×

New World Order อยู่อย่างไรในวันที่โลกลงทุนไม่เหมือนเดิม

06.05.2025
  • LOADING...
New World Order

ผ่านไปเสียทีนะครับ สำหรับเดือนเมษายนที่แสนจะตื่นเต้น และอบอวลไปด้วยบรรยากาศความกดดันที่ปกคลุมทั่วโลก จากความตึงเครียดของสงครามการค้า 2.0 ที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศมาตรการภาษีกับประเทศต่างๆ มีผลตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2568 แม้เวลานี้จะมีการเลื่อนบังคับใช้ออกไป 90 วันเพื่อเปิดประตูเจรจาเป็นรายประเทศก็ตาม แต่ก็เป็นปัจจัยใหญ่ของตลาดลงทุนทุกประเภทในช่วงที่ผ่านมา จนสินทรัพย์เกิดความผันผวนรุนแรง โดยเฉพาะหุ้น ทองคำ คริปโตเคอร์เรนซี และแม้แต่พันธบัตรสหรัฐฯ ก็ไม่แคล้วปั่นป่วนโกลาหลตามไปด้วย   

 

นักวิเคราะห์ทั่วโลกไม่คาดว่า ทั้งสองประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีนและสหรัฐฯ จะสามารถเจรจาตกลงกันได้ในเร็วๆ นี้ แม้ว่าทรัมป์จะบอกว่าอาจจะมีข้อตกลงเกิดขึ้นภายใน 3-4 สัปดาห์ข้างหน้าก็ตาม 

 

สงครามการค้า 2.0 ระหว่างสองประเทศ ต่างมีเป้าหมายยืนแท่นเบอร์หนึ่งของโลก โดยฝั่งสหรัฐฯ ที่ต้องรักษาความเป็นผู้นำโลกให้อยู่ตลอดไป นอกจากการใช้มาตรการภาษีฯ เพื่อปรับโครงสร้างทางการเงินของประเทศที่มีหนี้สูงลิ่วแล้ว สหรัฐฯ ยังมีเป้าหมายต้องการเตะตัดขาจีนเพื่อไม่ให้เติบโตแซงขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งของโลกแทนที่ได้ 

 

ส่วนจีนปักธงเป้าหมายชัดเจนมาตลอดว่า เดินหน้าทำทุกวิถีทางเพื่อให้ขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของโลกแทนที่สหรัฐฯ นี่คือชนวนที่ทำให้ทั้งสองฝ่าย ใช้สนามรบทางเศรษฐกิจการค้าโลกในการสู้รบตบตีกันยาวๆ ไป 

 

แม้ว่าเวลานี้ทรัมป์จะเลื่อนการเริ่มใช้มาตรการภาษีฯ ออกไปอีก 90 วัน และหากเจรจากันออกมาลงตัว อาจจะช่วยให้ความตึงเครียดคลี่คลายลงได้ในช่วงไตรมาส 2 นี้ แต่หลังจากนี้ก็จะกลับมาสู่สภาวะความไม่แน่นอนของโลกอีกอยู่ดี เพราะช่วงครึ่งปีหลังหรือปีถัดๆ ไป ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ และจีน อาจจะมีมาตรการอื่นๆ ออกมาตอบโต้กันอีกก็ได้ ซึ่งจะเป็นวังวนเข้าสู่เกมต่อรองของ 2 มหาอำนาจโลกต่อไประยะยาว

 

ผมประเมินว่า สงครามการค้าที่เกิดขึ้นนี้ ไม่น่าจะเป็นลุกลามเป็นสงครามโลกครั้งที่สามแบบใช้กำลังทางการทหารเหมือนอดีตครับ แต่น่าจะเป็นเชิงการเมืองการค้าหรือเชิงการส่งออกนำเข้า และนโยบายเรื่องเทคโนโลยีต่างๆ มากกว่า และในแต่ละรอบสงครามการค้า น่าจะเป็นการจบลงด้วยการเจรจาของทั้งสองฝ่าย สถานการณ์ก็ยืดเยื้อเรื้อรังกันไปอีกเป็นปีๆ นับจากนี้ ต้องจับตาการวางเกมในอนาคตของแต่ละฝ่ายกันไปยาวๆ 

 

จีนเองจะเร่งสร้างเครือข่ายการค้าใหม่ สร้างข้อตกลงการค้า FTA กับกลุ่ม BRICS, ASEAN, ตะวันออกกลาง เปิดตลาดใหม่ ลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตะวันตก 

 

ส่วนสหรัฐฯ ก็จะหันมาสร้างพันธมิตรซัพพลายเชนใหม่ เน้นลงทุนในอเมริกาใต้ แอฟริกา และอินโดนีเซีย ดึงบริษัทญี่ปุ่น-เกาหลีมาช่วยสร้างฐานการผลิตให้สหรัฐฯ 

 

การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้ โลกจะเกิด ‘สองระบบ’ ของซัพพลายเชน ระหว่างฝั่งตะวันตก กับฝั่งจีนและพันธมิตร หรือเรียกกันว่า โลกทวิภพ ซึ่งจะไม่เหมือนปัจจุบันที่เป็นโลกาภิวัตน์ (Globalization) เป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของโลกที่ไม่ใช่แค่สงครามภาษี แต่คือ ศึกแย่งอำนาจการผลิตและทรัพยากร ที่ไม่มีใครอยากเป็นฝ่ายพึ่งพาอีกฝ่ายหนึ่งต่อไป 

 

‘Ray Dalio’ นักลงทุนชื่อดังของโลกและเป็นผู้ก่อตั้ง Bridgewater เตือนว่า “ตลาดไม่น่ากลัวเท่าโลกที่ไม่มีใครคุมเบรก” และยังส่งสัญญาณว่า วิกฤติที่กำลังจะมา อาจไม่มีชื่อเรียก เพราะมันคือของใหม่ที่ทั้งโลกไม่เคยเจอ เขายังมองว่า สิ่งที่กำลังจะเกิด อาจไม่ใช่แค่ Recession หรือภาวะถดถอย แต่เป็น “แรงสั่นสะเทือนระดับระบบการเงินโลก”

 

เขาวิเคราะห์ 3 ประเด็นที่น่ากังวล ว่า 1 “ระบบการเงินโลกกำลังจะพัง” เนื่องจากโลกกำลังเข้าสู่ “ยุคแห่งความไม่แน่นอน” ของระบบการเงิน เหตุผลสำคัญมาจากหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่สูงลิ่ว การอัดมาตรการ QE แบบไร้แผน และนโยบายการคลังสุดโต่ง 

 

  1. “ภาษีของทรัมป์ คือเชื้อไฟ” ซึ่งสงครามการค้าที่กลับมาอีกครั้ง พร้อมกับนโยบายภาษีของทรัมป์ ทำให้การค้าโลกสะดุด เงินเฟ้อพุ่ง และ “โลกอาจเข้าสู่ระเบียบใหม่ที่อเมริกาไม่ได้เป็นศูนย์กลางอีกต่อไป” 

 

และสุดท้าย “ตลาดพันธบัตรกำลังสั่นคลอนเหมือนเมื่อปี 2008 แต่รุนแรงกว่า” ซึ่งนักลงทุนเทขายพันธบัตร ดอกเบี้ยขึ้นแต่คนไม่ซื้อ ก็แปลว่า “ไม่มีใครอยากถือหนี้สหรัฐฯ อีกแล้ว”

 

ถ้าระบบการเงินโลกเปลี่ยนจริง สินทรัพย์ต่างๆ ที่นักลงทุนถืออยู่ จำเป็นต้องปรับพอร์ตหรือไม่อย่างไร นักลงทุนใหม่ที่เพิ่งเข้ามาลงทุนไม่ทันไรก็พอร์ตที่ติดลบไปแล้ว ผมเชื่อว่าทุกคนต่างอึดอัดไม่รู้จะขายขาดทุนดี หรือถ้าถือต่อแล้วเป็นอย่างไร จะหนีออกจากพอร์ตติดลบได้หรือไม่ และมีโอกาสที่พอร์ตจะรอดจากวิกฤตินี้ไหม

 

ผมมีวิธีการ 2 อย่าง ที่ยึดเป็นหลักการลงทุนที่สำคัญใช้ในการรับมือกับความไม่แน่นอนต่างๆ ครับ ซึ่งเป็นวิธีที่นักลงทุนมืออาชีพทั่วโลกใช้กันและสามารถใช้ได้ผลแน่นอนครับ นั่นก็คือ Mindset การลงทุนที่ดี และการบริหารจัดการพอร์ต (Portfolio Management) 

 

เรื่องแรก การสร้าง Mindset การลงทุนให้ถูกต้อง เป็นสิ่งสำคัญมากๆ ครับ 

 

ข้อแรก “ตั้งสติ” เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักลงทุน ไม่ว่าจะเกิดวิกฤติการณ์ใดหรือตลาดหุ้นหรือสินทรัพย์ใดๆ ที่ปรับตัวร่วงแรงๆ หรือพุ่งขึ้นแรงๆ สิ่งแรกคือ ตั้งสติแล้วรีบทำการบ้านศึกษาหาข้อมูลทำความเข้าใจกับสถานการณ์ตรงหน้าก่อน เมื่อคุณเห็นข้อมูลต่างๆ แล้วว่าจะเป็นอย่างไร และศึกษาบทเรียนของวิกฤติต่างๆ เวลาที่จบลงเป็นอย่างไร ซึ่งเวลาเกิดวิกฤติการณ์ใดๆ ขึ้น จนถึงช่วงระยะเวลาหนึ่งมีจุดจบของมันและสถานการณ์ก็กลับมาสู่ภาวะปกติ 

 

ยกตัวอย่างเช่น ตลาดหุ้นที่เวลาเกิดวิกฤติการณ์ใดๆ ขึ้น สุดท้ายตลาดหุ้นกลับมาฟื้นตัวขึ้นได้และเติบโตกว่าเดิม 

 

ผมมองว่าในระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา แต่ละวิกฤติจะมีการเรียนรู้และจัดการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ มีการใช้ระยะเวลาในการคลี่คลายได้เร็วขึ้น ก็จะส่งผลให้ตลาด

หุ้นฟื้นตัวได้เร็วขึ้นเช่นกัน 

 

สำหรับ “วิกฤติสงครามการค้า” ในครั้งนี้ มาจากคนคนเดียวคือ “ทรัมป์” ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรก โลกเราเคยเกิดวิกฤติสงครามการค้ารอบแรกมาแล้ว และตลาดใช้เวลาฟื้นตัว 7 เดือน ซึ่งแตกต่างกับวิกฤติ Dot-Com และวิกฤติ Sub-prime ที่เกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจจริงๆ ทำให้หดตัวและฟื้นตัวยาก ก็จะใช้ระยะเวลาที่ยาวนานกว่าตลาดจะกลับมาได้ แต่ก็พบว่า ทุกครั้งที่เกิดวิกฤติ ตัวตลาดหุ้นก็สามารถเติบโตและทะลุนิวไฮเดิมเสมอ

 

แน่นอนว่า เราอาจจะคาดเดาไม่ได้ว่า วิกฤติสงครามการค้า 2.0 รอบนี้จะจบอย่างไร และเมื่อไร แต่สัจธรรมคือทุกวิกฤติจะมีวันจบ และสุดท้ายดัชนีก็จะเติบโตต่อไปได้เหมือนที่ผ่านๆ มา 

 

เพราะฉะนั้น ใครที่จิตใจอ่อนแอ อารมณ์อ่อนไหว ตื่นตระหนกง่ายเมื่อเห็นตลาดหุ้นแดงเถือกทั่วโลก เห็นพอร์ตตัวเองติดลบหวาดกลัวจนเทขายออกตามอารมณ์ตลาดพาไป คุณต้องปรับทัศนคติการลงทุนใหม่ คือ มีสติและควบคุมอารมณ์ของตัวเองให้คงอยู่ให้ได้ และทำการบ้านแยกแยะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก่อน 

 

ข้อห้ามสำคัญ “อย่ารีบเทขาย” สินทรัพย์โดยที่ยังไม่ได้ดูว่าสินทรัพย์ที่ถือเป็นของดีไหมและไม่ทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนะครับ อีกอย่าง อย่าเสพข่าวมากมายเกินไป เพราะจะทำให้สับสนและเกิดความกลัวพุ่งขึ้น ทำให้เกิดการใช้อารมณ์ในการตัดสินใจกับพอร์ตได้ อย่างกรณีสงครามการค้ารอบนี้ ควรดูภาพรวมใหญ่ๆและผลกระทบที่เกิดขึ้น สิ่งที่จะมีการเจรจากัน แต่ยังต้องติดตามข้อมูลข่าวสารอยู่เสมอ เพื่อดูว่า จะมีประเด็นอะไรที่ทำให้ตลาดช็อกหรือไม่ หรือทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะได้ทบทวนดูพอร์ตว่า ยังปลอดภัยหรือไม่ 

 

ข้อที่สอง การหาโอกาสที่อยู่ในวิกฤติ เมื่อคุณมองสถานการณ์ตรงหน้าออกแล้ว ก็ทำการบ้านต่อไปด้วยการมองหาโอกาสลงทุน ยึดหลักการลงทุนที่ถูกต้อง ซึ่งนักลงทุนสาย VI ที่เน้นลงทุนระยะยาว จะเลือกหุ้นพื้นฐานดีๆ ธุรกิจเติบโตได้ และราคาปรับลดลงมากแล้ว หรือวิเคราะห์หาหุ้นที่ไม่ถูกกระทบจากมาตรการภาษีต่างๆ เช่น เลือกลงทุนหุ้น Domestic Play หุ้นอุปโภคบริโภคในประเทศทั้งของจีนของสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบน้อย ขณะที่หุ้นที่เกี่ยวกับการส่งออกการนำเข้าจะได้รับผลกระทบมากก็ไม่ควรเข้าลงทุน เป็นต้น

 

ข้อที่สาม ทยอยลงทุนในช่วงที่ตลาดผันผวน เมื่อคุณเลือกหุ้นหรือสินทรัพย์ที่สามารถลงทุนได้แล้ว และมีเงินลงทุนจำนวนหนึ่ง คุณต้องวางกลยุทธ์การลงทุนด้วย เพราะในช่วงเวลาที่ตลาดมีความผันผวนขึ้นลง ยังเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงสูงอยู่ ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนที่ดี ควรทยอยลงทุนจะแบ่งไม้ ไม้ละ 20% และ 30% ค่อยๆ เพิ่มไป หรือจะใช้วิธีลงทุนแบบ DCA (ถัวเฉลี่ย) ก็จะง่ายขึ้นครับ เช่น ลงทุนทุกวันที่ 15 หรือวันที่ 30 ของเดือน ซึ่งการ DCA จะช่วยถัวเฉลี่ยให้คุณได้ราคาต้นทุนที่ดีได้ ดีกว่ามานั่งจับจังหวะตลาดรายวัน ซึ่งยากที่จะคาดเดาได้ถูกทุกครั้งครับ

 

ถ้าถามว่าแล้วจะเริ่มต้นลงทุนตอนไหนดี ควรจะรอให้จบวิกฤติค่อยลงทุนดีไหม ผมตอบตรงๆ เลยครับว่า ไม่ดี! เพราะโดยปกติแล้ว ถ้ารอให้จบวิกฤติแล้วคุณค่อยเริ่มลงทุน มักจะได้ผลตอบแทนที่ไม่ดีนัก เมื่อเทียบกับคุณเริ่มลงทุน ณ วันแรกหรือช่วงแรกๆ ที่เริ่มเกิดสงคราม เพราะเป็นช่วงที่ตลาดตกมากที่สุด จะเป็นโอกาสที่เหมาะสำหรับทยอยลงทุน การใส่เงินลงทุนไปเรื่อยๆ จะช่วยให้ได้ต้นทุนเฉลี่ยที่ดี หรือช่วงระหว่างทำสงคราม ก็ยังเป็นจังหวะที่ทยอยเข้าลงทุนได้ เพราะหลังจากที่ตลาดรับรู้ข่าวร้ายไปหมดแล้ว ตลาดจะเริ่มทรงตัว ภายใต้มุมมองคาดการณ์ว่า มีโอกาสจะเห็นจุดจบของสงครามหรือวิกฤติในข้างหน้า ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป สถานการณ์มาถึงจุดจบ ตลาดหุ้นก็ฟื้นตัวกลับมา เท่ากับคุณลงทุนในช่วงที่ราคาถูกมากๆ ทำให้มีโอกาสทำผลตอบแทนได้ดีกว่าการที่จะรอลงทุนตอนหลังวิกฤติจบ และตลาดฟื้นตัวแล้ว

 

หากวาง Mindset การลงทุนให้ถูกต้อง จะช่วยให้คุณมีหลักยึดในจิตใจที่มั่นคงขึ้นครับ และรู้ว่า เมื่อเกิดวิกฤติขึ้น จะคว้าโอกาสลงทุนอย่างไร ให้พอร์ตเติบโตได้ 

 

เพราะฉะนั้น ในเวลาที่วิกฤติเริ่มต้นขึ้น คุณต้องตั้งสติและทำการบ้านครับ การหาโอกาสลงทุนที่ดี อย่าพยายามรอจนวิกฤติจบ ผมยืนยันว่า ควรซื้อช่วงที่เกิดวิกฤติหรือระหว่างวิกฤติจะดีกว่า และให้ค่อยๆ ทยอยซื้อเป็นไม้ๆ หรือ DCA ไปเรื่อยๆ เก็บใส่พอร์ตลงทุน คุณไม่ต้องรีบร้อน ขอย้ำว่า อย่าใส่เงินลงทุนทั้งก้อนหรือลงไม้เดียวใหญ่ๆ นะครับ 

 

เรื่องที่สอง การบริหารจัดการพอร์ต (Portfolio Management) เป็นภาคปฏิบัติจริงๆ โดยจะเอา mindset ที่เรียนรู้มาปฏิบัติจริง ซึ่งนักลงทุนมือใหม่มักจะเครียดต่อการลงทุนและพอร์ตมีปัญหา เพราะอาจจะบริหารจัดการพอร์ตไม่ได้ดีหรือไม่ได้มีการวางกลยุทธ์ลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์เท่าที่ควร ทำให้พอร์ตไปไม่ถึงเป้าหมายเสียที

 

การบริหารจัดการพอร์ต คือ การจัดสรรเงินลงทุนก้อนหนึ่งให้กระจายลงทุนในทรัพย์สินต่างๆ ให้หลากหลายประเภทและหลายประเทศ เพื่อช่วยลดความผันผวนของพอร์ต หรือที่จะได้ยินกันบ่อยๆ ว่า จัด Asset Allocation ให้สมดุล ซึ่งนักลงทุนจะใช้เทคนิคการจัดสัดส่วนแบบ Core&Satellite ก็ได้ 

 

ผมจะแนะนำนักลงทุนมือใหม่เสมอว่า หากต้องการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนให้เติบโตในระยะยาว คุณควรจัดสัดส่วนของพอร์ต Core (พอร์ตหลัก) และ Satellite (พอร์ตรอง) ก่อน เพราะปัญหาที่พบในนักลงทุนมือใหม่ คือ เมื่อเห็นเพื่อนลงทุนเฮละโลไปตลาดไหน ประเทศใดหรือหุ้นกลุ่มไหนก็เทเงินลงทุนตามๆ กันไป ซึ่งเมื่อเกิดวิกฤติขึ้น เงินก้อนนั้นก็ได้รับผลกระทบจากตลาดขาลงเต็มๆ ดังนั้น การจัดสัดส่วนพอร์ต ถือเป็นตัวช่วยกระจายความเสี่ยงให้สมดุลและจะทำให้คุณสบายใจขึ้นได้ เรามาดูกันว่า พอร์ตหลักพอร์ตรองลงทุนอะไรได้บ้าง 

 

พอร์ตหลัก (Core) ถือเป็นพอร์ตที่ช่วยป้องกันความผันผวนของตลาดไม่ว่าจะ เศรษฐกิจดีหรือแย่ สินทรัพย์ที่ถืออยู่ในพอร์ตนี้ ยังสามารถทำผลตอบแทนได้เรื่อยๆ อาจจะไม่ได้สูงมากหวือหวาแต่ปลอดภัยเมื่อมีภัยมา เพราะเป็นพอร์ตที่มีทรัพย์สินหลากหลายประเภท หลักๆ จะลงทุนหุ้น (ส่วนใหญ่จะเป็นดัชนีตลาด หรือหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว) พันธบัตร ทองคำ ซึ่งจะช่วยกระจายความเสี่ยง เมื่อสินทรัพย์ตัวใดตัวหนึ่งปรับตัวลงแรงจากสถานการณ์เลวร้าย แต่ก็ยังมีสินทรัพย์ตัวอื่นที่ไม่ได้รับผลกระทบ ทำให้พอร์ตยังไปต่อได้ และหากสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติหรือวิกฤติจบ ตลาดฟื้นตัว สินทรัพย์ตัวนั้นก็จะฟื้นกลับมาเติบโตต่อไป

 

พอร์ตรอง (Satellite) จะเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่เติบโตสูงเพื่อบูสต์ผลตอบแทนให้เพิ่มมากขึ้นในยามตลาดขาขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นรายตัวของประเทศที่กำลังพัฒนา อย่างหุ้นจีน หรือหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมหรือธีมเมกะเทรนด์ อย่างเช่น กลุ่ม AI กลุ่มเฮลท์แคร์ เป็นต้น

 

โดยปกติผมจะแนะนำให้ลูกค้าวางพอร์ตหลักให้ดี เงินลงทุนซัก 70 – 80% จะอยู่ในพอร์ตหลักนี้ ยิ่งเป็นนักลงทุนหน้าใหม่ ก็อย่าเพิ่งเน้นเสี่ยงมากครับ และอีก 20% จะอยู่ในพอร์ตรอง ลงทุนสินทรัพย์ที่เสี่ยงได้มากขึ้นแต่ก็ให้ผลตอบแทนดีกว่าพอร์ตหลัก ส่วนใหญ่จะเน้นทรัพย์สินหลายประเทศหลายอุตสาหกรรมหรือหุ้นหลายตัว พอร์ตนี้เหมาะจะหาดูว่า ในช่วงวิกฤติแบบนี้ ควรจะลงทุนอะไรดี เช่น หุ้นสหรัฐฯ ตกลงมามากๆ จะ ลองเข้าหุ้นสหรัฐฯ ไหม หรือจะเป็นหุ้นจีน เพราะไม่ว่าจะสงครามการค้ารอบนี้จะจบแบบไหน ทั้งสองประเทศนี้ก็ยังเป็นเบอร์หนึ่งเบอร์สองของโลกครับ

 

จริงๆ แล้ว ตลาดมีขึ้นมีลงเป็นเรื่องปกติ และทุกๆ การลงทุนไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์ใดๆ ล้วนมีความเสี่ยงและมีโอกาสรับผลตอบแทนทั้งนั้น ซึ่งในแต่ละปี สินทรัพย์ก็จะขึ้นและลงแตกต่างกัน หากคุณจัดพอร์ตกระจายลงทุนได้ดีพอก็จะไม่เกิดความผันผวนมากนัก แม้ในยามเกิดวิกฤติหนักๆ พอร์ตรวมติดลบก็จะไม่หนักมากเท่าตลาดลงแรงๆ ครับ 

 

สำหรับนักลงทุนมือเก่าที่ชินชา ไม่ตื่นตระหนกกับวิกฤติแล้ว แม้จะบอกว่าได้จัดพอร์ตกระจายความเสี่ยงลงทุนไว้อย่างดีและเหมาะสมแล้วก็ตาม  แต่จริงๆแล้ว คุณก็ไม่ควรประมาทหรือชะล่าใจ ยังจำเป็นต้องทำการทบทวนหลักการลงทุนและปรับพอร์ตอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการปรับพอร์ตหรือ Rebalancing เพื่อให้พอร์ตเติบโตได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ตลาด และมีความมั่นคง 

 

หลายๆ คนจะชอบคิดว่า จัดพอร์ตกระจายความเสี่ยงได้ปลอดภัยแล้ว และจะไม่ทำอะไรเลย ถือไปเรื่อยๆ รอตลาดกลับมาสู่ภาวะปกติ แบบนี้เป็นแนวคิดที่ผิดหลักการลงทุนที่ดีอย่างมากๆ ครับ การทบทวนและปรับพอร์ตยังเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำครับ เพื่อให้เงินของคุณทำงานสร้างผลตอบแทนได้อย่างเต็มที่

 

วิธีการปรับพอร์ตให้ถูกต้องถูกวิธีนั้น หลายคนยังเข้าใจผิดกันอยู่และปรับพอร์ตผิดวิธีด้วย ผมยกตัวอย่างเช่น คุณมีทรัพย์สินลงทุนในหุ้นและพันธบัตร 80% และ 20% เมื่อเห็นหุ้นตก สิ่งที่คนส่วนมากจะทำ คือ การขายหุ้นออกแล้วไปซื้อพันธบัตร เพราะเห็นว่า พันธบัตรมีความเสี่ยงต่ำกว่า ซึ่งวิธีปรับพอร์ตแบบนี้ผิดหลักการครับ 

 

หลักการปรับพอร์ตลงทุนที่ถูกต้อง คือ แม้ว่าหุ้นจะเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงจากภาวะผันผวนทั้งขึ้นและลงสูงก็ตาม แต่ถ้าเรารู้ว่า หุ้น (พื้นฐานดี) มีปรับตัวลงมาได้อีกสักพักก็จะขึ้นไปใหม่ หรือหากปรับตัวขึ้นไปแรงมากก็ปรับตัวลงได้เช่นกัน ซึ่งตอนนี้ในช่วงที่วิกฤติแบบนี้ หากจะปรับพอร์ต ควรจะดูสัดส่วนระหว่างสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น กับพันธบัตรหรือเงินสด ที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ ว่าสัดส่วนเปลี่ยนไปไหม หากพบว่าสัดส่วนมันเปลี่ยนแปลงไปจากที่ตั้งไว้ 80% และ 20% ตามลำดับ สิ่งที่ต้องทำ คือ ‘Rebalancing’ ปรับสัดส่วนให้กลับมาอยู่ที่เหมาะสม หรืออยู่ตามที่ได้ตั้งไว้นั่นเอง 

 

อย่างเช่น เมื่อตลาดหุ้นตกหนัก กระทบต่อหุ้นในพอร์ตที่เคยมีสัดส่วน 80% ตกลงมาเหลือ 72% วิธีทำก็คือ หากเราไม่ใส่เงินใหม่ลงทุนเพิ่ม ผมก็แนะนำให้ขายพันธบัตรออก  เพื่อรักษาสัดส่วน 20% เพื่อที่จะทำให้พอร์ตยังรักษาสัดส่วนลงทุนตามเป้าหมาย และเมื่อสถานการณ์ตลาดกลับสู่ภาวะปกติ เวลาหุ้นเด้งขึ้นพอร์ตคุณก็จะได้ประโยชน์เต็มๆ ถึงตอนนั้นคุณก็ต้องปรับพอร์ต ในส่วนหุ้นที่มีสัดส่วนเกิน 80% ด้วยการขายทำกำไรออกมา และนำเงินไปลงทุนในพันธบัตรหรือถือเงินสดไว้ จะทำให้สัดส่วนตรงนี้กลับมาอยู่ที่เดิม 20% นี่คือวิธีการปรับพอร์ต ’Rebalancing’ ที่ถูกต้องครับ และจะทำให้พอร์ตของคุณเติบโตด้วย 

 

ทุกวันนี้ ผมยังเห็นบางคน ปรับพอร์ต ’Rebalancing’ ผิดวิธีอยู่ครับ บางคนพอเห็นหุ้นตก (ทั้งๆ ที่เป็นหุ้นดี) กลับไปขายหุ้นนั้นออก ซึ่งในตอนช่วงที่หุ้นกลับมาขึ้น เท่ากับหุ้นที่ขายไปเสียประโยชน์ซะแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าหุ้นตก แนะนำให้กลับไปซื้อหุ้นโดยต้องเลือกหุ้นถูกหลักการด้วยนะครับ และถ้าเวลาที่หุ้นขึ้นเช่นมีข่าวดีจนทำให้หุ้นขึ้นมาได้ 10% เราอาจจะต้องขายหุ้นทำกำไร และโยกเงินกลับมาลงทุนซื้อพันธบัตรหรือถือเงินสดไว้

 

ซึ่งวิธีการปรับพอร์ต ‘Rebalancing’ แบบนี้ จะช่วยลดอารมณ์ของเราได้ดีครับ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในคนส่วนมากจะปรับพอร์ตตามอารมณ์ เวลาเห็นหุ้นตก ความกลัวครอบงำก็ตัดสินใจขายหุ้นออก แล้วคิดว่า ค่อยมาซื้อใหม่ตอนหุ้นขึ้น นี่คือการปรับตามอารมณ์ ซึ่งจะทำให้ได้ผลตอบแทนน้อยลง

 

