วันนี้ (24 เมษายน) ที่อาคารรัฐสภา ศิริกัญญา ตันสกุล สส. แบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะหัวหน้าทีมนโยบายเศรษฐกิจของพรรค กล่าวถึงกรณีที่ พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวถึงการศึกษาความเหมาะสมในโครงการลงทุน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ วงเงินไม่น้อยกว่า 500,000 ล้านบาท เพื่อประคองการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จากประมาณการณ์เดิม ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3
ศิริกัญญาระบุว่า รัฐบาลยังไม่ได้ระบุที่มาของเงิน 5 แสนล้านบาทอย่างชัดเจน ว่าจะกู้หรือไม่ หลังจากที่พิชัยพูดเรื่องตัวเลข 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นแพ็กเกจในการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน ซึ่งส่วนตัวมีความเห็นว่า หากกระทรวงการคลังใช้เม็ดเงินในงบประมาณปี 2568 ที่เตรียมไว้สำหรับทำดิจิทัลวอลเล็ต 1.5 แสนล้านบาท มาใช้ด้วย ถ้าจะกู้จริงก็น่าจะกู้น้อยลง ความเป็นจริงอาจจะไม่ต้องกู้เลยก็ได้ เพราะเรามีเม็ดเงินเหลือจากดิจิทัลวอลเล็ต 1.5 แสนล้านบาทนี้แล้ว ถ้าจัดงบประมาณปี 2568 มาอีกสักรอบอาจจะได้มาสัก 5 หมื่น – 1 แสนล้านบาท
“เงินก้อนใหม่ที่สำคัญสามารถจัดใหม่ได้เลยคือ งบประมาณ ปี 2569 ที่กำลังจะเข้าสู่สภาฯ ตอนนี้กำลังรับฟังความคิดเห็นอยู่ มีกำหนดจะกลับเข้าไปให้ ครม.เห็นชอบ และส่งมาที่สภาฯ สามารถจัดใหม่ได้เลย เตรียมเม็ดเงินสำหรับที่จะใช้ในการพยุงเศรษฐกิจในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอยหรือชะลอตัวอันเนื่องมาจากสงครามทางการค้า หากจัดใหม่ในได้ 3 แสนล้านบาทก็ไม่จำเป็นที่จะต้องกู้ จะได้ไม่ถึงอย่างไร เราก็เรียกร้องให้รัฐบาลเอา พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2569 กลับไปปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของเศรษฐกิจ หากจะต้องเข้าสภาฯ ช้าไปเล็กน้อย 1-2 สัปดาห์ เราคิดว่าสภาไม่มีปัญหาที่จะใช้เวลาลดลงในการพิจารณาชั้นกรรมาธิการ”
ศิริกัญญากล่าวต่อไปว่า ยากที่จะบอกว่าเงิน 5 แสนล้านบาท จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ เพราะยังไม่ระบุรายละเอียดว่าจะใช้ทำอะไร เรามีประสบการณ์มาแล้ว หากเลือกวิธีการกระตุ้นผิดผลจะไม่เกิดต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเช่น กรณีจากเงินหมื่น ครั้งแรกใช้เม็ดเงิน 1.45 แสนล้านบาท แต่ไม่ทำให้ GDP โตขึ้นอย่างที่รัฐบาลได้เคยสัญญาไว้ วิธีการจึงสำคัญมากว่า 5 แสนล้านบาทจะเอาไปกระตุ้นด้วยวิธีการใด ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีทางที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้
รัฐบาลบอกอีกว่า อยากจะกระตุ้นให้กลับไปเป็นตามเป้าคือ 3% ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก จากที่ IMF ประเมิน ต้องใช้เม็ดเงินมากกว่า 5 แสนล้านบาทแน่ แต่ถ้าประคองให้อยู่ในระดับ 2% นิดๆ เงิน 5 แสนล้านบาทคงทำได้แน่นอน
“เราไม่สามารถเชื่อใจรัฐบาลได้ว่า จะกู้แล้วไม่เอามาแจกเหมือนเดิม ต้องใช้พลังจากฝั่งประชาชนและฝ่ายค้านที่จะกระตุ้นเตือนรัฐบาลว่า ก่อนที่จะคิดเรื่องกู้ หรือขยายเพดานหนี้สาธารณะ ช่วยประกาศให้ชัดเจนกับพวกเราก่อนว่า ตอนนี้รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินเรื่องใด หากจะเอาไปเยียวยาจะเยียวยาด้วยวิธีการใดเรื่องใด หากกระตุ้นเศรษฐกิจจะกระตุ้นเรื่องการบริโภคหรือการลงทุนด้วยวิธีการใด เราเชียร์เต็มที่หากรัฐบาลอยากได้งบประมาณไปใช้ในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ต้องทำแบบนี้เท่านั้น เราถึงจะไว้วางใจให้กู้เงินเพิ่ม หรือขยายเพดานหนี้สาธารณะ” ศิริกัญญาระบุ
