×

ASCO จับมือ ViewTrade ปลดล็อกโบรกเกอร์สู่มาตรฐานโลก ลดต้นทุนและภาระภาษี หนุนรายย่อยลงทุนต่างประเทศง่ายขึ้น

29.04.2025
  • LOADING...
ASCO และ ViewTrade ร่วมมือยกระดับโบรกเกอร์ไทยสู่สถานะ Qualified Intermediary เพื่อเพิ่มศักยภาพการลงทุนต่างประเทศ

กระแสการกระจายการลงทุนไปต่างประเทศของนักลงทุนไทยยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่า ในช่วงปี 2013-2023 นักลงทุนไทยถือครองหุ้นสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 6.8 เท่า แตะระดับ 1.98 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 6.7 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวยังถือว่าไม่สูงนักเมื่อเทียบกับศักยภาพของตลาด ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากอุปสรรคและความซับซ้อนในการลงทุนข้ามพรมแดน

 

ViewTrade Holding Corporation บริษัทหลักทรัพย์และผู้ให้บริการโซลูชันเทคโนโลยี B2B ชั้นนำระดับโลก ที่มีประสบการณ์กว่า 25 ปี ในการสนับสนุนสถาบันการเงินกว่า 300 แห่งใน 30 ประเทศทั่วโลก ได้เล็งเห็นถึงโอกาสและเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับอุตสาหกรรมหลักทรัพย์ไทย โดยล่าสุดได้ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญกับ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO)

 

Laksh Gangwani กรรมการผู้จัดการ ViewTrade เปิดเผยว่า “เป้าหมายของเราคือการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคสำคัญที่นักลงทุนไทย โดยเฉพาะรายย่อย ต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นความซับซ้อนของกระบวนการ, ต้นทุนที่สูง, ข้อจำกัดด้านข้อมูล, ประสบการณ์ใช้งานที่กระจัดกระจายผ่านหลายแอปพลิเคชัน และข้อจำกัดในการซื้อหุ้นราคาแพงอย่าง NVIDIA หรือ Apple”

 

เทคโนโลยีหลักของ ViewTrade ยังช่วยให้โบรกเกอร์ ลดต้นทุนในการพัฒนาและดำเนินงานด้านการลงทุนต่างประเทศได้ถึง 70% เมื่อเทียบกับการสร้างระบบเอง และสามารถ ออกให้บริการได้ภายใน 4-6 เดือน เทียบกับ 2-3 ปีหากพัฒนาเอง

 

ด้าน พิเชษฐ สิทธิอำนวย นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) เปิดเผยว่า หากโบรกเกอร์ไทยได้สถานะ QI จะช่วยให้การให้บริการลูกค้าสำหรับการไปลงทุนต่างประเทศง่ายขึ้น แม้ว่าปัจจุบันหลายโบรกเกอร์จะให้บริการอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องของการเทรด แต่ยังขาดอีกหลายส่วน เช่น การดำเนินการเรื่องภาษีให้ถูกต้อง และการยืนยันตัวตนของลูกค้า

 

“ณ ปัจจุบัน โดยธรรมชาติลูกค้าก็อยากจะมีทางเลือกนอกจากแค่ตลาดหุ้นไทย แต่เราไม่ได้บอกว่าจะทิ้งตลาดหุ้นไทย”

 

จับมือ ASCO ปูทางสู่ Qualified Intermediary (QI)

 

ความร่วมมือกับ ASCO ไม่ใช่เพียงการนำเสนอเทคโนโลยี แต่เป็นการเปิดตัว โครงการสำคัญ 2 ระยะ เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมหลักทรัพย์ไทยสู่ระดับสากล

 

  • ระยะที่ 1: สนับสนุน ASCO และอุตสาหกรรมฯ ในการผลักดันให้มาตรฐานการรู้จักลูกค้า (KYC) ของไทย ได้รับการยอมรับจากกรมสรรพากรสหรัฐฯ (IRS) ซึ่งถือเป็นบันไดขั้นแรกที่สำคัญ
  • ระยะที่ 2: สนับสนุนบริษัทหลักทรัพย์ไทยให้สามารถยื่นขอและได้รับสถานะ ‘ตัวกลางที่มีคุณสมบัติเหมาะสม’ หรือ Qualified Intermediary (QI) จาก IRS ได้สำเร็จ

 

ทำไมสถานะ QI ถึงสำคัญต่อโบรกเกอร์ไทย?

 

ผู้บริหารของ ViewTrade อธิบายว่า สถานะ QI นี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะปัจจุบันโบรกเกอร์ไทยที่ยังไม่มีสถานะ QI ต้องเผชิญกับความท้าทายมหาศาลในการให้บริการลงทุนในสหรัฐฯ

 

  1. ภาระเอกสารและต้นทุนภาษี: ต้องจัดการเอกสารภาษี (เช่น W-8BEN) จำนวนมหาศาลสำหรับลูกค้าทุกรายที่มีรายได้จากสหรัฐฯ ซึ่งหากมีลูกค้าหลักแสนราย อาจหมายถึงเอกสารนับล้านฟอร์ม เพราะลูกค้าบางรายต้องใช้เอกสารเกิน 1 ฉบับ ที่ต้องดำเนินการภายในเวลาจำกัด ทำให้เกิดต้นทุนการดำเนินงานด้านภาษีที่สูงมาก อาจถึงหลักหลายล้านบาทต่อปี
  2. ความเสี่ยงด้านค่าปรับ: หากยื่นข้อมูลภาษีล่าช้าหรือไม่ถูกต้อง โบรกเกอร์สหรัฐฯ ที่เป็นคู่ค้าจะถูก IRS ปรับ และมักจะส่งผ่านค่าปรับนั้นมายังโบรกเกอร์ไทย (มีกรณีตัวอย่างโบรกเกอร์ในไต้หวันที่ถูกปรับซ้ำซ้อนรวมกว่า 9 แสนดอลลาร์สหรัฐ)
  3. ความสอดคล้องกับ PDPA: การต้องส่งข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าจำนวนมาก (ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทร) ให้แก่ IRS อาจมีความเสี่ยงที่จะขัดต่อ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ของไทย
  4. ความซับซ้อนในการดำเนินงาน: โบรกเกอร์มักต้องทำงานกับผู้ให้บริการ (Vendor) หลายราย (5-6 ราย) สำหรับระบบงานส่วนต่างๆ ตั้งแต่หน้าบ้าน หลังบ้าน การเก็บรักษาหลักทรัพย์ ไปจนถึงการซื้อขายในแต่ละประเทศ ทำให้เกิดความซับซ้อนและไม่มีประสิทธิภาพ

 

การที่โบรกเกอร์ไทยได้รับสถานะ QI ซึ่ง ViewTrade จะเข้ามาช่วยสนับสนุนด้วยระบบและกระบวนการที่ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดของสหรัฐฯ จะเป็นการ ‘ปลดล็อก’ ปัญหาเหล่านี้ 

 

เช่น ลดภาระภาษีเปลี่ยนจากการยื่นเอกสารรายบุคคล เป็นการรายงานแบบรวมกลุ่ม (Pooled Reporting) ลดจำนวนฟอร์มจากหลักล้านเหลือเพียงไม่กี่ฟอร์มต่อปี ลดการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าจำนวนมาก รวมทั้งลดการตรวจสอบ หลังจากได้รับการยอมรับและความไว้วางใจจากหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising