วันนี้ (2 เมษายน) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 28 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 วาระพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ ‘หวยเกษียณ’ ในวาระที่ 1 ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี โดยมี เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง อภิปรายหลักการและเหตุผลของร่างกฎหมาย
เผ่าภูมิระบุว่า หวยเกษียณเป็นนวัตกรรมเชิงนโยบายที่รวมเอาลักษณะการชอบลุ้นโชคของคนไทยมาเป็นแรงจูงใจในการเก็บออมที่สามารถถอนเงินที่ซื้อสลากทั้งหมดออกมาได้ตอนเกษียณ เพื่อสร้างการออมมิติใหม่ให้กับพี่น้องประชาชน โดยมีรายละเอียดและแนวทางการดำเนินการดังนี้
- กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ออกสลากขูดแบบดิจิทัล ใบละ 50 บาท เพื่อขายให้กับประชาชนทุกคนที่มีสัญชาติไทย และมีอายุ 15 ปี ขึ้นไป และซื้อได้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน
- สามารถซื้อสลากได้ทุกวัน แต่ออกรางวัลทุกวันศุกร์ เวลา 17.00 น. ผู้ถูกรางวัลจะได้เงินรางวัลทันทีผ่านพร้อมเพย์ โดยที่เงินค่าซื้อสลากทั้งหมดถูกเก็บเป็นเงินออม แม้ว่าจะถูกรางวัลหรือไม่ก็ตาม
- รางวัลของ ‘ทุกวันศุกร์’ กำหนดดังนี้
3.1. รางวัลที่ 1 จำนวน 1,000,000 บาท จำนวน 5 รางวัล
3.2. รางวัลที่ 2 จำนวน 1,000 บาท จำนวน 10,000 รางวัล
3.3. รางวัลพิเศษ (แจ็กพอต) 1 รางวัล (ถ้ามี)
- หากในงวดใดที่รางวัลออกไม่หมด รางวัลที่ออกไม่หมดนั้นจะถูกทบยอดเป็นรางวัลพิเศษ (แจ็กพอต) ในงวดถัดไปทั้งหมดทันที
- เงินค่าซื้อสลากทั้งหมดจะเป็นเงินออมของผู้ซื้อสลาก ซึ่งจะนำเงินส่งเข้าบัญชีเงินออมรายบุคคลกับ กอช. และเมื่อผู้ออมอายุครบ 60 ปี จะคืนเงินทั้งหมดทุกบาท ทุกสตางค์ที่ซื้อสลากมาทั้งชีวิตบวกกับผลตอบแทนการลงทุนให้กับผู้ออม
- ขยายสิทธิ์การซื้อสลาก กอช. ให้แก่ประชาชนที่มีอายุเกิน 60 ปี ด้วย แต่ต้องออมไว้ 5 ปี หลังจากวันที่ซื้อครั้งแรก และสามารถซื้อได้ไม่จำกัดรอบ แต่ทุกรอบต้องออมไว้ 5 ปี
จากนั้นที่ประชุมได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยสมาชิกส่วนมากเห็นด้วย และมองว่าหวยเกษียณจะช่วยเป็นรายได้สำหรับผู้ที่เกษียณอายุ แบ่งเบาภาระลูกหลาน และเพิ่มวินัยการออมให้กับคนไทย
รวมถึงได้ตั้งข้อสังเกตสำหรับการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษี ระยะเวลาการออม การรับประกันผลตอบแทนการลงทุน สิทธิประโยชน์การประกันอุบัติเหตุ การให้ความรู้การออมของประชาชน การประชาสัมพันธ์ เป็นต้น
ในที่สุด ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับหลักการของร่างแก้ไข พ.ร.บ. กองทุนการออมแห่งชาติ (หวยเกษียณ) ในวาระที่ 1 ด้วยคะแนนเห็นด้วย 401 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 2 เสียง และตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณา 31 คน