×

ทำความรู้จักรอยเลื่อนสะกาย รอยต่อมรณะใจกลางประเทศเมียนมา

โดย THE STANDARD TEAM
28.03.2025
  • LOADING...
sagaing-fault-myanmar

รอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault) หนึ่งในรอยเลื่อนมีพลัง (Active Fault) อันดับต้นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ที่มีความยาวถึง 1,200 กิโลเมตร ทอดตัวในแนวเหนือจรดใต้ผ่ากลางประเทศพม่า จากทางตอนเหนือของเมืองมิตจีนา (Myitkyina) และพาดผ่านเมืองสำคัญมากมาย เช่น เมืองมัณฑะเลย์ (Mandalay), ตองยี (Tounggyi), เนปยีดอ (Naypyidaw), พะโค (Bago), ย่างกุ้ง (Yangon) และต่อยาวลงไปในทะเลอันดามัน 

 

sagaing

 

ผลจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนสะกาย ทำให้เกิดแผ่นดินไหวตามแนวรอยเลื่อนอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ซึ่งฐานข้อมูลแผ่นดินไหวที่ได้จากเครื่องมือตรวจวัด (Instrumental Records) ระบุว่าในช่วงปี พ.ศ. 2507-2555 (48 ปี) เคยเกิดแผ่นดินไหวหลัก (Mainshock) บริเวณรอบๆ รัศมี 100 กิโลเมตรจากรอยเลื่อนสะกายประมาณ 276 เหตุการณ์ โดยมีขนาดแผ่นดินไหวระหว่าง 2.9-7.3 

 

แผ่นดินไหวที่เกิดจากรอยเลื่อนสะกายในเมียนมายังมักส่งคลื่นแผ่นดินไหวที่ส่งผลกระทบมายังประเทศไทย โดยเฉพาะในเขตภาคกลาง จากบันทึกและการศึกษาในอดีต เราพบว่าแผ่นดินไหวที่เกิดจากการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนสะกายนั้นไม่ได้เป็นเพียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งเดียว แต่มีความถี่และความรุนแรงที่แตกต่างกันไป ตั้งแต่แผ่นดินไหวขนาดเล็กไปจนถึงเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายครั้งใหญ่ ตัวอย่างเหตุการณ์ที่สำคัญ ได้แก่

 

แผ่นดินไหวขนาด 8.0 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2455


เหตุการณ์นี้เกิดบริเวณเมืองมัณฑะเลย์ ทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงทั้งในประเทศพม่าและส่งผลกระทบถึงพื้นที่ใกล้เคียง

 

แผ่นดินไหวขนาด 7.3 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2473


เหตุการณ์ในช่วงนี้ได้สร้างความเสียหายต่อโครงสร้างสำคัญในบริเวณย่างกุ้งและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

 

แผ่นดินไหวขนาด 7.3 อีกครั้งเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2473


เหตุการณ์ในครั้งนี้มีจุดศูนย์กลางที่เมืองพะโค ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 คน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่กว้างขวางและต่อเนื่องของรอยเลื่อนนี้

 

โดยเว็บไซต์มิตรเอิร์ธยังประเมินว่าใน 6 เมืองสำคัญบริเวณใกล้เคียงรอยเลื่อนสะกาย (เมืองมิตจีนา มัณฑะเลย์ ตองยี เนปยีดอ พะโค และเมืองย่างกุ้ง) บ่งชี้ว่าเมืองมิตจีนาและเมืองเนปยีดอเป็นเมืองที่มีโอกาสได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวมากที่สุด โดยมีโอกาส 40-60% ที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.0 ในอีก 50-100 ปี ในขณะที่เมืองมัณฑะเลย์และย่างกุ้ง ซึ่งประเมินว่าเป็นเมืองที่มีพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวต่ำที่สุด มีโอกาสต่ำกว่า 10% ที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.0 แมกนิจูด ในอีก 100 ปี 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising