ค่ำคืนแห่งชัยชนะของขุนพลเลส์ เบลอส์ ณ สนามเครสตอฟสกี หลังปราบพยศทีมฟอร์มแกร่ง เบลเยียม เมื่อคืนวานที่ผ่านมาน่าจะยาวนานและหอมหวานเป็นพิเศษ นี่คือการคว้าตั๋วทองคำสุดล้ำค่าใบแรกในรอบ 12 ปี หลังเข้าชิงฟุตบอลโลกหนล่าสุดเมื่อปี 2006 แต่ต้องอกหักพ่ายการดวลจุดโทษให้อิตาลีไป
เป็นอันว่าเราได้ทีมเข้าชิงฟุตบอลโลก 2018 ทีมแรกในปีนี้แล้วคือฝรั่งเศส ส่วนคืนนี้ (เช้ามืดวันพฤหัสบดีที่ 12 ก.ค. เวลา 01.00 น.) จะเป็นคิวการพบกันของทีมม้ามืด โครเอเชีย และทีมขวัญใจมหาชนตลอดกาล อังกฤษ ที่สนามลุซนิกิ สเตเดียม ในกรุงมอสโก เพื่อหาว่าใครจะได้เข้าไปชิงโทรฟีแชมป์ที่เปรียบได้ดั่ง ‘เกียรติยศอันสูงสุดของนักฟุตบอล’
สถิติการพบกันของทั้งสองทีมก่อนหน้านี้ ทั้งคู่ยังไม่เคยพบกันในศึกฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายมาก่อนเลย แข่งกันไปทั้งหมด 7 ครั้ง เป็นอังกฤษที่ชนะได้ 4 ครั้ง และเสมอ 1 ครั้ง ยิงได้ 18 ประตู ฟากทีมตราหมากรุกชนะไปแค่ 2 ครั้ง และยิงได้ 10 ประตู
ฟอร์มการเล่นในฟุตบอลโลกปีนี้ของทั้งคู่ถือว่าไม่หนีกันมากเท่าไร แต่โครเอเชียดูจะได้รับการยกย่องมากกว่านิดๆ เพราะลงแข่งในฐานะ ‘ม้านอกสายตา’ แต่ทำผลงานได้ดีจนผ่านเข้าถึงรอบรองชนะเลิศ ลงเล่น 5 นัด ชนะ 3 เสมอ 2 (ต่อเวลาชนะจุดโทษ) ยังไม่แพ้ใครเลย ยิงได้ 10 เสีย 4 ประตู
ส่วนอังกฤษแข่ง 5 นัด ชนะ 3 เสมอและแพ้อย่างละ 1 นัดเท่ากัน (เสมอแต่ต่อเวลาชนะการดวลจุดโทษ) ยิงได้มากกว่าโครเอเชียลูกเดียวที่ 11 ประตู เสีย 4 ประตูเท่ากัน ด้านความพร้อมของทั้งโครเอเชียและอังกฤษ ถือว่าทั้งสองทีมเต็มสูบกันมากๆ ถ้าไม่นับ นิโกลา คาลินิช ที่ถูกส่งตัวกลับบ้านไปก่อนหน้านี้
วันเวลาท่ีเพาะบ่มโครเอเชียจนสุกงอมและไม่กลัวเกรงใคร
ย้อนกลับไปเมื่อสักประมาณ 8 ปีที่แล้ว ในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนยุโรป อังกฤษและโครเอเชียต้องมาโคจรอยู่ในกลุ่มเดียวกัน และเป็นสิงโตคำรามภายใต้การนำทัพของ ฟาบิโอ คาเปลโล กุนซือมากประสบการณ์ชาวอิตาลีที่เอาชนะโครเอเชียทั้งไปและกลับ ด้วยสกอร์รวมถึง 9-2 ดับฝันการผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในปีนั้น
แต่นั่นคือเหตุการณ์เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ปัจจุบันทีมชาติอังกฤษชุดนั้นไม่มีผู้เล่นหลงเหลือมาในทีมสิงโตหนุ่มชุดนี้แม้แต่คนเดียว ขณะที่ระยะเวลาและประสบการณ์ก็ทำให้โครเอเชียเจนจัดในเวทีลูกหนังมากขึ้น ผู้เล่นวัยหนุ่มในวันนั้นเติบโตขึ้นมาเป็นขุมกำลังหลักของทีมในชุด 2018 ได้หลายต่อหลายคน ทั้ง ลูกา โมดริช, อีวาน ราคิติช, มาริโอ มานด์ซูคิช และ ดานิเยล ซูบาซิช
