×

เจาะ 5 ประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนวาระการเปลี่ยนแปลงของผู้นำองค์กรอย่างยั่งยืน

25.04.2025
  • LOADING...
sustainable-leadership-transformation

ภูมิทัศน์ทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบันทำให้ผู้นำทั่วโลกต้องเผชิญกับความท้าทายในการขับเคลื่อนการเติบโตขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงวิธีการทำงานให้มีประสิทธิภาพ การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ หรือแม้กระทั่ง การยกระดับทักษะของพนักงาน ซึ่งหากพวกเขานิ่งเฉย หรือล้มเหลวที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จำเป็นเหล่านี้ แน่นอนว่าผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือ ต้นทุนที่ผลกระทบต่อภาพลักษณ์ ความไว้วางใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และส่วนแบ่งการตลาด 

เมื่อเร็วๆ นี้ 

 

บทความของ PwC ภายใต้ชื่อ ‘What’s important to the transformation leader in 2025’ ได้นำเสนอห้าประเด็นที่จะช่วยให้ผู้นำองค์กรสามารถจัดลำดับความสำคัญของบุคลากร กระบวนการ และโครงสร้างพื้นฐานให้ทำงานอย่างสอดประสานกัน นำไปสู่การขับเคลื่อนวาระการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างคล่องตัวและยั่งยืนมากขึ้น ดังต่อไปนี้


 

  1. กลยุทธ์และการเติบโต: ขับเคลื่อนความคล่องตัวเพื่อเพิ่มผลผลิต

 

แม้ว่าบ่อยครั้งที่ความผันผวนของสภาพแวดล้อมจะนำไปสู่การมุ่งเน้นผลลัพธ์ระยะสั้น แต่อย่าลืมว่าผู้นำองค์กรมีบทบาทสำคัญในการจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่สำคัญที่สุด ซึ่งนั่นก็คือผลลัพธ์ที่ยั่งยืน ดังนั้น การยอมรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ อย่างต่อเนื่องจะช่วยให้ผู้บริหารมีความคล่องตัว และสามารถจัดการกับปัญหาที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ความสำคัญมากที่สุด ทั้งนี้ ผู้บริหารควรต้องระบุวัตถุประสงค์และตำแหน่งของธุรกิจในห่วงโซ่คุณค่า รวมถึงกำหนดความท้าทายที่บริษัทต้องการแก้ไขและสร้างคุณค่าที่ชัดเจน อีกทั้งนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (generative artificial intelligence: GenAI) มาใช้ เพื่อมอบประสบการณ์ที่ลูกค้าต้องการ และทำงานร่วมกับผู้บริหารฝ่ายทรัพยากรบุคคลเพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงให้กับทั้งผู้นำและพนักงาน นอกจากนี้ การใช้บริการด้านการจัดการธุรกิจ (managed services) ก็อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยเพิ่มความคล่องตัวให้กับองค์กร


 

  1. เทคโนโลยี: ปฏิรูปรูปแบบธุรกิจผ่านนวัตกรรมดิจิทัล

 

การปฏิรูปรูปแบบธุรกิจ มักหมายถึงการลงทุนทางเทคโนโลยีและการเพิ่มทักษะดิจิทัลให้กับพนักงาน แต่การทำงานร่วมกันของฝ่ายต่างๆ เช่น การพัฒนากลยุทธ์ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบคลาวด์ร่วมกับผู้บริหารฝ่ายข้อมูล หรือการสำรวจเครดิตด้านการวิจัยและพัฒนาร่วมกับผู้บริหารฝ่ายภาษีเพื่อแสวงหาโอกาสในการจัดหาเงินทุนสำหรับการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่สำคัญ และการทำงานร่วมกับผู้บริหารฝ่ายความเสี่ยงเพื่อระบุความเสี่ยงใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เป็นต้น จะช่วยให้ส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมโยงของการทำงานร่วมกันภายในองค์กร อีกทั้งยังช่วยให้ผู้บริหารสามารถรับมือกับความท้าทายต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที


 

  1. ประสบการณ์ของลูกค้า: ยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าและพนักงาน

 

การเชื่อมโยงประสบการณ์ของลูกค้าและพนักงาน สามารถเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรสามารถสร้างประสบการณ์ที่โดดเด่นและสร้างความแตกต่างในตลาด อีกทั้งช่วยเสริมสร้างความภักดีต่อแบรนด์ในระยะยาว อย่างไรก็ดี ผู้บริหารจะต้องทำงานร่วมกับผู้บริหารฝ่ายการตลาด และฝ่ายทรัพยากรบุคคล เพื่อพัฒนารูปแบบการทำงานที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางโดยเริ่มตั้งแต่กลยุทธ์และวัตถุประสงค์ขององค์กร และอย่าลืมว่าประสบการณ์ที่ดีของลูกค้าไม่ได้ขึ้นอยู่กับการทำให้พวกเขามีความสุขเพียงอย่างเดียวแต่ต้องเข้าใจความรู้สึกของพนักงานและจุดที่พวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า และเสริมสร้างให้พนักงานใช้วิธีการที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลในการปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง


 

  1. กลยุทธ์และความพร้อมในการทำดีล: แสวงหาโอกาสในการควบรวมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง

 

การเพิ่มประสิทธิภาพพอร์ตโฟลิโอเชิงรุก ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่รวดเร็วยิ่งขึ้น และยังช่วยให้ผู้บริหารสามารถตัดสินใจเชิงกลยุทธ์เกี่ยวกับรูปแบบการดำเนินงาน การลงทุนของธุรกิจ และกระบวนการจัดทำมาตรฐาน ทั้งนี้ จากการศึกษาของ PwC พบว่า การสร้างสมดุลระหว่างความสามารถในการทำกำไรอย่างยั่งยืนกับการเติบโตในระยะยาวควรพิจารณาถึงการควบรวมกิจการ (mergers and acquisitions) การขายกิจการ โครงสร้างองค์กร และกระบวนการดำเนินงาน ซึ่งการปรับปรุงพอร์ตโฟลิโอเชิงรุกนั้นต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของทีมบริหารหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็น CEO ผู้บริหารฝ่ายการเงิน ทีม M&A และทีมพัฒนาธุรกิจ เป็นต้น


 

  1. ความยั่งยืน: เปลี่ยนเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศให้เป็นการลงมือปฏิบัติ

 

ในยุคที่ลูกค้าและพนักงานให้ความสนใจต่อแบรนด์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การพิจารณาการลงทุนด้านสภาพภูมิอากาศไม่ใช่แค่สิ่งจำเป็นทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวที่สร้างความแตกต่างที่สำคัญให้กับธุรกิจ ด้วยเหตุนี้ ผู้บริหารจึงควรมองหาโอกาสในการฝังกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนไว้ในกระบวนการ วัฒนธรรม และการดำเนินงานประจำวัน และมีส่วนร่วมในการอภิปรายเกี่ยวกับมูลค่าทางธุรกิจในระยะยาวที่ความยั่งยืนส่งมอบให้ ทั้งนี้ ควรเริ่มต้นด้วยวิธีที่ผู้นำและแผนกต่างๆ ในองค์กรได้คิดและดำเนินการเกี่ยวกับความคิดริเริ่มด้านสภาพภูมิอากาศ และพิจารณาว่าองค์กรจะสามารถร่วมมือกันสร้างมาตรฐานและกรอบการทำงานในทีมต่างๆ หรือทำงานร่วมกับฟังก์ชันอื่นๆ เพื่อสร้างการวัดและการติดตามบนคลาวด์ รวมถึงการปฏิบัติตามข้อกำหนดในการรายงานของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้อย่างไร
                                                                                                                                         

 

ภาพ: mathisworks / Getty Images                                                                                                                                           

อ้างอิง: 

  • What’s important to the transformation leader in 2025, PwC
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising