ในช่วงปลายเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ อีกหนึ่งประเทศในทวีปอเมริกาเหนือที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลกอย่างแคนาดาก็จะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ หลังจากที่ มาร์ค คาร์นีย์ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันตัดสินใจยุบสภาในวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา
ในบทความนี้ จะพาผู้อ่านไปทบทวนถึงเหตุการณ์ที่นำมาสู่การยุบสภาและวิเคราะห์ว่าพรรคลิเบอรัลหรือคอนเซอร์เวทีฟน่าจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้
ระบบรัฐสภา
ประเทศแคนาดาใช้ระบบรัฐสภาแบบประเทศไทย กล่าวคือการเลือกตั้งผู้นำประเทศไม่ได้เลือกตั้งโดยตรงเหมือนประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา แต่เป็นการเลือกทางอ้อมผ่านการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือ สส. โดยที่ผู้นำพรรคการเมืองที่มี สส. ในมือมากที่สุดก็จะได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี
ซึ่งในทางปฏิบัติมีเพียง 2 พรรคใหญ่เท่านั้น ที่ผลัดกันชนะการเลือกตั้งและได้มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล ประกอบด้วยพรรคลิเบอรัล ซึ่งเป็นพรรคกลางซ้าย และพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ซึ่งเป็นพรรคกลางขวา แต่อย่างไรก็ดีในระบบรัฐสภาของประเทศแคนาดาก็ยังมีพรรคขนาดกลางอีกหลายพรรคที่มีจำนวน สส. ในสภามากพอสมควร (คล้ายๆ กับประเทศไทย) อันได้แก่ พรรคนิวเดโมแครต ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายซ้าย, พรรคบล็อคควิเบคคัวส์ ซึ่งเป็นพรรคที่จัดตั้งขึ้นมาโดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อเรียกร้องการแบ่งแยกดินแดนของจังหวัดควิเบก และพรรคกรีนที่เป็นพรรคที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อผลักดันนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม
พรรคลิเบอรัลภายใต้การนำของ จัสติน ทรูโด อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น ชนะการเลือกตั้งติดต่อกันมา 3 สมัย ตั้งแต่ปี 2015 ทำให้ทรูโดได้เป็นนายกรัฐมนตรีติดต่อกันมาแล้วถึงเกือบ 10 ปี
คะแนนนิยมที่ต่ำเตี้ยของทรูโด
ทรูโดชนะการเลือกตั้งในครั้งแรกอย่างถล่มทลายในปี 2015 โดยที่พรรคลิเบอรัลของเขากวาดที่นั่งไปถึง 183 ที่นั่ง (จาก 338 ที่นั่ง) และความนิยมส่วนตัวของเขาก็พุ่งสูงขึ้นมากด้วยภาพลักษณ์ของความเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีบุคลิกภาพที่ดีและหน้าตาที่หล่อเหลา ทรูโดหาเสียงด้วยธีมของความหวังและการมองโลกในแง่ดี ทำให้เขาถูกนำไปเปรียบเทียบกับประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นอย่างบารัก โอบามา
ทรูโดสามารถรักษาความนิยมของเขาได้ในระดับหนึ่ง ในช่วงของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในช่วง 2 สมัยแรกทำให้เขาชนะการเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2019 และ 2021 โดยที่เขาได้รับการยอมรับว่าเขาจัดการกับวิกฤติโควิด 19 ได้อย่างดี แต่อย่างไรก็ดีคะแนนนิยมของเขาตกต่ำลงอย่างมากในช่วงการดำรงตำแหน่งในสมัยที่ 3
ซึ่งการที่คะแนนนิยมของเขาตกต่ำลงนั้นก็เป็นผลมาจากองค์ประกอบหลายๆ อย่างด้วยกัน โดยที่สาเหตุหลักน่าจะเป็นผลมาจากปัญหาเงินเฟ้อ/สินค้าราคาแพง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในยุคหลังโควิด อันเป็นผลมาจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานและการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเม็ดเงินจำนวนมากของรัฐบาลในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ ซึ่งปัญหานี้ทำให้รัฐบาลของแทบจะทุกประเทศทั่วโลกมีคะแนนนิยมที่ตกต่ำ และก็ทำให้รัฐบาลเดิมของนานาประเทศแพ้เลือกตั้ง เช่น การแพ้การเลือกตั้งของพรรคคอนเซอร์เวทีฟที่สหราชอาณาจักร และการแพ้การเลือกตั้งของไบเดนที่สหรัฐอเมริกา
อีกปัจจัยหนึ่ง ก็น่าจะเป็นมาจากกระแสแอนตี้ woke ที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เพราะทรูโดนั้นเป็นนักการเมืองที่ไม่เคยอายที่จะประกาศว่าตัวเองเป็น woke เขาพูดถึงสิทธิสตรี, สิทธิของชนพื้นเมือง และสิทธิของชาว LGBTQ ตลอดเวลา เขาถึงกับประกาศว่าคณะรัฐมนตรีของเขาจะต้องมีผู้หญิงอยู่ครึ่งหนึ่ง ซึ่งแนวคิดเรื่อง Diversity, Equity and Inclusion อาจจะเป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมและเป็นกระแสหลัก สำหรับการเมืองในยุคปี 2010 ถึง 2020 แต่พอกระแสนี้ถูกตีกลับและแนวคิดเรื่อง DEI ถูกมองว่ากลายเป็นความ woke นั่นก็ทำให้คะแนนนิยมของทรูโดลดลงไปด้วย
ที่สำคัญกระแสแอนตี้ woke นั้นถูกกระแสต่อต้านผู้อพยพเกาะมาด้วย ซึ่งเป็นกระแสที่เกิดขึ้นทั่วโลกทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งรัฐบาลของพรรคลิเบอรัลภายใต้การนำของทรูโดนั้น มีนโยบายที่เป็นมิตรกับผู้อพยพมาก รัฐบาลของทรูโดให้สถานะผู้พำนักถาวรหรือ permanent resident กับผู้อพยพมากที่สุดในรอบ 50 ปี ซึ่งนั่นทำให้ชาวแคนาดาหลายคนไม่พอใจทรูโดอย่างมาก พวกเขามองว่าผู้อพยพเหล่านี้นำปัญหาอาชญากรรมเข้ามาสู่ประเทศแคนาดา และยังทำให้เกิดปัญหาที่อยู่อาศัยไม่พอเพียง (housing crisis) รวมถึงการที่ผู้อพยพเหล่านี้เข้ามาแย่งใช้โครงสร้างพื้นฐานในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการให้บริการทางการแพทย์ และระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ทำให้มาตรฐานการให้บริการที่ไม่พอเพียงอยู่แล้วกับชาวแคนาดานั้นแย่ลงไปอีก
อีกประเด็นที่ทรูโดถูกมองว่า woke มากคือเรื่องโลกร้อน ทรูโดจัดได้ว่าเป็นนักการเมืองที่มีแนวคิดซ้ายจัดมากในเรื่องของสิ่งแวดล้อม เขาได้ใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรียุติโครงการขุดเจาะน้ำมัน และสินแร่หลายโครงการที่เขามองว่ามีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมมากเกินไป และที่สำคัญรัฐบาลลิเบอรัลภายใต้การนำของทรูโดได้ออกกฎหมายจัดเก็บภาษีคาร์บอนเป็นประเทศแรกๆ ในโลก ซึ่งนั่นก็นำมาสู่ความไม่พอใจของประชาชนชาวแคนาดาเป็นจำนวนมากเพราะ มันเหมือนเป็นการซ้ำเติมปัญหาข้าวยากหมากแพงที่มีอยู่แล้ว ให้แย่ลงไปอีก
ขวาแท้
พรรคคอนเซอร์เวทีฟนั้นหมายมั่นปั้นมือเป็นอย่างมากว่า พวกเขาจะต้องกลับมาชนะการเลือกตั้งในปี 2025 ให้ได้ หลังจากที่พวกเขาพ่ายแพ้การเลือกตั้งมาติดต่อกันถึง 3 ครั้ง โดยที่คอนเซอร์เวทีฟจับกระแสแอนตี้ woke ได้ และตัดสินใจเลือกนักการเมืองที่มีความเป็นอนุรักษนิยมแท้ๆ อย่าง ปิแอร์ โพลีเอฟ มาเป็นผู้นำพรรคและเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ต่างจากการเลือกตั้งในปี 2019 และ 2021 ที่พวกเขาเลือกนักการเมืองที่มีภาพลักษณ์ของการเป็นคนกลางๆ อย่าง แอนดรูว์ เชียร์ และอิริน โอทูล มาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
ซึ่งการตัดสินใจของพวกเขานั้นก็ดูเหมือนจะถูกต้อง เพราะในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาคะแนนนิยมของโพลีเอฟนั้น นำเหนือกว่าทรูโดมาโดยตลอด โดยบางช่วงคะแนนของโพลีเอฟนำขึ้นไปถึงกว่า 20% และนักวิเคราะห์ทางการเมืองก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พรรคคอนเซอร์เวทีฟของเขาจะชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปี 2025
มาร์ค คาร์นีย์
ทรูโดและพรรคลิเบอรัลนั้น รู้ตัวเป็นอย่างดีว่าคะแนนนิยมของทรูโดตกต่ำอย่างมากและเขากำลังจะนำพรรคไปสู่ความพ่ายแพ้แบบยับเยินมากที่สุดในรอบกว่า 10 ปี ทำให้ทรูโดตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคและนายกรัฐมนตรี ก่อนที่พรรคจะตัดสินใจเลือก มาร์ค คาร์นีย์ ขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคและนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา
การตัดสินใจเปลี่ยนม้ากลางศึกจากทรูโดมาเป็นคาร์นีย์ของพรรคลิเบอรัลนั้นดูเหมือนจะเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะคาร์นีย์ดูมีภาพลักษณ์ของการเป็นเทคโนแครตที่มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ (เขาเคยเป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติของทั้งแคนาดาและสหราชอาณาจักร รวมทั้งเคยเป็นวาณิชธนกรของธนาคารระดับโลกอย่าง Goldman Sachs) ซึ่งแตกต่างไปจากนักการเมืองอาชีพ (และ woke) อย่างทรูโด และคาร์นีย์ก็พยายามจะแสดงให้ชาวแคนาดาเห็นว่านโยบายของเขานั้นต่างไปจากทรูโดตั้งแต่วันแรกของการเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยการยกเลิกกระทรวงสตรีและความเท่าเทียมทางเพศ และภาษีคาร์บอนที่เป็นชนักปักหลังรัฐบาลของพรรคลิเบอรัลในยุคทรูโด
สงครามการค้าและรัฐที่ 51
แต่สิ่งที่อาจจะสำคัญมากกว่าการเปลี่ยนม้ากลางศึกจากทรูโดมาเป็นคาร์นีย์ คือการชนะการเลือกตั้งของทรัมป์ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เพราะรัฐบาลใหม่ของทรัมป์นั้นมองแคนาดาเป็นศัตรู ทรัมป์มองว่าแคนาดาได้ดุลการค้าจากสหรัฐอเมริกามากเกินไป เขาข่มขู่ที่จะตั้งกำแพงภาษีถึง 25% ต่อประเทศแคนาดา (ซึ่งแน่นอนว่า จะทำให้เศรษฐกิจของแคนาดาเข้าสู่ภาวะวิกฤตเพราะสหรัฐอเมริกาเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของพวกเขา) รวมทั้งข่มขู่ว่าเขาอาจจะใช้กำลังทหารในการยึดแคนาดามาเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ
แน่นอนว่าคำข่มขู่ของทรัมป์นั้น ย่อมจะทำให้พลวัตของการเลือกตั้งของแคนาดานั้นเปลี่ยนไปจากเดิม จากที่การเลือกตั้งควรจะเป็นเรื่องของนโยบายภายในประเทศ ก็จะกลับกลายเป็นการเลือกตั้งเพื่อหานายกรัฐมนตรีที่ดีที่สุด ในการที่จะต่อกรกับเพื่อนบ้านที่ทำตัว ‘บูลลี่’ อย่างทรัมป์ ซึ่งชาวแคนาดาส่วนใหญ่ให้แต้มต่อกับคาร์นีย์ในเรื่องนี้ เพราะเขามีภาพของการเป็นนักบริหารขององค์กรขนาดใหญ่อย่างแบงก์ชาติของประเทศยักษ์ใหญ่ 2 ประเทศ และทุนข้ามชาติอย่าง Goldman Sachs มาก่อน ทำให้เขาน่าจะเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการเจรจาต่อรองระหว่างประเทศได้ดีกว่าโพลิเอฟ ซึ่งก็เป็นเพียงนักการเมืองอาชีพอีกคนที่ไม่มีประสบการณ์ภาคเอกชนหรือการบริหารองค์กรขนาดใหญ่มาก่อน (แบบเดียวกับทรูโด)
ที่สำคัญ คำข่มขู่ของทรัมป์นั้นได้ทำให้เกิดกระแสชาตินิยมถูกจุดติดขึ้นมาในหมู่ชาวแคนาดา ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งแต้มต่อให้กับคาร์นีย์ เพราะกระแสชาตินิยมในแคนาดานั้นเป็นกระแสเอียงซ้าย (แตกต่างจากประเทศส่วนใหญ่ที่กระแสชาตินิยมมักจะเป็นกระแสเอียงขวา) กระแสชาตินิยมของชาวแคนาดานั้นถูกผลักดันด้วยความหวาดกลัวว่า พวกเขาจะถูกประเทศยักษ์ใหญ่เพื่อนบ้านอย่างสหรัฐอเมริกากลืนกินอัตลักษณ์ของพวกเขาไป ดังนั้นเมื่อสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศเอียงขวา การเป็นประเทศเอียงซ้าย (เช่น การมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า, การมีกฎหมายห้ามถือครองอาวุธปืนที่เข้มข้น และสิทธิในการทำแท้งเสรี) เลยกลายเป็นอัตลักษณ์ประจำชาติที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองแตกต่างจากสหรัฐอเมริกา
ผลจากการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี และกระแสชาตินิยมที่ถูกจุดโดยทรัมป์นั้น ทำให้พรรคลิเบอรัลพลิกกลับขึ้นมามีคะแนนนำพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ถึงประมาณ 4 ถึง 5% ทั้งๆ ที่พวกเขาเคยตามอยู่กว่า 20% ในยุคของทรูโด
แต่อย่างไรก็ดีคาร์นีย์ถือว่าเป็นมือใหม่ทางการเมืองเพราะเขาไม่เคยเป็น สส.หรือเคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ มาก่อน เราคงจะต้องดูกันต่อไปว่าในช่วงเวลาที่เหลือ มือใหม่อย่างคาร์นีย์จะสามารถรักษาคะแนนในมือจนนำไปสู่การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยที่ 2 ของเขาได้หรือไม่ หรือเขาจะทนแรงเสียดทานระหว่างหาเสียงไม่ได้จนนำไปสู่ชัยชนะของโพลิเอฟ
ภาพ: Carlos Osorio / Reuters