ปีนี้โครเอเชียมาดีมากๆ ยังไม่แพ้ใครเลย ลงเล่นในรอบแบ่งกลุ่มก็ปราบอาร์เจนตินาแบบเละเทะ 3-0 ส่วนในรอบ 16 ทีมและรอบ 8 ทีมสุดท้าย การเสมอทั้งสองนัดจนต้องไปดวลจุดโทษ และต้องลงแข่ง 240 นาที ภายในระยะเวลา 6 วันก็มีผลให้สภาพร่างกายของผู้เล่นบางส่วนกรอบพอสมควร
โดยเฉพาะรายของซูบาซิช ที่นัดที่แล้วเกิดอาการบาดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อจนแพทย์สนามต้องเร่งปฐมพยาบาลนวดคลายเส้นกันยกใหญ่
ซลัตโก ดาลิช โค้ชทีมชาติโครเอเชียยอมรับก่อนเกมแบบไม่อ้อมค้อมว่า ลูกทีมของเขาเหนื่อยและล้ากันพอสมควร หลังได้พักฟื้นแค่ 4 วันก่อนลงแข่งในรอบรองชนะเลิศ แต่ก็พร้อมจะกัดฟันสู้ให้ถึงที่สุด”
หลังแยกตัวออกจากยูโกสลาเวียเดิม โครเอเชียเพิ่งเข้ามาเล่นฟุตบอลโลกครั้งแรกเมื่อปี 1998 และฝากผลงานประทับใจไว้ด้วยการจบได้ถึงอันดับที่ 3 พร้อมๆ กับการประกาศทักษะลูกหนังที่งดงามให้โลกได้จดจำของ ดาวอร์ ซูเคอร์ ที่ยิงไปได้ถึง 6 ประตูในทัวร์นาเมนต์ครั้งนั้นพร้อมรับตำแหน่งดาวซัลโว
20 ปีผ่านไป โครเอเชียผลัดใบกันจนได้นักเตะชุดหลักที่เล่นร่วมกันมานานและยังเต็มไปด้วยศักยภาพในเกมลูกหนังขั้นสูง โดยเฉพาะรายของโมดริช ที่ถึงอายุจะย่าง 33 แล้ว แต่หัวจิตหัวใจของจอมทัพจากเมืองซาดาร์ผู้นี้กลับสวนทางกับอายุที่โรยรา ดังที่ทุกคนคงประจักษ์ด้วยสายตาตัวเองกันไปแล้วกับการวิ่งไม่มีหมดในนัดที่เจอกับรัสเซีย
ไม่มีเหตุผลอะไรให้พวกเขาต้องกลัวอีกต่อไป ในเมื่อตัวผู้เล่นก็อยู่ในช่วงวัยที่พร้อมจะประสบความสำเร็จกันสุดๆ เรื่องประสบการณ์ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะอายุเฉลี่ยในทีมโครเอเชียชุดนี้อยู่ที่ 28 ปี ค่าเฉลี่ยการติดทีมชาติอยู่ที่ 40 นัด สูงที่สุดในบรรดาทีมที่ผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศได้
“โครเอเชียเต็มไปด้วยผู้เล่นที่ยอดเยี่ยมที่ลงค้าแข้งให้กับสโมสรชั้นนำ แต่ข้อเท็จจริงคือพวกเราทำผลงานและผลการแข่งขันในรายการใหญ่ๆ ได้ไม่ดีมาเป็นเวลาหลาย 10 ปีแล้ว
“กับผู้เล่นชุดนี้ พวกเขาถูกประเมินค่าต่ำกว่าความเป็นจริงพอสมควร สืบเนื่องจากผลการแข่งขันที่ย่ำแย่ แต่พวกเขาก็ได้โชว์คุณภาพและศักยภาพของตัวเองไปแล้วในฟุตบอลโลกหนนี้ และมันก็จะไม่ต่างจากยุคทองของทีมชุดปี 1998” ดาลิชกล่าวทิ้งทาย
‘It’s Coming home’ 52 ปีที่ยาวนาน สิงโตหนุ่มจะทำสำเร็จหรือไม่
แม้จะได้รับการยอมรับว่าเป็น 1 ใน 8 ทีมเต็งแชมป์ฟุตบอลโลกหนนี้ แต่ความหวังที่ทัพสิงโตคำรามชุดนี้ต้องแบกไว้ก่อนทัวร์นาเมนต์จะเริ่มต้นกลับดูเบาบางเสียเหลือเกินเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆ มา
ทรีไลออนส์ภายใต้การถ่ายเลือดใหม่ของกุนซือหนุ่มวัย 44 ปี แกเร็ธ เซาท์เกต เต็มไปด้วยผู้เล่นอายุน้อยประสบการณ์ต่ำ ด้วยค่าเฉลี่ยอายุของทีมที่ 26 ปี และจำนวนครั้งเฉลี่ยหมวกทีมชาติที่ 20 ใบต่อคนเท่านั้น น้อยที่สุดในฟุตบอลโลก 2018
แต่พวกเขาได้แสดงให้แฟนบอลทั่วโลกได้ประจักษ์แจ้งแล้วว่า อายุไม่ใช่ข้อจำกัดหรืออุปสรรค สิงโตหนุ่มชุดนี้รวมพลังกันเล่นในสนามด้วยหัวจิตหัวใจที่สู้ พร้อมทุ่มเทถวายหัวช่วยกันทำงานขับเคลื่อนทีมให้เดินไปข้างหน้าแบบน่าเอาใจช่วย
การผ่านเข้ามาถึงรอบรองชนะเลิศได้สำเร็จในหนนี้ ถือเป็นการล้างอาถรรพ์ยุคมืดบอดของทีมชาตินาน 28 ปีเต็ม (ฟุตบอลโลกปี 1990 จบด้วยอันดับที่ 4) และยังเป็นการทำลายสถิติที่ไม่น่าจดจำสักเท่าไรกับสถิติการดวลจุดโทษในฟุตบอลโลกที่แพ้รวดทั้ง 3 ครั้งในปี 1990, 1998 และ 2006 ตามลำดับ
กำลังใจและสปิริตในแคมป์ทีมชาติว่ามาเต็มแล้ว แรงสนับสนุนจากสื่อมวลชนและแฟนบอลในประเทศก็ยังอุ่นหนาฝาคั่งสุดๆ เรียกว่านี่คือโอกาสที่ดีที่สุดแล้วที่เหล่าสิงโตหนุ่มจากรังเซนต์จอร์จจะนำโทรฟีที่ห่างหายไปนานถึง 52 ปีกลับคืนสู่ประเทศให้ได้เสียที
เซาท์เกตบอกก่อนลงแข่งไว้ว่า ลูกทีมของพวกเขาจำเป็นจะต้องพัฒนาฝีเท้าอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากนักเตะในทีมหลายคนยังอายุน้อย และการลงเล่นให้กับทีมชาติและสโมสรในอีกหลายปีต่อจากนี้ก็จะช่วยให้พวกเขามีประสบการณ์ในเกมใหญ่มากขึ้น
“พวกเราตื่นเต้นกับอนาคตข้างหน้ามาก แต่พวกเราก็ต้องคว้าโอกาสที่พวกเราจะมีในเกมการแข่งขันวันพรุ่งนี้ไว้ให้ได้ เราได้รับแรงสนับสนุนที่ดีผ่านมายังผู้เล่นของเรา และพวกเราก็วางแผนกันได้ดีมากๆ ได้ชมเทปการแข่งขันซำ้แล้วซ้ำเล่าเป็นร้อยๆ แมตช์ เพื่อเรียนรู้จากมันให้ได้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ และเราก็เริ่มเห็นความสำเร็จบางส่วนจากผู้เล่นอายุน้อยในทีมชุดนี้
“พวกเราสนุกกับการผจญภัยในครั้งนี้มาก เรามาที่นี่เพื่อสนุกกับการเล่นฟุตบอลของเรา เราคือหนึ่งในทีมที่เด็กที่สุดและมีประสบการณ์น้อยที่สุดในฟุตบอลโลกหนนี้ และผมเองก็ไม่เคยแน่ใจเลยว่าทีมชุดนี้จะไปได้ไกลแค่ไหน แต่ความกระหายในตัวลูกทีมของผมก็ได้แสดงออกมาให้ทุกคนได้เห็นแล้ว พวกเราภูมิใจกับสไตล์การเล่นของเรามาก”
