×

เมื่อแมนฯ ยูไนเต็ด ต้องรัดเข็มขัดเพื่อกู้วิกฤตการเงิน

25.02.2025
  • LOADING...
แมนฯ ยูไนเต็ด

กลายเป็นข่าวใหญ่ที่สร้างความไม่สบายใจให้กับพนักงานภายในสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ภายหลังสโมสรร่อนแถลงการณ์ฉบับสำคัญที่อธิบายถึงความจำเป็นในการเตรียมปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ ด้วยการปลดพนักงาน 200 ตำแหน่ง เพื่อกู้สถานะการเงินของสโมสรที่ประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่อง 5 ปีนับตั้งแต่ปี 2019

 

ต้นตอปัญหาการเงินของปีศาจแดง

 

แม้จะเป็นสโมสรฟุตบอลที่มีมูลค่าอันดับ 2 ของโลกตามข้อมูลของ Forbes แต่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กำลังประสบปัญหาทางการเงินอย่างต่อเนื่องตลอด 5 ปีที่ผ่านมา จนล่าสุด INEOS ภายใต้การนำของ เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ ต้องเดินหน้าปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ เพื่อพาสโมสรกลับสู่เสถียรภาพ

 

หนึ่งในปัจจัยสำคัญคือ หนี้สินจากยุคตระกูลเกลเซอร์ที่ทำให้สโมสรยังต้องจ่ายดอกเบี้ยทุกปีจากภาระหนี้กว่า 500 ล้านปอนด์ ขณะที่ผลประกอบการล่าสุดเผยว่ายูไนเต็ดขาดทุน 27.7 ล้านปอนด์ในไตรมาสเดียว และรวมกว่า 300 ล้านปอนด์ตลอด 3 ปีหลังสุด

 

ต่อมาคือเรื่องของฟอร์มการเล่นที่ตกต่ำส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ของทีม โดยเฉพาะการพลาดตั๋วยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกฤดูกาลที่ผ่านมา (และอาจรวมถึงฤดูกาลหน้า) ทำให้รายได้จากสปอนเซอร์จะลดลง เช่นเดียวกับข้อตกลงของ adidas ที่ระบุว่า หากแมนฯ ยูไนเต็ด ไม่ได้ไปเล่น UCL รายได้จากสัญญาจะลดลง 10 ล้านปอนด์ต่อปี

 

ด้านค่าเหนื่อยนักเตะ ยูไนเต็ดเป็นหนึ่งในทีมที่มีภาระค่าเหนื่อยสูงเป็นลำดับต้นๆ ของพรีเมียร์ลีก โดยมีนักเตะหลายคนรับค่าแรงระดับ 3 แสนปอนด์ต่อสัปดาห์ แต่กลับไม่สามารถโชว์ฟอร์มได้ตามที่คาดหวัง เช่น จาดอน ซานโช, คาเซมิโร และ มาร์คัส แรชฟอร์ด

 

ขณะเดียวกันปัญหายังลามทุ่งไปถึงค่าฉีกสัญญาและค่าชดเชยรวมของโค้ชที่ถูกปลดไปก่อนหน้านี้ที่สโมสรเสียไปแล้วกว่า 50 ล้านปอนด์ให้กับกุนซือที่ถูกปลดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เช่น โชเซ มูรินโญ 19.6 ล้านปอนด์, โอเล กุนนาร์ โซลชาร์ 7.5 ล้านปอนด์, เอริก เทน ฮาก 14.5 ล้านปอนด์ รวมถึงค่าชดเชย 11 ล้านปอนด์ในการดึง รูเบน อโมริม มาเป็นเฮดโค้ชคนใหม่

 

ปฏิบัติการกู้สถานะการเงินของสโมสร

 

ตอนนี้แมนฯ ยูไนเต็ด เข้าใจถึงปัญหาทางการเงินทุกอย่างแบบถี่ถ้วน นั่นจึงทำให้รอบปีที่ผ่านมาเราได้เห็นข่าวบอร์ดบริหารแก้ปัญหาการเงินอย่างหนักด้วยการดำเนินการตามแผน ‘Transformation Plan’ เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุดและกลับมาทำกำไรอีกครั้ง นั่นรวมถึงแผนการปลดพนักราว 150-200 ตำแหน่งภายใน 3-4 เดือนข้างหน้า

