วานนี้ (25 เมษายน) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยนิตยสารฉลาดซื้อ เปิดเผยผลทดสอบสีในเครื่องดื่มชานมไทย เพื่อเฝ้าระวังสินค้าด้วยการทดสอบเพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของสินค้า และคุ้มครองผู้บริโภค
ดำเนินการเก็บตัวอย่างเครื่องดื่มชานมไทย หรือ Thai Milk Tea จากร้านเครื่องดื่มแบรนด์ดัง จำนวน 15 ตัวอย่างในเดือนมีนาคม 2568 ประกอบด้วย ชาตรามือ (ChaTraMue), คาเฟ่ อเมซอน (Café Amazon), ออล คาเฟ่ (All Café), พันธุ์ไทย (Punthai), อินทนิล (Inthanin Coffee), ทรู คอฟฟี่ True Coffee, Fire Tiger (เสือพ่นไฟ), อาริกาโตะ (ARIGATO), โอชายะ (Ochaya), คัดสรร (Kudsan), กาก้า (GAGA), การัน (Karun), ฉันจะกินชาเย็นทุกวัน, ปังชา (Pang Cha) และ กูโรตีชาชัก
ส่งวิเคราะห์หาปริมาณสีสังเคราะห์ (สีที่ได้รับอนุญาตให้ใช้กับอาหารได้) โดยห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 17025 พบว่า ผลการทดสอบ มีดังนี้
1. พบสีสังเคราะห์ในทุกตัวอย่าง (เป็นสีที่อนุญาตให้ใช้กับอาหาร)
2. พบสีสังเคราะห์ตั้งแต่ 1-4 สี ได้แก่ Sunset yellow FCF, Tartrazine, Ponceau 4R และ Carmoisine or Azorubine
3. พบสีสังเคราะห์ Sunset yellow FCF ทุกตัวอย่าง ปริมาณน้อยที่สุดคือ 7.90 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และปริมาณสูงสุดที่พบคือ 291.41 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
4. เครื่องดื่มชานมไทยที่พบสีสังเคราะห์ Sunset yellow FCF สูง 3 อันดับแรกคือ 1. ทรู คอฟฟี่ ปริมาณ 291.41 (มก./กก.) 2. กูโรตีชาชัก ปริมาณ 250.20 (มก./กก.) 3. ปังชา ปริมาณ 222.26 (มก./กก.)
การเฝ้าระวังคุณภาพมาตรฐานของเครื่องดื่มชาไทยมีความจำเป็นในปัจจุบัน เพราะกระแสความนิยมบริโภคที่มากขึ้น ขณะที่การกำกับควบคุมคุณภาพของการผสมสีในชายังมีปัญหาทั้งเรื่องความชัดเจนเรื่องมาตรฐานเกณฑ์ควบคุมสีในชา ปัญหาการแสดงฉลากและมีผลต่อการพิจารณาเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย
ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ ที่ปรึกษานิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงอันตรายของวัตถุเจือปนอาหารสีสังเคราะห์ว่า “ไม่มีคำว่าปลอดภัยในทางพิษวิทยาของสารเคมีที่เข้าสู่ร่างกายมนุษย์ มีแต่คำว่าเสี่ยงมากหรือเสี่ยงน้อย ยอมรับได้หรือไม่ที่จะเสี่ยงกินสารเจือปนที่ไม่ใช่สารอาหาร”
ทั้งนี้ มีข้อแนะนำสำหรับการเลือกชาปรุงสำเร็จจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา คือ 1. เลือกสินค้าที่มีเลข อย. 2. อ่านฉลากผลิตภัณฑ์ กรณีที่มีการใช้สีจะแสดงคำว่า สีสังเคราะห์ หรือสีธรรมชาติ (INS…หรือชื่อของสี) และ 3. เลือกเครื่องดื่มที่หลากหลายเพื่อลดการได้รับสีผสมอาหารชนิดเดิมซ้ำๆ
อ่านผลทดสอบสีในชาได้ที่: https://chaladsue.com/articles/4755