วันนี้ (1 พฤษภาคม) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2568 โดยในช่วงเช้าได้มีพิธีทำบุญตักบาตร และการเคลื่อนริ้วขบวนเทิดพระเกียรติและขบวนของผู้ใช้แรงงานจากแยก จปร. มายังลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
ในโอกาสนี้ ผู้แทนกลุ่มผู้ใช้แรงงานได้ยื่นข้อเรียกร้องเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2568 จำนวน 9 ข้อต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน อาทิ การเร่งรัดรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98, การจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงลูกจ้าง, การยกเว้นภาษีเงินได้ก้อนสุดท้ายเมื่อพ้นสภาพลูกจ้าง, การปรับปรุงสิทธิประโยชน์ประกันสังคมหลายประการ
เช่น เพิ่มฐานบำนาญขั้นต่ำเป็น 5,000 บาท คงสิทธิรักษาพยาบาลตลอดชีวิต และขยายอายุผู้ประกันตนถึง 70 ปี, การบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองลูกจ้างเหมาค่าแรงอย่างเคร่งครัด, การยกระดับกองความปลอดภัยแรงงานเป็นกรม, การแก้ไขกฎกระทรวงฯ เกี่ยวกับค่าล่วงเวลาของลูกจ้างรายเดือน (ซึ่ง รมว.แรงงาน เคยรับปากจะดำเนินการ) และการตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้อง
พิพัฒน์กล่าวในฐานะผู้แทนรัฐบาลและ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขอบคุณผู้ใช้แรงงานที่เป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมยืนยันจะเดินหน้านโยบายดูแลแรงงานอย่างรอบด้าน และได้มอบของขวัญเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ เป็นโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ‘ทุนอาชีพ’ วงเงินรวม 120,000 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงิน 100,000 ล้านบาทสำหรับลูกจ้างผู้ประกันตน เพื่อพัฒนาอาชีพหรือสร้างธุรกิจใหม่ และวงเงิน 20,000 ล้านบาทสำหรับสถานประกอบการ เพื่อเสริมสภาพคล่องและรักษาการจ้างงาน ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำเริ่มต้นเพียง 2.35% ต่อปี
ส่วนประเด็นการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานยอมรับว่า “ไม่ค่อยอยากจะตอบเพราะเจอโรคเลื่อนตลอดเวลา” เนื่องจากมีความเห็นที่แตกต่างกันในคณะกรรมการไตรภาคี (นายจ้าง ลูกจ้าง รัฐบาล) และต้องใช้เวลาศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่น่าหนักใจ
พิพัฒน์ยอมรับว่า ผิดหวังที่ไม่สามารถประกาศเรื่องนี้เป็นของขวัญวันแรงงานได้ตามที่ตั้งใจไว้หลังการประชุมเมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามยืนยันว่าจะยังคงพยายามผลักดันเรื่องนี้ให้สำเร็จตามที่ได้รับปากนายกรัฐมนตรีไว้ โดยคาดว่าภายในเดือนพฤษภาคม 2568 น่าจะมีคำตอบที่ชัดเจนออกมา