กระทรวงพาณิชย์จีนออกแถลงการณ์ประณามสหรัฐฯ ว่า กำลังทำสงครามการค้าที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ หลังสหรัฐฯ เริ่มบังคับใช้มาตรการภาษีอากรกับสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 3.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ตั้งแต่เมื่อเที่ยงวันที่ผ่านมาตามเวลากรุงปักกิ่ง
สำหรับมาตรการทางภาษีที่คณะบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มประกาศใช้ ครอบคลุมสินค้าหมวดเครื่องจักรอุตสาหกรรม เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฮเทค เครื่องมือการแพทย์ และชิ้นส่วนรถยนต์ โดยจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าที่อัตราสูงถึง 25%
นอกจากมาตรการข้างต้นแล้ว สหรัฐฯ ยังมีแผนขยายกรอบกำแพงภาษีครอบคลุมสินค้านำเข้าจีนอีกรวมมูลค่า 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้าด้วย
“จีนถูกบีบให้ต้องตอบโต้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนและผลประโยชน์แห่งชาติระดับแกนกลาง” กระทรวงพาณิชย์จีนระบุในคำแถลง แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่าจีนจะตอบโต้อย่างไร แต่รัฐบาลเคยเตือนก่อนหน้านี้ว่าจะตั้งกำแพงภาษีกับรถ SUV, เนื้อสัตว์ และอาหารทะเลนำเข้าจากสหรัฐฯ
ล่าสุดมีรายงานเพิ่มว่า รัฐบาลจีนได้บังคับใช้มาตรการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 3.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในอัตรา 25% แล้วเช่นกัน
การเปิดศึกการค้าระหว่าง 2 ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับนักลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก นอกจากนี้บริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคก็เตือนด้วยว่าผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากราคาสินค้าอาจแพงขึ้นด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น
ด้านนักเศรษฐศาสตร์หลายคนระบุว่า หากจีนและสหรัฐฯ เลิกงัดข้อกันตั้งแต่ตอนนี้ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศก็ยังอยู่ในขอบเขตที่ไม่มาก แม้ว่าอุตสาหกรรมบางแห่งจะได้รับความเสียหายไปแล้วก็ตาม แต่การที่ทรัมป์ข่มขู่ว่าจะตอบโต้จีนเพิ่มอีก หากจีนพยายามเอาคืนสหรัฐฯ ก็ทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีก เนื่องจากสองฝ่ายไม่มีทีท่าว่าจะรอมชอมหรือตกลงกันได้
ล่าสุดเมื่อวานนี้ทรัมป์ยังขู่ว่าจะขยายกรอบกำแพงภาษีครอบคลุมสินค้านำเข้าจีนรวมมูลค่าสูงกว่า 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมากกว่าที่ทรัมป์เคยขู่ไว้ที่ 4.5 แสนล้านเหรียญ และสูงกว่ายอดนำเข้าสินค้าจากจีนรวมมูลค่า 5.05 แสนล้านเหรียญเมื่อปีที่แล้ว
สำหรับผลกระทบต่อไทยหากสหรัฐฯ ทำสงครามการค้ากับจีนอย่างไม่หยุดหย่อนเช่นนี้ นักวิเคราะห์ประเมินว่า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าหมวดเหล็กและอะลูมิเนียมที่สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีจากจีนเพิ่มที่อัตรา 25% และ 10% ก่อนหน้านี้ จะไหลทะลักเข้าไทยและประเทศในอาเซียนแทน และหากศึกการค้าดำเนินยืดเยื้อ ก็อาจส่งผลให้ผู้ประกอบการจีนพิจารณาย้ายฐานการผลิตมาไทยหรือประเทศอื่นๆ แทน
อ้างอิง: