กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาประกาศวานนี้ (21 กุมภาพันธ์) ว่า ทางกระทรวงเตรียมลดตำแหน่งงานลง 5,400 ตำแหน่ง อันเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่เดินหน้าปฏิรูประบบราชการขนานใหญ่ด้วยการลดขนาดของหน่วยงานรัฐลงจากเดิม
แผนปลดเจ้าหน้าที่ครั้งนี้มีกำหนดเริ่มขึ้นในสัปดาห์หน้า และถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการลดตำแหน่งงานกว่า 50,000 ตำแหน่งในกระทรวงกลาโหมที่มีนักวิเคราะห์การณ์กันไว้ โดย ดาริน เซลนิค เจ้าหน้าที่ระดับสูงกล่าวว่า กระทรวงกลาโหมจะใช้มาตรการหยุดการจ้างงานใหม่ และอาจลดจำนวนพนักงานพลเรือนลง 5-8% จากจำนวนทั้งหมด 950,000 คน
การปลดเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมากของทรัมป์ส่งผลให้เกิดปัญหาทางกฎหมายขึ้น ขณะที่ผู้พิพากษาของรัฐบาลกลางปฏิเสธที่จะหยุดยั้งแผนปลดพนักงานของทรัมป์ โดยวานนี้ผู้พิพากษาคนหนึ่งได้อนุญาตให้ทรัมป์ออกคำสั่งให้พนักงานกว่า 2,000 ชีวิตที่สำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) พักงาน
อย่างไรก็ตาม ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ได้สั่งระงับไม่ให้ทรัมป์ปลดหัวหน้าของสำนักงานที่ปรึกษาพิเศษ ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลกลาง
ขณะเดียวกัน วานนี้มีรายงานว่าสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (FBI) ได้สั่งย้ายพนักงาน 1,500 คนออกจากสำนักงานใหญ่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ไปประจำการในสำนักงานต่างๆ ทั่วประเทศ
แต่ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลของทรัมป์เองก็มีความพยายามที่จะจ้างพนักงานที่ถูกปลดกลับมาใหม่ด้วยเช่นกัน รวมถึงพนักงานที่ดูแลความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์และการตอบสนองต่อโรคไข้หวัดนก
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐฯ เผยว่าจะเรียกพนักงานที่ถูกปลดกลับมาทำงานใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่ดูแลแผนสุขภาพสำหรับผู้ป่วย 137,000 คนที่ได้รับผลกระทบจากสารพิษหลังเหตุวินาศกรรมเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001
นอกจากนี้ CDC ยังกล่าวว่าจะฟื้นฟูสัญญาการวิจัย 2 ฉบับที่เคยยกเลิกไป เพื่อศึกษาระดับมะเร็งในหมู่เจ้าหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉิน หลังจากที่เผชิญกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งสมาชิกพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันในสภาคองเกรส
ทรัมป์ปลดฟ้าผ่า ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของสหรัฐฯ
อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวสำคัญที่สั่นสะเทือนเพนตากอน คือทรัมป์ได้สั่งปลด พล.อ.อ. ซี.คิว. บราวน์ ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมสหรัฐฯ อีกทั้งยังประกาศจะเปลี่ยนตัวเจ้าหน้าที่ระดับสูงอีก 5 ตำแหน่ง ซึ่งถือเป็นการปรับโครงสร้างผู้นำทางทหารของสหรัฐฯ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ทรัมป์โพสต์ข้อความลงบน Truth Social ว่า เขาจะเสนอชื่อ พล.ท.แดน “เรซิน” แคน ซึ่งเกษียณอายุราชการไปแล้วให้กลับมานั่งเก้าอี้ประธานคณะเสนาธิการร่วมแทนบราวน์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่สหรัฐฯ จะดึงตัวผู้ที่เกษียณไปแล้วกลับมาทำหน้าที่ผู้บัญชาการทหารอีกครั้ง
นอกจากนี้ทรัมป์จะเปลี่ยนตัวผู้บัญชาการกองทัพเรือใหม่ ซึ่งปัจจุบันคือ พล.ร.อ.หญิง ลิซา ฟร็องเช็ตติ ผู้บัญชาการกองทัพเรือหญิงคนแรกของสหรัฐฯ รวมถึงจะปลดรองหัวหน้าฝ่ายเสนาธิการทหารอากาศ และผู้พิพากษาอัยการสูงสุดประจำกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ อันเป็นตำแหน่งสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายทหาร
ทั้งนี้ ทรัมป์ไม่ได้ชี้แจงถึงสาเหตุที่เปลี่ยนตัวบราวน์ โดยโพสต์ข้อความว่า “ขอบคุณ พล.อ.อ. ซี.คิว. บราวน์ ที่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อชาติมากว่า 40 ปี รวมถึงเป็นประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมในปัจจุบัน ท่านคือสุภาพบุรุษและเป็นผู้นำที่โดดเด่น ผมขออวยพรให้ท่านและครอบครัวมีอนาคตที่ยอดเยี่ยม”
อย่างไรก็ตาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเดโมแครตได้ออกมาประณามการตัดสินใจของทรัมป์ โดยวุฒิสมาชิก แจ็ค รีด จากโรดไอแลนด์ กล่าวว่า “การปลดผู้นำทหารเป็นการทดสอบความจงรักภักดีทางการเมือง หรืออาจด้วยเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายและเพศ ซึ่งทั้งหมดล้วนไม่เกี่ยวกับผลงาน การกระทำนี้จะทำลายความไว้วางใจและความเป็นมืออาชีพของทหารของเรา”
สส. เซธ โมลตัน จากแมสซาชูเซตส์ กล่าวว่า การปลดนายทหารระดับสูงครั้งนี้ ‘ไม่ใช่วิถีอเมริกัน ไม่จงรักภักดีต่อชาติ อีกทั้งยังเป็นอันตรายต่อกองกำลังของเราและความมั่นคงของชาติ’ และ ‘นี่คือนิยามของการทำให้กองทัพกลายเป็นการเมือง’
แฟ้มภาพ: REUTERS / Joshua Roberts / File Photo
อ้างอิง: