นเดียวกันในชั้นของกรรมาธิการงบประมาณ ที่สามารถจะปรับลดหรือตัดออกทั้งโครงการก็ได้ ฉะนั้น เป็นอำนาจของกรรมาธิการหากเห็นว่าโครงการนี้จำเป็นหรือไม่ ถ้าไม่มีความจำเป็นกรรมาธิการงบประมาณก็สามารถที่จะตัดทิ้งได้ หรือหากไม่คุ้มค่ากรรมาธิการก็สามารถปรับลดงบประมาณลงได้ จึงเป็นส่วนหนึ่งของกรรมาธิการที่จะไปดำเนินการ
ภราดรยังกล่าวถึงกรณีที่ ปดิพัทธ์ สันติภาดา อดีตรองประธานสภา ระบุว่างานน่าจะเสร็จตั้งแต่ก่อนรับงานแล้วหรือไม่ ทำไมต้องมาทำเพิ่มเติม ภราดรกล่าวว่า ตนเข้าใจว่าในแบบแปลนใหญ่ มีทั้งพิพิธภัณฑ์และห้องประชุมขนาดใหญ่ในการเตรียมพื้นที่เอาไว้ ส่วนการรับงานครั้งแรกของสภาน่าจะยังไม่รวมถึงในส่วนของพิพิธภัณฑ์และห้องประชุม ไม่เช่นนั้นฝ่ายตรวจรับงานเขาตรวจไม่ได้
“ข้าราชการไม่กล้าตรวจรับงาน ถ้าตรวจรับงานไปด้วยงานที่ไม่สมบูรณ์แบบตามแบบ ติดคุกนะ ผมจึงเชื่อว่าเขาไม่กล้าทำ แต่จากที่ผมทราบเบื้องต้นด้วยเงินงบประมาณที่ทางสภาได้ก่อสร้างเริ่มแรกพื้นที่ใช้สอยทั้งหมดน่าจะประมาณ 300,000 กว่าตารางเมตร แต่เมื่อสร้างจริงกลายเป็น 400,000 ตารางเมตร หมายความว่าจำเป็นจะต้องปรับลดเนื้องานเป็นบางส่วน ในส่วนที่กำลังจะสร้างหรือกำลังจะต่อเติมอาจจะอยู่ในส่วนที่ตัดออกไป ซึ่งผมเชื่อว่าด้วยคณะกรรมการตรวจรับของสภาคงไม่ชุ่ยขนาดนั้น” ภราดรกล่าว