แนะรัฐบาลบอกตรงๆ ทำไมสหรัฐฯ เลื่อนนัดเจรจา
ศิริกัญญายังกล่าวถึงกรณีมีการเลื่อนนัดหมายเจรจามาตรการกำแพงภาษีของทีมเจรจาประเทศไทยและรัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดยระบุว่า จากที่ได้ติดตามความคืบหน้าการเจรจาของหลายๆ ประเทศ ตามที่ตนเองได้รวบรวมและเปิดเผยไปว่า มี 6 ประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิก ที่มีความคืบหน้าในการเจรจา และมีการกำหนดวันกันเรียบร้อยหมดแล้ว แต่พอมาดูรัฐบาลไทยกลับพบว่ามีความสับสนอยู่ตลอดเวลา
ศิริกัญญากล่าวอีกว่า ที่เลวร้ายกว่านั้นคือ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พูดขัดแย้งกันเอง โดยนายกรัฐมนตรีระบุว่า ต้องเตรียมเอกสารที่สหรัฐฯ ขอมาเพิ่มเติมจึงต้องเลื่อน แต่รองนายกรัฐมนตรีบอกว่า เราไม่รีบ เราจะรอเป็นคิวกลางๆ เพื่อจะดูการเจรจาต่อรองของประเทศอื่นก่อน
“ถ้าคุณแพทองธารไม่พูดอะไรก่อนหน้านั้น และฟังคุณพิชัยพูดคนเดียว เราก็อาจจะเชื่อว่าการเจรจาวางยุทธศาสตร์แบบนี้จริงๆ และเราต้องการคิวกลางๆ จริง แต่เราจะเชื่อมากกว่านี้ด้วย หากคุณพิชัยบอกมาเลยว่าเราจะเจรจาวันไหน อาจจะเป็นเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายนก็ได้ บอกกับเรามาเลยว่าวางแผนมาแล้วว่าจะรอดูทีท่า Wait and See จริงๆ”
อย่างไรก็ตาม ศิริกัญญามองว่าเมื่อนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีพูดคนละอย่าง และสุดท้ายยังไม่มีกำหนดวันที่ชัดเจน เป็นการเลื่อนแบบไม่มีกำหนด ก็ยิ่งสร้างความสับสน ทำให้ยิ่งมั่นใจว่ารัฐบาลยังไม่ตกลงวันนัดกับสหรัฐฯ แล้วเมื่อนัดไปโดยเขาไม่ตอบรับ ก็จำเป็นต้องเลื่อนกำหนดการออกไปจนกว่าสหรัฐฯ จะตอบกลับมาอีกที
ศิริกัญญาเรียกร้องให้รัฐบาลสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา ว่าตกลงแล้วเราติดปัญหาอะไร ทำไมสหรัฐฯ ยังไม่ตอบรับอีก เพราะประเทศรอบบ้านเราได้คุยหมดแล้ว บางประเทศก็เจรจาเข้ารอบสองไปแล้ว เราไม่ได้บอกว่าต้องรีบ และเชื่อว่ากลยุทธ์ wait and see ของรัฐบาลอาจจะได้ผลเหมือนกัน เพียงแต่ช่วยทำให้เรามั่นใจว่าสามารถแก้ไขเรื่องที่ติดขัดได้ กำหนดการที่แท้จริงเป็นเมื่อไร และสหรัฐฯ ติดปัญหาอะไรกับเราหรือไม่ที่จำเป็นต้องแก้ไข
ส่วนข้อวิเคราะห์ของนักวิชาการที่คาดการณ์ว่า ท่าทีทางการเมืองและสิทธิเสรีภาพของไทย เช่น เรื่องการส่งตัวชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน รวมถึงการจับกุม พอล แชมเบอร์ส นักวิชาการชาวอเมริกัน ด้วยข้อหามาตรา 112 นั้น เป็นปัจจัยทำให้สหรัฐฯ ไม่ตอบรับการเจรจากับประเทศไทย ศิริกัญญามองว่า เป็นไปได้ที่เรื่องเหล่านี้จะทำให้สหรัฐฯ มีท่าทีกับประเทศไทยแบบนี้
ศิริกัญญาย้ำว่า ความสัมพันธ์เรื่องการต่างประเทศก็มีผลกระทบด้านเศรษฐกิจได้เช่นกัน หนึ่งในทีมเจรจาคือ มาร์โค รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ก็เป็นหนึ่งในคนที่แสดงความไม่พอใจเมื่อไทยส่งชาวอุยกูร์กลับจีน จึงคิดว่าเรื่องนี้ก็อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้สหรัฐฯ ไม่ยอมเดินหน้าเจรจากับไทย จนกว่าจะได้รับฟังคำอธิบายจากประเทศไทยก่อน