สถิติที่น่าสนใจของทีมชาติอังกฤษชุดนี้คือ การที่พวกเขาสามารถทะลวงตาข่ายทีมคู่แข่งได้มากถึง 11 ลูกแล้ว มากพอๆ กับจำนวนการยิงประตูในปี 1966 ที่ส่งให้สิงโตคำรามชุดนั้นคว้าแชมป์โลกมาครองได้สำเร็จเป็นสมัยแรก โดย 8 ใน 11 ลูกมาจากลูกตั้งเตะแทบทั้งนั้น (รวมจุดโทษด้วย)
“ประเทศของเรากำลังผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบาก (ประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง) แต่ในแง่ของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและกีฬาแล้ว มันสามารถรวมทุกคนเข้าด้วยกันได้ โดยเฉพาะกีฬาฟุตบอล พวกเราสัมผัสได้ถึงพละกำลังที่ส่งมาจากที่บ้าน และนั่นคือสิ่งที่แสนพิเศษสำหรับพวกเรา”
ความสด กำลังใจที่กำลังมา และความห้าวคือจุดแข็งที่ทีมชาติอังกฤษชุดนี้อาจจะข่มโครเอเชียได้บ้าง แต่พวกเขาก็จะต้องไม่ลืมว่าโครเอเชียชุดนี้เล่นกันมานานแล้ว แถมเจนจัดในเกมลูกหนัง มีประสบการณ์การรับมือกับสถานการณ์ที่แตกต่างออกไปได้อย่างน่าชื่นชม
วลี It’s Coming home ที่กำลังกลายเป็นกระแสฮิตในโลกโซเชียล ณ เวลานี้มาจากเพลง Three Lions ผลงานยอดฮิตของศิลปินกลุ่มวง The Lightning Seeds ที่โด่งดังเป็นอย่างมากในฟุตบอลยูโรปี 1996 ที่อังกฤษรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพ และยังกล่าวไปถึงฟุตบอลโลกปี 1998 ที่ฝรั่งเศสอีกด้วย
ถ้าว่ากันตามตรง Three Lions คือหนึ่งในเพลงปลุกใจและเพลงสุดคลาสสิกตลอดกาลในหมู่แฟนบอลอังกฤษ เพราะแฝงไปด้วยเนื้อร้องที่กล่าวถึงดาวดังระดับตำนาน ‘Gazza good as before, Shearer certain to score’
หรือท่อนที่รวมใจให้กำลังใจนักฟุตบอลและกลุ่มแฟนบอลด้วยกันเอง เพียงเพราะความเชื่อที่ว่า ‘ฟุตบอล’ กีฬาที่คนทั้งชาติคลั่งจะหวนกลับคืนสู่บ้านเกิดที่แท้จริงในไม่ช้า เช่นเดียวกับถ้วยจูลส์ ริเมต์ ที่ยังคงส่องแสงวาววับอยู่รำไร (Jewels remain still gleaming)
ไม่ต้องทนเจ็บกันอีกต่อไป (No more years of hurt)
ไม่ต้องฝันเฟื่องอยู่ร่ำไป (No more need for dreaming)
เราจะร่ายรำให้เหมือนน็อบบี้ (We can dance Nobby’s dance : น็อบบี้ สติลส์ ตำนานทีมชาติอังกฤษหนึ่งในทีมชุดแชมป์โลก 1966)
โลดโผนกันสุดเหวี่ยงที่ปารีส (We could dance it in France)
มันกำลังกลับมาบ้านแล้ว มันกำลังกลับบ้าน (It’s coming home, it’s coming home)
มันกำลังกลับมา ฟุตบอลกำลังจะกลับคืนสู่บ้าน (It’s coming, Football’s coming home)
สุดท้ายแล้ว ฟุตบอลจะกลับบ้านได้ไหม แฟนอังกฤษหรือโครเอเชียใครจะสมหวัง คืนนี้เราจะได้รู้กัน!
อ้างอิง: