วานนี้ (1 เมษายน) เวลา 21.00 น. ภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 1 (75/2568) ลงวันที่ 31 มีนาคม 2568 แจ้งว่าในช่วงวันที่ 1-4 เมษายน 2568 จะมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันออกเคลื่อนผ่านอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ และมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่
ทั้งนี้ มีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง ระหว่างวันที่ 1-4 เมษายน 2568 ดังนี้
ภาคกลาง จำนวน 1 จังหวัด ได้แก่
1.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ทับสะแก บางสะพาน และอำเภอบางสะพานน้อย)
ภาคใต้ จำนวน 14 จังหวัด ได้แก่
- จังหวัดชุมพร (อำเภอละแม สวี ทุ่งตะโก หลังสวน ปะทิว และอำเภอพะโต๊ะ)
- สุราษฎร์ธานี (อำเภอดอนสัก กาญจนดิษฐ์ เกาะสมุย และอำเภอเกาะพะงัน)
- นครศรีธรรมราช (อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ท่าศาศาลา ลานสกา ขนอม สิชล พรหมคีรี พระพรหม ร่อนพิบูลย์ ปากพนัง จุฬาภรณ์ เชียรใหญ่ และอำเภอหัวไทร)
- พัทลุง (อำเภอเมืองพัทลุง ควนขนุน เขาชัยสน และอำเภอปากพะยูน)
- สงขลา (อำเภอเมืองสงขลา ระโนด กระแสสินธ์ สทิงพระ สิงหนคร หาดใหญ่ จะนะ และอำเภอนาหม่อม)
- ปัตตานี (อำเภอเมืองปัตตานี ไม้แก่น สายบุรี ปะนาเระ และอำเภอกะพ้อ)
- ยะลา (อำเภอรามัน เบตง และอำเภอธารโต)
- นราธิวาส (อำเภอเมืองนราธิวาส บาเจาะ และอำเภอตากใบ)
- ระนอง (อำเภอเมืองระนอง ละอุ่น และอำเภอสุขสำราญ)
- พังงา (อำเภอเมืองพังงา กะปง)
- ภูเก็ต (ทุกอำเภอ)
- กระบี่ (อำเภอปลายพระยา อ่าวลึก เขาพนม และอำเภอคลองท่อม)
- ตรัง(อำเภอวังวิเศษ)
- จังหวัดสตูล (อำเภอเมืองสตูล)
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานแจ้งจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยให้เตรียมพร้อมรับมือกับปริมาณฝนที่ตกหนักซึ่งอาจทำให้เกิดอุทกภัยได้ โดยได้กำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน และสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด
โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกหนักและพื้นที่ที่มีฝนตกติดต่อกันเป็นเวลานาน สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำน้ำตก ถ้ำลอด หากมีความเสี่ยงเกิดสถานการณ์ภัย ให้ประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ไม่ให้บุคคลใดเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด และจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าวตลอด 24 ชั่วโมง
ในกรณีที่มีคลื่นลมแรง ให้แจ้งเตือนประชาชนบริเวณชายฝั่งทะเลและนักท่องเที่ยวห้ามลงเล่นน้ำโดยเด็ดขาด พร้อมให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมเจ้าท่า กองทัพเรือ ตำรวจน้ำ แจ้งเตือนการเดินเรือ ให้ชาวเรือ ผู้บังคับเรือ ผู้ประกอบการเดินเรือโดยสาร เดินเรือด้วยความระมัดระวัง หากสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ให้พิจารณาห้ามเดินเรือออกจากฝั่งโดยเด็ดขาด
นอกจากนี้ ขอให้เตรียมความพร้อมของเครื่องจักรกลสาธารณภัย รถปฏิบัติการ และเจ้าหน้าที่ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) ให้พร้อมเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดสถานการณ์ขึ้น และขอให้จังหวัดประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้าเพื่อให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์โดยปฏิบัติตามคำแนะนำจากทางราชการอย่างเคร่งครัด
ท้ายนี้ ขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามสภาพอากาศ ข้อมูลสถานการณ์ และข่าวสารจากทางราชการอย่างต่อเนื่อง และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้นโดยปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการอย่างเคร่งครัด