นับตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นเวลากว่า 8 วันแล้วที่โป๊ปฟรานซิส ซึ่งเป็นพระสันตะปาปาองค์ที่ 226 แห่งพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก และมีพระชนมายุกว่า 88 พรรษา ทรงได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลอาโกสติโน เจเมลลี (Agostino Gemelli) ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี โดยพระสันตะปาปาฟรานซิสประชวรด้วย ‘โรคปอดบวมทั้งสองข้าง’ และ ‘ติดเชื้อหลายชนิดทั้งไวรัสและแบคทีเรีย’ ภารกิจต่างๆ ของพระสันตะปาปาฟรานซิสในช่วงนี้จึงถูกยกเลิกทั้งหมด
อาการยังคงน่าเป็นห่วง
แถลงการณ์จากวาติกันหรือสันตะสำนัก (Holy See) เผยถึงอาการป่วยของพระสันตะปาปาฟรานซิสที่ยังคงน่าเป็นห่วง และยังคงต้องดูแลอย่างใกล้ชิด โดย ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ทางสันตะสำนักได้ประกาศถึงอาการของพระสันตะปาปาฟรานซิสว่าพระองค์อยู่ใน ‘อาการขั้นวิกฤต’ และก่อนหน้านี้หนึ่งวันแพทย์ผู้ถวายการรักษาพระสันตะปาปาฟรานซิสได้กล่าวรายงานว่า “พระสันตะปาปายังไม่พ้นขีดอันตรายถึงชีวิต” การประกาศนี้ทำให้ดูเหมือนว่าอาการที่ดีขึ้นของพระสันตะปาปาในช่วงก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเรื่องที่พระสันตะปาปาสามารถ ‘พักผ่อนได้ดี’ และ ‘เสวยพระกระยาหารเช้าได้’ กลายเป็นสัญญาณความหวังชั่วคราว
พระอาการของพระสันตะปาปาฟรานซิสที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ก่อให้เกิดกระแสข่าวลือและการคาดการณ์มากมาย หลายคนมองว่านี่คือสัญญาณการสิ้นสุดวาระของพระสันตะปาปาฟรานซิส ซึ่งจะนำไปสู่การเลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่ในไม่ช้า ยิ่งไปกว่านั้น การยุติบทบาทของพระสันตะปาปาฟรานซิสในฐานะพระสันตะปาปาอาจหมายถึงการเปลี่ยนแปลงทิศทางของพระศาสนจักรคาทอลิก ทั้งด้านการบริหารภายในของพระศาสนจักรคาทอลิกเอง และบทบาทของพระศาสนจักรคาทอลิกต่อสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ที่ไม่แน่นอนในปัจจุบัน เนื่องด้วยตำแหน่งพระสันตะปาปานั้นมีฐานะเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของคริสตชนนิกายโรมันคาทอลิกทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นผู้นำรัฐวาติกันซึ่งชาติตะวันตกต่างยึดถือเป็นบุคคลอ้างอิงด้านศีลธรรมและจริยธรรม
พระสันตะปาปาฟรานซิสยังคงเป็นพระสันตะปาปา
อย่างไรก็ตาม กระแสข่าวลือเกี่ยวกับพระสันตะปาปาฟรานซิสดังกล่าว ทำให้บาทหลวงชั้นผู้ใหญ่ออกมาปฏิเสธ พระคาร์ดินัลปิเอโตร ปาโรลิน (Pietro Parolin) เลขาธิการรัฐวาติกัน (Secretary of State – เทียบได้กับนายกรัฐมนตรี) ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์อิตาลี Corriere della Sera เกี่ยวกับการลาออกของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสว่า “ทั้งหมดนี้ดูเหมือนจะเป็นการคาดเดาที่ไม่มีมูลเหตุ ในขณะนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ควรคำนึงถึงคือ สุขภาพของสมเด็จพระสันตะปาปา การพักฟื้นพระวรกาย และการกลับไปยังวาติกัน”
ในขณะเดียวกัน พระคาร์ดินัลวิกเตอร์ มานูเอล เฟอร์นันเดซ (Víctor Manuel Fernández) นักเทววิทยาชาวอาร์เจนตินา และเป็นสมาชิกในคณะเยสุอิต ซึ่งใกล้ชิดกับพระสันตะปาปาฟรานซิส อีกทั้งยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประจำสมณกระทรวงคำสอนเพื่อพระสัจธรรม (Dicastery for the Doctrine of the Faith) อันเป็นหนึ่งในกระทรวงที่มีความสำคัญที่สุดในวาติกัน ได้แจ้งกับนักข่าวจากหนังสือพิมพ์อาร์เจนตินา La Nación ว่า “ไม่ได้รู้สึกว่าถึงบรรยากาศก่อนการเลือกตั้งพระสันตะปาปา ข้าพเจ้าไม่ได้ยินอะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้สืบทอดตำแหน่ง (พระสันตะปาปา) มากไปกว่าหนึ่งปีที่แล้ว ไม่มีอะไรพิเศษ”
แนวทางการรักษา
โดยทั่วไปแล้ว อาการปอดบวมทั้งสองข้างคือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ อาการจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย โดยทั่วไปจะมีไข้สูง ไอรุนแรง หายใจลำบาก และปวดบริเวณทรวงอก อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อในเนื้อเยื่อปอดอาจทำให้เสียชีวิตได้
ในช่วงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น สันตะสำนักประกาศถึงการรักษาพระสันตะปาปาฟรานซิสโดยใช้ยาปฏิชีวนะที่มีสารของคอร์ติโซน ซึ่งเป็นการรักษาเพื่อลดอาการอักเสบจากการติดเชื้อ และต่อมาในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ มีการให้ออกซิเจนแบบแรงดันสูง เนื่องจากพระสันตะปาปายังคงมีอาการหายใจลำบากอย่างรุนแรง
ผู้เชี่ยวชาญด้านทางเดินหายใจ นพ.เฟรเดอริก เลอ กิลยู (Frédéric Le Guillou) ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ La Croix เกี่ยวกับแนวทางการรักษาว่า “หากดูตามแถลงการณ์แล้ว พระสันตะปาปาได้รับยาปฏิชีวนะ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลากว่า 48 ชั่วโมง เพื่อดูว่าพระสันตะปาปาฟรานซิสตอบสนองต่อการรักษาอย่างไร โดย นพ.เฟรเดอริก เลอ กีลู ยังกล่าวเสริมอีกว่า “เมื่อผ่านระยะเวลา 48 ชั่วโมงไปแล้ว แพทย์ที่ทำการรักษาอาจใช้ยาปฏิชีวนะตัวอื่น โดยสถานการณ์ปัจจุบันต้องพิจารณาวันต่อวัน”
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้อาการของพระสันตะปาปาฟรานซิสยังคงน่าเป็นห่วง
ประเด็นที่ 1 นั้น คือ เรื่องของอายุของพระสันตะปาปาฟรานซิส ซึ่งในปัจจุบันพระสันตะปาปาฟรานซิสมีพระชนมายุถึง 88 พรรษา สำหรับ นพ. เฟรเดอริก เลอ กิลยู หนึ่งในความยากลำบากในการรักษามาจากภาวะภูมิคุ้มกันที่ลดลง เนื่องมาจากอายุของพระสันตะปาปา เมื่อมีอายุมากขึ้น “ระบบภูมิคุ้มกันก็ทำงานได้ไม่ดีนัก”
ประเด็นที่ 2 คือ ประวัติสุขภาพของพระสันตะปาปาฟรานซิส เมื่อย้อนดูประวัติสุขภาพของพระองค์ ย่อมเห็นได้ว่าพระสันตะปาปาฟรานซิสมีประวัติติดเชื้อในปอดรุนแรงในช่วงวัยหนุ่ม จนทำให้ต้องมีการผ่าตัดปอดส่วนหนึ่งออกไป ผลจากการผ่าตัดในอดีตนี้ได้เพิ่มความซับซ้อนให้กับบริบทในการรักษาพระสันตะปาปาฟรานซิส ในขณะเดียวกัน ตลอดระยะเวลากว่า 4 ปีที่ผ่านมา พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมาแล้วถึง 4 ครั้ง เนื่องด้วยปัญหาสุขภาพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดสะโพกร้าวลงขา ปัญหาหัวเข่า หรือหลอดลมอักเสบติดเชื้อ เป็นต้น
ประเด็นที่ 3 คือภารกิจของพระสันตะปาปาที่มีมากมายเกินกว่าสำหรับบุคคลที่มีอายุ 88 ปี ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าพระสันตะปาปาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งพระสันตะปาปาฟรานซิสก็เคยกล่าวถึงตัวเองอยู่บ่อยครั้งว่าพระองค์เป็นมนุษย์คนหนึ่ง มนุษย์ที่มีข้อจำกัด (คนบาปในมิติความเชื่อของศาสนาคริสต์)
ในฐานะผู้นำสูงสุดของพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก พระสันตะปาปาฟรานซิสมีหน้าที่ดูแลคริสตชนในนิกายโรมันคาทอลิกทั่วโลก เทศน์สอน ออกหนังสือเอกสารต่างๆ เพื่อให้ข้อคิดแก่เหล่าคริสตชนในการดำเนินชีวิต เช่น สมณสาส์น (Encyclical) หรือ สมณลิขิต (Apostolic Letter) ฯลฯ นอกจากนี้ในฐานะผู้นำรัฐวาติกัน พระสันตะปาปาฟรานซิสยังดูแลรับผิดชอบการบริหารงานภาพรวมภายในพระศาสนจักร ร่วมกับ ‘โรมัน คูเรีย’ (Roman Curia) อันประกอบไปด้วยกระทรวงและองค์กรราชการของวาติกันต่างๆ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบตามที่กำหนดภายใต้รัฐธรรมนูญ
ยิ่งไปกว่านั้น เป็นที่รู้กันว่าพระสันตะปาปาทรงมีประชุมอยู่บ่อยครั้ง และยังมีตารางงานที่อัดแน่น ซึ่งยังไม่นับการพบปะผู้นำประเทศ คณะผู้แทนภาครัฐ ผู้นำศาสนา ตลอดจนไปถึงคณะผู้มาเยือนจากทั่วทุกมุมโลกที่ได้ขอเข้าเฝ้าพระสันตะปาปา
การปกครองและการบริหารงานภายในพระศาสนจักรหรือวาติกันก็ยังคงดำเนินต่อไป
หากย้อนกลับไปในสมัยพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 (ซึ่งเคยเสด็จเยือนประเทศไทยในปี 1984 และทรงเป็นตัวแปรสำคัญในการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน รวมทั้งคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก) พระองค์ได้ล้มป่วยด้วยโรคพาร์กินสัน และในช่วง 2-3 ปีสุดท้ายก่อนที่พระองค์จะสวรรคต การดำเนินงานภายในพระศาสนจักรนั้นค่อนข้างติดขัด ถึงแม้ว่าเลขาธิการรัฐวาติกันสามารถดูแลงานด้านการบริหารปกครอง แต่ทว่าพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 เป็นผู้เดียวที่สามารถลงนามเอกสารทางการของวาติกันได้
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนั้น พระสันตะปาปาฟรานซิสยังคงมีสติสัมปชัญญะ สามารถเข้าใจและพูดคุยสื่อสารได้ จึงทำให้ไม่มีปัญหาเหมือนกรณีของพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ทั้งนี้ แพทริค วัลดรีนี (Patrick Valdrini) นักกฎหมายพระศาสนจักร ได้อธิบายถึงการบริหารพระศาสนจักรคาทอลิกในช่วงที่พระสันตะปาปาฟรานซิสป่วยแก่นักข่าวของหนังสือพิมพ์ La Croix ว่า “เลขาธิการรัฐวาติกันและรัฐมนตรีประจำสมณกระทรวงต่างๆ สามารถปรึกษาหารือกับพระสันตะปาปาฟรานซิสได้เมื่อจำเป็น และเวลาที่จะขอเข้าปรึกษานั้นก็ค่อนข้างจำกัด”
ผลกระทบต่อบทบาทพระศาสนจักรคาทอลิกในภูมิรัฐศาสตร์โลก
ไม่นานนักก่อนหน้าที่พระสันตะปาปาฟรานซิสล้มป่วย พระสันตะปาปาฟรานซิสได้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่อด้านผู้อพยพของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ อย่างชัดเจน ผ่านจดหมายถึงเหล่าบรรดาบิชอปในสหรัฐอเมริกา โดยเน้นให้เห็นว่า “ครอบครัวจากเมืองนาซาเรธ อันประกอบด้วยพระเยซู พระแม่มารี และนักบุญโยเซฟ ต่างเป็นผู้อพยพในอียิปต์ และลี้ภัยไปที่นั่นเพื่อหนีกษัตริย์ที่โกรธแค้น”
หากแต่ว่าช่วงที่พระสันตะปาปาฟรานซิสต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนั้น เป็นไปได้ที่พระสันตะปาปาจะพลาดเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวต่างๆ ในภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สงครามในประเทศยูเครน และความขัดแย้งที่รุนแรงในตะวันออกกลาง อันนำไปสู่การวางท่าทีของวาติกันในเวทีโลกที่ไม่ทันการณ์
ท่ามกลางสถานการณ์ในหลายพื้นที่ที่ยังคงประสบกับภัยสงคราม และสภาวะทางการเมืองในชาติตะวันตกที่กำลังเผชิญกับกระแสชาตินิยมและการต่อต้านผู้อพยพ พระสันตะปาปาฟรานซิส ผู้เป็นกระบอกเสียงให้แก่ผู้คนที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียงเพื่อให้ประชาคมโลกได้ตระหนักรับรู้ถึงความทุกข์ยาก เป็นบุคคลที่บรรดาผู้คนซึ่งอยากเห็นสังคมแห่งสันติภาพและความเป็นมนุษย์ต่างคิดถึง และเฝ้ารอวันที่พระองค์กลับมาปฏิบัติงานได้อีกครั้ง ส่วนผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกนั้น เวลานี้คงเป็นเวลาที่จะแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และหวังว่าพระสันตะปาปาฟรานซิสจะกลับมาร่วมฉลองปีศักดิ์สิทธิ์ภายใต้ธีม ‘ความหวัง’ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นแล้ว ณ ขณะนี้
ภาพ: Franco Origlia / Getty Images
อ้างอิง:
- https://www.vaticannews.va/en/pope/news/2025-02/pope-at-gemelli-hospital-respiratory-crisis-in-the-morning.html
- https://www.vaticannews.va/en/vatican-city/news/2025-02/parolin-fernandez-pope-health-no-resignation.html
- https://www.la-croix.com/sante/qu-est-ce-que-la-pneumonie-bilaterale-la-maladie-dont-souffre-le-pape-francois-20250219
- https://www.la-croix.com/religion/sante-du-pape-peut-on-diriger-l-eglise-en-etant-diminue-physiquement-20250218
- https://www.vatican.va/content/francesco/en/letters/2025/documents/20250210-lettera-vescovi-usa.html