เกท บาห์เดาเชห์ (Ghaith Bahdousheh) ชายหนุ่มชาวจอร์แดน วัย 27 ปี ผู้หลงรักการอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ ทุกๆ วันเขาจะขับรถ Mercedes-Benz 200 คันเก่าคู่ใจที่เขาตั้งชื่อให้ว่าแนนซี (Nancy) ตระเวนไปยังจุดสำคัญต่างๆ ในอัมมาน เมืองหลวงของจอร์แดน เพื่อทำโปรเจกต์ ‘หนังสือบนท้องถนน’ (Books on the Road) ที่เขาเริ่มคิดและลงมือทำเมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา
เกทเเวะจอดรถในจุดที่มีผู้คนพลุกพล่าน พร้อมกับค่อยๆ จัดเรียงหนังสือที่เขานำมาด้วยกว่า 400 เล่มลงบนทั้งฝากระโปรงหน้า กระโปรงหลัง รวมถึงหลังคาของแนนซี รถยนต์คู่ใจ ซึ่งเรียกความสนใจจากผู้พบเห็นได้ไม่น้อย
โปรเจกต์นี้เป็นการขับรถยนต์คู่ใจไปยังที่ต่างๆ เพื่อขายหนังสือที่เขามี โดยเฉพาะหนังสือต่างชาติที่จัดพิมพ์ขึ้นเป็นภาษาอื่นๆ นอกเหนือจากภาษาอาหรับ คล้ายกับเป็น ‘ร้านหนังสือเคลื่อนที่’ ขนาดย่อม เกทเเวะจอดรถในจุดที่มีผู้คนพลุกพล่าน พร้อมกับค่อยๆ จัดเรียงหนังสือที่เขานำมาด้วยกว่า 400 เล่มลงบนทั้งฝากระโปรงหน้า กระโปรงหลัง รวมถึงหลังคาของแนนซี รถยนต์คู่ใจ ซึ่งเรียกความสนใจจากผู้พบเห็นได้ไม่น้อย
จุดประสงค์หลักในการเริ่มทำโปรเจกต์นี้คือ เขาต้องการที่จะทำให้ผู้คนในประเทศนี้สามารถเข้าถึงหนังสือได้มากยิ่งขึ้น ถ้าหากอยากจะได้หนังสือสักเล่มหนึ่ง ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปยังร้านหนังสือ เกทได้นำร้านหนังสือเคลื่อนที่มาให้บริการแก่ทุกคนแล้วถึงที่ นอกจากนั้นโปรเจกต์นี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นในการเดินทางทำตามความฝันของชายชาวจอร์แดนคนนี้อีกด้วย
ฝันนั้นคือการอยากมีร้านหนังสือเล็กๆ เป็นของตัวเองในเมืองเล็กๆ อย่างมาดาบา ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขาที่ผู้คนส่วนใหญ่แทบจะไม่อ่านหนังสือกันเลย เขาจะทำให้คนในเมืองรู้สึกตื่นตัวและมีนิสัยรักการอ่านเพิ่มมากขึ้น โดยมองว่ารายได้จากโปรเจกต์นี้จะช่วยทำให้ฝันของเขาเป็นความจริงขึ้นมาได้
จอร์แดนมีอัตราการรู้หนังสือและอ่านออกเขียนได้สูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาหรับ
จากการเก็บรวบรวมข้อมูลขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมของสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization – UNESCO) เกี่ยวกับอัตราการรู้หนังสือของคนในจอร์แดน เมื่อปี 2015 พบว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อัตราการไม่รู้หนังสือลดลงอย่างเห็นได้ชัด ประชากรภายในประเทศที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปสามารถอ่านออกเขียนได้ถึง 98.01 เปอร์เซ็นต์ โดยเพศชาย (98.51 เปอร์เซ็นต์) มีอัตราการรู้หนังสือมากกว่าเพศหญิงเล็กน้อย (97.49 เปอร์เซ็นต์)
ตัวเลขดังกล่าวทำให้จอร์แดนมีอัตราการรู้หนังสือและอ่านออกเขียนได้สูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาหรับ สาเหตุสำคัญเป็นเพราะรัฐบาลจอร์แดนมีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้อย่างจริงจัง นำไปสู่การจัดตั้งโครงการ Adult Learning and Illiteracy Elimination Programme (ALIEP) ในปี 1952
ถึงแม้ประเทศนี้จะมีดัชนีชี้วัดการรู้หนังสือสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาหรับ แต่ในปัจจุบัน ประชากรส่วนใหญ่ในจอร์แดนกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแรงจูงใจในการอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลเสียในระยะยาว
จากการสำรวจพบว่า การอ่านออกเสียงจะช่วยทำให้มีความสุขในการอ่านหนังสือหรือคอนเทนต์สนุกๆ เพิ่มมากขึ้น ปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นว่าสังคมจอร์แดนยังไม่เข้าใจอย่างแท้จริงว่า สังคมที่มีการตื่นตัว เรียนรู้สิ่งต่างๆ ตลอดเวลามีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมถึงสังคมในมิติอื่นๆ เป็นอย่างมาก
วันนี้เกททำตามความฝันของเขาสำเร็จในการเปิดร้านหนังสือเล็กๆ เป็นของตัวเอง และยังไม่หยุดที่จะทำโปรเจกต์ ‘หนังสือบนท้องถนน’ ต่อไป เพื่อเปิดโลกกว้างและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ให้แก่คนในประเทศนี้ผ่านหนังสือภายในร้านของเขา
ปัจจุบันร้านหนังสือ Kaoun ของเขาเป็นร้านหนังสือร้านแรกของเมืองมาดาบา ที่แห่งนี้กลายเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ช่วยสร้างสีสันและเป็นแรงผลักดันเล็กๆ ในการสร้างนิสัยรักการอ่านให้แก่ผู้คนภายในเมืองเล็กๆ แห่งนี้
อ้างอิง: