สัปดาห์ที่ผ่านมาจีนจัดการประชุมสองสภาหรือที่เรียกว่า Two Sessions ซึ่งโดยปกติทั่วโลกจะจับสัญญาณหรือทิศทางของนโยบายจีนว่ากำลังจะมุ่งไปในทางไหนหรือให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรเป็นพิเศษ ซึ่งปีนี้จัดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และสมรภูมิการค้าโลกที่กำลังร้อนระอุ หลังการมาของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่กำลังเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกใบเดิมที่เรารู้จัก
การประชุมของสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) และสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาติ (CPPCC) ที่เพิ่งปิดฉากไปมีอะไรน่าสนใจในปีนี้ อาจสรุปได้อยู่ 5 เรื่อง ซึ่งสะท้อนสิ่งที่รัฐบาลจีนกำลังให้ความสำคัญ
เดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่น
เรื่องเศรษฐกิจจีนจะไปอย่างไรต่อเป็นประเด็นที่ทั่วโลกกำลังจับตาว่ารัฐบาลจีนจะผุดมาตรการอะไรออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังซบเซา
ปีนี้จีนตั้งเป้า GDP โต 5% เท่ากับปีก่อนหน้า ขณะเดียวกันก็มีการประกาศชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น เงินอุดหนุนผู้บริโภค 300,000 ล้านหยวน การอัดฉีดเงินเข้าสถาบันการเงินของรัฐ 500,000 ล้านหยวน เพิ่มโควตาพันธบัตรพิเศษของรัฐบาลท้องถิ่นอีก 500,000 ล้านหยวน และปรับสัดส่วนขาดดุลงบประมาณต่อ GDP เป็น 4% จาก 3% ในปีก่อน
สิ่งที่หลายฝ่ายกังวลคือปัญหาเดิมที่ยังหมักหมมอยู่โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงยืนยันว่า เศรษฐกิจจีนกำลังได้โมเมนตัมเพิ่มขึ้น หลังผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ส่งสัญญาณว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเมื่อปีที่แล้ว โดยรัฐมนตรีการเคหะเผยกับนักข่าวเมื่อวันอาทิตย์ที่แล้วว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์กำลังเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก ขณะที่รัฐมนตรีทรัพยากรมนุษย์เผยว่าสถานการณ์การจ้างงานในจีนก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น
ส่งเสริมเทคโนโลยีแห่งอนาคต
เรื่องเทคโนโลยีเป็นหนึ่งในสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญและบรรจุในแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวมาตลอด การมาของ DeepSeek กลายเป็นไพ่เด็ดในมือจีนอันเป็นผลิตผลจากแผนพัฒนาของจีนฉบับล่าสุด และทำให้จีนได้รับการจับตาว่าจะเป็นมหาอำนาจด้าน AI ซึ่งแน่นอนว่า บริษัทผู้พัฒนา DeepSeek กลายเป็นจุดสนใจของการประชุม ‘สองสภา’ โดยมีเสียงชื่นชมแนวทาง Open Source ของบริษัทที่เปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาศักยภาพของ AI และเป็นการแชร์ ’ภูมิปัญญาจีน’ กับโลกด้วย
นอกจาก DeepSeek แล้ว AI จีนอีกค่ายที่น่าจับตาคือ Manus ของ Alibaba ที่เพิ่งเปิดตัว และถูกหยิบมาเปรียบเทียบกับ AI ของ DeepSeek
อีกสิ่งที่น่าถอดรหัสจากการประชุมครั้งนี้คือการที่ผู้บริหารจากบริษัทเอกชนรายใหญ่อย่าง เหลยจวิน จาก Xiaomi ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์อัจฉริยะรายใหญ่ และเหอเสี่ยวเผิง ผู้ร่วมก่อตั้ง XPeng Motor ผู้ผลิตรถ EV ยักษ์ใหญ่ที่ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนภาคเอกชนในการกล่าววิสัยทัศน์ต่อสื่อมวลชน ซึ่งก็สะท้อนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่เริ่มเปิดกว้างและมุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่าการสนับสนุนภาคเอกชนของรัฐบาลจะเป็นอย่างไร ซึ่งเดิมนักวิเคราะห์คาดหวังว่าจะมีการถกเกี่ยวกับกฎหมายส่งเสริมเศรษฐกิจเอกชนในที่ประชุม NPC แต่ปรากฏว่าไม่อยู่ในวาระประชุม โดยโฆษกรายหนึ่งเผยว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะถูกบรรจุในการประชุมคณะกรรมการ NPC ในอนาคต ซึ่งเราคงต้องจับตากันต่อไป