 

ตามข้อมูลของ BBC Sport เปิดเผยว่า ปัจจุบันแมนฯ ยูไนเต็ด มีพนักงานจำนวน 1,140 ชีวิต และหากรวมกับการปลดคนรอบแรก เท่ากับว่าจะมีพนักงานที่ถูกปลดรวม 450 ตำแหน่ง

 

โดย โอมาร์ เบอร์ราดา ซีอีโอของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กล่าวในแถลงการณ์ล่าสุดว่า “เรามีหน้าที่รับผิดชอบทำให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แข็งแกร่งที่สุดในการแข่งขันทั้งในทีมชาย ทีมหญิง และอะคาเดมี เรากำลังดำเนินมาตรการหลายด้านเพื่อปรับโฉมสโมสร ซึ่งน่าเสียดายที่รวมถึงการลดจำนวนพนักงานเพิ่มเติม เราเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเพื่อนร่วมงานที่ได้รับผลกระทบ แต่การตัดสินใจครั้งนี้เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้สโมสรกลับมามั่นคงทางการเงิน

 

“เมื่อกระบวนการนี้เสร็จสิ้น แมนฯ ยูไนเต็ด จะเป็นสโมสรที่มีโครงสร้างคล่องตัว ยืดหยุ่น และมีเสถียรภาพทางการเงินมากขึ้น ขณะเดียวกันเรายังคงให้บริการกับบริษัทพันธมิตรของเรา จากนั้นเราจะอยู่ในจุดที่แข็งแกร่งต่อการลงทุนเพื่อความสำเร็จของทีม รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของสโมสรให้ดีขึ้น ในขณะที่ยังคงปฏิบัติตามกฎระเบียบการเงินของยูฟ่าและพรีเมียร์ลีก”

 

อย่างไรก็ตาม นอกจากการปรับลดจำนวนพนักงานแล้ว แมนฯ ยูไนเต็ด ยังต้องดำเนินมาตรการลดต้นทุนในหลายด้านไม่ว่าจะเป็น

 

– การทยอยปล่อยนักเตะค่าเหนื่อยสูง (ที่ไม่อยู่ในแผน) ออกจากทีม เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย และปรับโครงสร้างเพดานค่าจ้างใหม่ (แม้ต้องขาดทุนในบางรายก็ตาม)

 

– การตัดงบอาหารกลางวันฟรีสำหรับพนักงาน ซึ่งช่วยประหยัดได้ถึง 1 ล้านปอนด์ต่อปี

 

– การลดขนาดสำนักงานในลอนดอน โดยย้ายพนักงานบางส่วนไปประจำที่ศูนย์ฝึก Carrington

 

และหนึ่งในข่าวใหญ่ของปีที่ผ่านมาคือ การยกเลิกสัญญาทูตสโมสรของ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน อดีตกุนซือระดับตำนานของทีม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งมาตรการเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายหลายล้านปอนด์ของสโมสร

 

ถึงตอนนี้ฝ่ายบริหารพยายามเร่งแก้ปัญหาการเงิน ขณะที่นักเตะและทีมงานก็ต้องออกแรงอย่างหนักเพื่อกู้สถานการณ์ในสนาม หลังทีมร่วงลงมาอยู่อันดับ 15 ของพรีเมียร์ลีก

 

ดังนั้นการกอบกู้สถานะของแมนฯ ยูไนเต็ด ไม่ใช่เรื่องที่จะเห็นผลได้ในชั่วข้ามคืน แต่นี่คือการสร้างรากฐานทางการเงินให้แข็งแกร่งในระยะยาว ไม่ใช่เพียงการอัดฉีดเงินก้อนโตเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเหมือนที่เคยทำมา

 

เพียงแต่…แฟนปีศาจแดงอาจต้องอดทนอีกสักหน่อย เพราะบางที…เมื่อพายุพัดผ่านไป อะไรๆ อาจจะดีขึ้นกว่าเดิมก็ได้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising