×

ตรวจสายสื่อสารเถื่อน ลากข้ามสะพานมิตรภาพฯ จากไทยไปลาว

โดย THE STANDARD TEAM
25.02.2025
  • LOADING...
สายสื่อสารเถื่อน

วันนี้ (25 กุมภาพันธ์) ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสทช. ภาค 2 ซึ่งครอบคลุมการดูแลพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดหนองคายและกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 3 

 

ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบการลักลอบลากสายสื่อสารข้ามไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) บนสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 1 โดยเจ้าหน้าที่เปิดฝาท่อด้านข้างของถนนบนสะพาน ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของกรมทางหลวง เนื่องจากเป็นลักษณะการลากสายผ่านท่อขนาบข้างไปกับทางสัญจรมุ่งไปยัง สปป.ลาว 

 

ทาง กสทช. ได้เชิญผู้ให้บริการสายสื่อสารภาคเอกชนมาแสดงตัว เพื่อยืนยันสายสัญญาณของตัวเอง โดยใช้วิธีแปะเทปพร้อมระบุชื่อบริษัทเป็นสัญลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งบริเวณจุดนี้มีผู้ให้บริการสายสื่อสารของประเทศไทยที่ได้รับอนุญาต 8 ราย ส่วน สปป.ลาว มี 5 สายที่ได้รับอนุญาต

 

ไตรรัตน์กล่าวภายหลังการตรวจสอบว่า ในจุดนี้ผู้ให้บริการสายสื่อสารทุกบริษัทมาแสดงตนครบ แต่พบว่ามีสายที่มีปัญหา 2 เส้น คือ เส้นแรกติดสัญลักษณ์ของบริษัทแห่งหนึ่ง แต่พนักงานแจ้งว่าไม่ใช่ของบริษัทตนเอง ซึ่งเจ้าหน้าที่ กสทช. จะต้องไปตรวจสอบอีกครั้งว่าเป็นของผู้ประกอบการรายใด 

 

ส่วนอีกหนึ่งเส้นยังไม่มีผู้ให้บริการมาแสดงตน แขวงทางหลวงให้ข้อมูลว่าอาจเป็นสายเก่าที่ไม่ได้ใช้งานและมาจากฝั่ง สปป.ลาว ดังนั้นจึงต้องไปตรวจสอบรายละเอียดให้แน่ชัดก่อนที่จะดำเนินการตัดสายสื่อสารที่ไม่มีเจ้าของดังกล่าว

 

ไตรรัตน์ระบุว่า สำนักงาน กสทช. มีแผนดำเนินการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับกรมทางหลวง ขอให้มีการตรวจสอบการพาดสายสื่อสารของผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ให้บริการระหว่างประเทศร่วมกัน เพื่อป้องกันการลักลอบลากสายสื่อสารเถื่อนข้ามสะพาน ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างประเทศจำนวน 17 สะพานทั่วประเทศ  

 

“เมื่อช่วงก่อนปีใหม่ สำนักงาน กสทช. ได้ลงพื้นที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาวไปแล้วครั้งหนึ่ง และพบว่ามีการลากสายสื่อสารเถื่อนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน วันนี้เราจึงลงพื้นที่อีกครั้งเพื่อจัดระเบียบสายสื่อสาร โดยให้ผู้รับใบอนุญาตที่เป็นเจ้าของสายสื่อสารติดแท็กเพื่อระบุความเป็นเจ้าของสายสื่อสาร ซึ่งปัจจุบันมีผู้รับใบอนุญาตที่ให้บริการแบบมีโครงข่าย ทั้งอินเทอร์เน็ตและวงจรเช่า ระหว่างประเทศ จำนวน 68 ราย” ไตรรัตน์กล่าว

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising