พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวเปิดงาน Gender Matters ที่จัดขึ้นโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ว่า กลุ่มประชากรของประเทศไม่ได้จำกัดแค่ชายและหญิงเท่านั้น แต่ยังประกอบไปด้วยกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอีกจำนวนมาก แต่เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดทำการสำรวจสถิติประชากรกลุ่มดังกล่าวทั่วประเทศ จึงทำให้ไม่สามารถระบุจำนวนที่แน่ชัดได้ อย่างไรก็ดี ในมิติของการส่งเสริม คุ้มครอง และปกป้องสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้น เราทุกคนควรพึงตระหนักว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมามีศักดิ์ศรี มีความเสมอภาค และต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นเพศใด
ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรม ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยที่ผ่านมาได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายในการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริม และสร้างความตระหนักถึงสิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างต่อเนื่อง
สำหรับเรื่องสิทธิในการแต่งงานและการมีชีวิตครอบครัว (Right to marriage and family life) เป็นหนึ่งในประเด็นที่กระทรวงยุติธรรมให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ได้รับรองไว้ในหลักการสิทธิมนุษยชนสากลหลายฉบับ เช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ที่ไทยได้เข้าเป็นภาคี และหลักการยอกยาการ์ตาว่าด้วยการปรับใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในประเด็นวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ ค.ศ. 2006 ทั้งยังสอดคล้องกับแผนการดำเนินงานที่กำหนดไว้ในแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ในส่วนของแผนสิทธิมนุษยชนของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ/อัตลักษณ์ทางเพศ
อย่างไรก็ตาม ร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต 98 มาตรา ที่อยู่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อรับรองสิทธิและความสัมพันธ์ของคู่รักเพศเดียวกันตามกฎหมาย และเป็นจุดเริ่มต้นในการรับรองสิทธิต่างๆ ที่บุคคลสองคนในฐานะคู่ชีวิตพึงได้รับตามกฎหมาย
โดย พล.อ.อ. ประจิน เปิดเผยว่า ทางกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพจะยกร่างแล้วเสร็จในเดือนกันยายนนี้ และกระทรวงจะนำร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบหลักการให้เดือนธันวาคม 2561 หากประสบความสำเร็จในการผลักดันร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต ประเทศไทยจะถือเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศแรกๆ ของเอเชีย ที่รับรองความสัมพันธ์ของบุคคลเพศเดียวกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้การผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ต้องอาศัยความร่วมมือ และแรงขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วน ตลอดจนการบูรณาการทางความรู้และความเชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา
ปัจจุบัน ประเทศที่ได้รับรองกฎหมายในทำนองเดียวกันแล้ว เช่น การรับรองความสัมพันธ์ในฐานะคู่ชีวิต ได้แก่ ออสเตรีย ชิลี กรีซ อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงญี่ปุ่นในบางเมือง หรือการรับรองการสมรสของคนเพศเดียวกันในลักษณะที่เทียบเท่าคู่รักชายหญิง ได้แก่ แคนาดา ฟินแลนด์ สวีเดน สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เป็นต้น
ในงานดังกล่าวมีเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย, ศาสตราจารย์กิตติคุณอมรา พงศาพิชญ์, ศาสตราจารย์กิตติคุณวิทิต มันตาภรณ์,
นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย และผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ องค์การระหว่างประเทศ สถานทูต และภาคประชาสังคม มาร่วมกิจกรรมด้วย