เสริมความเข้มแข็งกองทัพ ปกป้องผลประโยชน์
จีนยังคงเดินหน้าเพิ่มงบกลาโหมต่อเนื่อง โดยปีนี้จะเพิ่มขึ้นแตะ 1.81 ล้านล้านหยวน (249,000 ล้านดอลลาร์) หรือ 7.2% ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีน แต่หลี่เฉียง นายกรัฐมนตรีระบุในรายงานว่า การเพิ่มงบกลาโหมมีเป้าหมายเพื่อพัฒนา ‘ขีดความสามารถในการสู้รบ’ และ ‘รักษาอธิปไตยและผลประโยชน์แห่งชาติ’
ขณะที่ Xinhua รายงานว่า ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้พูดกับตัวแทนกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนและกองกำลังตำรวจติดอาวุธว่า ยังมีความท้าทายและปัญหาอีกมากที่พวกเขาต้องแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเน้นให้มี “การบริหารจัดการที่ทันสมัยและเป็นระบบ รวมถึงมีระบบตรวจสอบที่เข้มงวดเพื่อขจัดปัญหาคอร์รัปชันในกองทัพ
ส่วนประเด็นไต้หวัน โฆษกกองทัพจีนประกาศว่ากองทัพจีนต่อต้านขบวนการแบ่งแยกดินแดนไต้หวัน และเตือนว่า ยิ่งพรรครัฐบาลหมินจิ้นตั่ง (DPP) ในไต้หวันเคลื่อนไหวมากเท่าใด จีนก็จะมีมาตรการตอบโต้มากขึ้น
สร้างความมั่นคงทางอาหาร ท่ามกลางสงครามภาษี
อีกสิ่งที่จีนให้ความสำคัญในการประชุมสองสภาปีนี้คือการสร้างหลักประกันด้านความมั่นคงทางอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงประชากร 1,400 ล้านคน แม้ปีที่แล้วจีนจะมีผลผลิตธัญพืชสูงเป็นประวัติการณ์ก็ตาม
หันจวิน รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรเตือนว่าจีนยังต้องพึ่งพาการนำเข้าเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ
ขณะที่สงครามการค้าก็เป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความผันผวน และทำให้ต้องเร่งเสริมสร้างขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเองในด้านอาหาร
รัฐมนตรีเกษตรย้ำว่า จีนต้องพึ่งตัวเองเพื่อเลี้ยงประชากร 1,400 ล้านคน “เราไม่สามารถพึ่งจมูกคนอื่นหายใจได้”
สารจากหวังอี้ และการต่างประเทศของจีน
การแถลงข่าวของหวังอี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน ก็ถูกจับตามากเช่นกัน
จีนตอกย้ำว่ามีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับรัสเซีย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ประกาศความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รอบด้านระหว่างกัน การมาของทรัมป์ถูกจับตาว่าจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่งกับมอสโกหรือไม่ เพราะดูเหมือนทรัมป์ก็พยายามดึงปูตินออกมาจากสีจิ้นผิง
ท่ามกลางสงครามการค้าและการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสองมหาอำนาจ จีนยังตอกย้ำภาพลักษณ์ตนเองว่าเป็นผู้นำของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา หรือโลกขั้วใต้ (Global South) และแสดงท่าทีพร้อมพูดคุยกับยุโรปและอินเดีย แม้ว่ายังมีประเด็นขัดแย้งที่ค้างคาอยู่ ซึ่งในยามที่สหรัฐฯ ภายใต้ทรัมป์มีนโยบายที่ยึดผลประโยชน์ของสหรัฐฯ มาก่อน ทำให้เกิดความไม่ลงรอยกับหลายประเทศในหลายเรื่อง จีนแสดงให้เห็นว่าพร้อมอ้าแขนรับประเทศเหล่านี้ทุกเมื่อ
จีนยังแสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อสหรัฐฯ โดยปฏิเสธข้อกล่าวหาของวอชิงตันที่โยงจีนกับการเป็นต้นทางของเฟนทานิลที่ใช้ผลิตยาเสพติด ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทรัมป์ใช้อ้างขึ้นภาษีจีน ขณะเดียวกันหวังอี้ยังวิจารณ์วอชิงตันว่า “ทำตัวสองหน้า” พร้อมยืนยันว่าไม่มีประเทศใดสามารถกดดันจีนในทางหนึ่ง แล้วหวังจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนในอีกทางหนึ่งได้
แต่ถึงแม้ด้านหนึ่งจีนจะแสดงจุดยืนแข็งกร้าวต่อสหรัฐฯ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็พร้อมเปิดประตูเจรจา ด้วยแนวคิดที่สีจิ้นผิงเคยกล่าวไว้ว่า โลกนี้กว้างใหญ่พอสำหรับจีนและสหรัฐฯ ในการอยู่ร่วมกันและเจริญรุ่งเรืองไปด้วยกัน
ภาพ: Han Haidan / China News Service / VCG via Getty Images