ผมขอสรุปวิธีการปรับพอร์ตให้ถูกต้องตามหลักการ ก็คือ เมื่อทรัพย์สินที่มีความผันผวนสูงปรับตัวลดลงมา คุณควรต้องซื้อเพิ่มเพื่อรอวันที่ตลาดกลับภาวะปกติ เมื่อได้กำไรตอนนั้นค่อยขายออกมาครับ หากคุณทำตามวิธีนี้แล้ว พอร์ตของคุณจะมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

 

สำหรับใครที่ยังกลัวหรือไม่กล้าจะเข้าลงทุนในช่วงตลาดลงแรงๆ หรือในยามที่กำลังเกิดวิกฤติตอนนี้ 

 

ผมขอบอกว่า โอกาสทองมาถึงแล้วจริงๆ เพราะตอนนี้ ในตลาดมีของดีราคาถูกให้เลือกเหมือนกับห้างสรรพสินค้าลดราคาแรงๆ ครับ 

 

การ Rebalance พอร์ต แม้แต่นักลงทุนชื่อดังของโลก “ Warren Buffett” ก็ยังต้องทำเช่นกัน ช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีข่าวว่าคุณปู่ขายหุ้นออกมามากตลอดปีที่แล้ว แต่ตอนนี้ก็ยังมีหุ้นอยู่ในพอร์ต 50% และถือเงินสดอีก 50% พร้อมจะลงทุนเพิ่มในสินทรัพย์ดีๆ ครับ 

 

แม้แต่นักลงทุนทั่วโลกก็ไม่ได้อยู่นิ่งกับการเฝ้ารอตลาดฟื้นกลับมาแน่นอน เพราะทุกคนมองเห็นโอกาสการซื้อสินทรัพย์ราคาถูกในช่วงที่ตลาดอยู่ดัชนีความกลัวพุ่ง มากกว่าดัชนีความโลภ

 

คุณปู่ Buffett แจกปรัชญาการลงทุนที่ท่านยึดถือเหนียวแน่นมาตลอดหลายทศวรรษ นั่นก็คือ จงกลัวในยามที่คนอื่นโลภ และโลภในยามที่ทุกคนกลัว

 

“Be fearful when others are greedy, and greedy when others are fearful.”

 

พูดง่ายๆ ก็คือ ​“อย่าตามฝูงชนแบบไม่ลืมหูลืมตา”

เวลาใครๆ โลภอย่าพุ่งตามเข้าไปโดยไม่คิด เพราะราคาอาจจะแพงเกินจริงแล้ว

แต่ถ้าตลาดเริ่มกลัว ขายหุ้นกันราวกับโลกจะแตก นั่นแหละ! คือช่วงเวลาที่ของดีอาจหลุดมาในราคาถูกให้เราได้ช้อน 

​​

สิ่งที่ทำให้คุณปู่ Buffett ลงทุนแล้วประสบความสำเร็จได้เป็นระยะเวลายาวนานได้นั้น ไม่ใช่เพราะปู่มีลูกแก้ววิเศษอะไรเลย แต่เพราะเขามี ‘Mindset ระยะยาว’ ที่ช่วยให้มองข้ามความกลัวในระยะสั้นไปได้

สิ่งที่ทำให้คุณปู่ Buffett เข้าใจดีว่ามูลค่าที่แท้จริงของบริษัทไม่ได้หายไปในชั่วข้ามคืน แค่คนส่วนใหญ่ตื่นกลัวเกินเหตุ!

นั่นคือเหตุผลที่ คุณปู่ Buffett กล้าซื้อหุ้นตอนตลาดกลัวสุดขีด เพราะเขารู้ว่านี่คือ ‘ช่วงลดราคา’ ของหุ้นดีๆ ครับ 

 

สำหรับคนที่ตั้งเป้าหมายการลงทุนที่ชัดเจน รู้ว่าลงทุนเพื่ออะไร เลือกสินทรัพย์ให้เหมาะกับระยะเวลา พร้อมกับมี Mindset ระยะยาว วางแผนการลงทุนให้ดีแล้วใช้กลยุทธ์ที่ถูกต้อง ปล่อยให้เงินทำงานแทนคุณ พอร์ตของคุณเติบโตแน่นอนครับ และคุณจะภาคภูมิใจที่เป็นหนึ่งในนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จในการลงทุนครับ 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising