วานนี้ (21 กุมภาพันธ์) ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวทีเสวนา ‘ทำไมจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา: ความเห็นทางนิติศาสตร์ กรณีคำพิพากษาจำคุก กสทช. พิรงรอง’ สืบเนื่องจากกรณีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษา ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ มีความผิดตามมาตรา 157 ให้มีโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ในคดีระหว่างฝ่ายโจทก์คือ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด และจำเลยคือ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง
(ซ้ายไปขวา) รณกรณ์ บุญมี, ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ และ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ในการเสวนา ‘ทำไมจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา: ความเห็นทางนิติศาสตร์ กรณีคำพิพากษาจำคุก กสทช. พิรงรอง’
โทษ 2 ปี ไม่รอลงอาญา ส่อบั่นทอนการทำงานเจ้าหน้าที่
ผศ. ดร.รณกรณ์ บุญมี อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ข่าวคดีอาญาทุจริต 26/2568 ดังกล่าว สร้างความประหลาดใจให้ทั้งกับวงการนักกฎหมายและวงการสื่อสารมวลชนไทย โดยมีหลากหลายประเด็นน่าสนใจที่ควรค่าแก่การนำมาพูดคุย
รณกรณ์เล่าถึงข้อโต้แย้งที่ตั้งคำถามถึงอำนาจ กสทช. ในการกำกับดูแลธุรกิจประเภท OTT (Over-The-Top) ว่าทำได้หรือไม่ เนื่องจากศาลฎีกาวางหลักการไว้ว่า ในกรณีที่เจ้าพนักงานไม่มีหน้าที่ แล้วไปกระทำการนอกหน้าที่ จะไม่ถือว่าผิดมาตรา 157 เพราะหากจะผิดมาตรา 157 ต้องเป็นการกระทำในหน้าที่เสียก่อน โดยมาตรา 157 เป็นการกระทำที่ไม่ต้องการผล หากเป็นการกระทำที่เจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแล้ว ความผิดก็สำเร็จทันที ในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่ใช่การกระทำที่มิชอบ แม้จะเกิดความเสียหายอะไรขึ้นมาก็ตาม ก็จะไม่ถือว่าผิดมาตรา 157
“เพราะฉะนั้นความเสียหายจึงไม่ใช่ประเด็นใดเลยของเรื่องนี้ หรือถ้าจะเกี่ยวข้อง จะเป็นเรื่องการกำหนดโทษว่าระวางโทษที่กำหนด 2 ปี หรือไม่รอลงอาญา เหมาะสมหรือไม่” รณกรณ์ระบุ
พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. หลังเข้าฟังคำพิพากษาที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
ศาลเห็นว่าจำเลย ‘ชี้นำ กดดัน บงการ’ ซึ่งรณกรณ์มองว่า ในการประชุมที่มีการถกเถียงหลากหลาย การชี้นำหรือกดดันอาจไม่ได้ถือว่าเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ เพราะประธานในที่ประชุมก็มีหน้าที่ต้องชี้นำการประชุมอยู่แล้ว อีกทั้งคำพิพากษาก็ไม่ได้แสดงเหตุผลหรือพยานหลักฐานใดๆ ที่ระบุว่าการกระทำใดเป็นการบงการ
“ไม่ได้กำลังจะบอกว่าจำเลยผิดหรือไม่ เพียงแต่กำลังจะชี้ให้เห็นว่าศาลใช้คำว่า ‘ชี้นำ กดดัน บงการ’ เป็นข้อสำคัญในคดี แต่ไม่มีพยานหลักฐานใดสนับสนุนว่าเป็นการกระทำที่ชี้นำ กดดัน บงการ กรรมการท่านใด หรือกระทำอย่างไร”
รณกรณ์เล่าว่า นักกฎหมายมักสอนกันว่าคำพิพากษาผูกพันเฉพาะคู่ความ แต่รณกรณ์มองว่าคำพิพากษาไม่ได้ผูกพันแค่เฉพาะคู่ความ แต่ถือเป็นกลไกการสื่อสารของฝ่ายตุลาการ
“การที่วันนี้มีองค์กรอิสระพยายามทำหน้าที่ในการรักษาประโยชน์ของประชาชน คุ้มครองผู้บริโภคให้พ้นจากเนื้อหาที่ไม่มีการควบคุม ถ้ากรรมการที่พยายามผลักดันประเทศไทยให้นำไปสู่การตรวจสอบต้องมาแพ้ความผิดพลาดเชิงเทคนิค (Technical Foul) อาจมีการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก็เพิกถอนคำสั่งหรือเพิกถอนการดำเนินการ แต่ถ้าถึงขนาดลงโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา เพราะเหตุผลว่าเป็นเจ้าพนักงาน ผมว่าอันนี้เป็นการบั่นทอนกำลังใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่พยายามจะผลักดันขอบเขตของการคุ้มครองสิทธิประชาชน”
เจตนาการฟ้องเพื่อให้จำเลยหมดอำนาจ
ศ. ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ กสทช. ที่ลงนามในหนังสือฉบับที่ 2 คดี อท 71/2566 ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 โดยภายหลังมีคำพิพากษายกฟ้องเจ้าหน้าที่ดังกล่าวในวันที่ 22 สิงหาคม 2566
ทวีเกียรติมองว่า ตามหลักกฎหมายอาญา หากผู้กระทำไม่ผิด ผู้บงการ (ในกรณีที่มีอยู่จริง) ก็จะไม่ผิดเช่นกัน หรือหากมีการฟ้องร้องและสามารถโยงไปที่ผู้สั่งการ ก็ต้องเรียกมาเป็นจำเลยร่วม มิใช่การยกฟ้องคนหนึ่งแล้วไปฟ้องอีกคนหนึ่ง
ทวีเกียรติให้ความเห็นว่า การที่ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยระงับการปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 2 เมษายน 2567 สะท้อนถึงเจตนาในการฟ้องร้องครั้งนี้ ซึ่งคือการฟ้องร้องเพื่อให้จำเลยหมดอำนาจ อีกทั้งยังเสนอว่าประเทศไทยควรมีกฎหมายที่คุ้มครองประชาชนจากการฟ้องร้องปิดปาก หรือ SLAPP (Strategic Lawsuits Against Public Participation) เพื่อป้องกันการฟ้องร้องดังนี้
นอกจากนี้ทวีเกียรติยังเปิดคลิปสัมภาษณ์ที่ วินท์รดิศ กลศาสตร์เสนี ประธาน TrueID เผยเหตุผลการฟ้องร้อง ว่าต้องการสร้างความมั่นใจกับลูกค้า 30 กว่าล้านคนว่า TrueID ไม่ได้กระทำผิดในเชิงกฎหมาย โดยข้อเท็จจริงคือไม่ได้ต้องการระบุเจาะจงใครคนใดคนหนึ่ง เพียงแค่เป็นการทำตามขั้นตอน อย่างไรก็ดี ทวีเกียรติมองว่า ยังมีทางเลือกอื่นที่ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป สามารถทำได้ เช่น การสมัครเข้าเป็นผู้รับใบอนุญาตโครงข่าย IPTV จ่ายค่าธรรมเนียม 5 แสนบาท และค่าธรรมรายปีตามรายได้
(ซ้ายไปขวา) ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มอบดอกไม้ให้กำลังใจพิรงรอง ก่อนเข้าฟังคำพิพากษา
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
ไม่มีส่วนให้จำเลยแก้ข้อกล่าวหา
ผศ. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ ระบุว่า คำพิพากษาปกติมักจะมี 3 ส่วน ส่วนแรกคือโจทก์ฟ้องอะไร ส่วนที่สองคือจำเลยแก้ข้อกล่าวหาว่าอย่างไร ส่วนที่สามคือความเห็นของศาลที่จะหักล้างทีละประเด็น จึงตั้งข้อสังเกตว่า ในคำพิพากษาครั้งนี้เป็นคำฟ้องของโจทก์ไปแล้ว 12 หน้าจาก 25 หน้า และไม่ระบุส่วนที่ให้จำเลยแก้ข้อกล่าวหา โดยหน้า 13 มีการระบุเพียงว่า “ศาลไต่สวนมูลฟ้องและเห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง จำเลยให้การปฏิเสธ”
ปริญญาแสดงความเห็นว่า คดีอาญาเป็นคดีที่มีโทษเป็นการติดคุก จึงควรจะมีการระบุว่าจำเลยแก้ข้อกล่าวหาอย่างไร มากกว่าคดีในรูปแบบอื่นๆ เสียอีก การต่อสู้ของจำเลยมาปรากฏอยู่ที่หน้า 25 โดยศาลระบุว่า “จำเลยให้การต่อสู้ลอยๆ ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏและพฤติการณ์ของจำเลย ข้อต่อสู้และพยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์” ซึ่งหากชี้ว่าข้อต่อสู้ของจำเลยไม่มีน้ำหนัก ก็ควรจะมาหักล้างให้ดู แต่ศาลกลับสรุปโดยไม่มีคำอธิบายว่าหักล้างอย่างไร ไม่มีน้ำหนักอย่างไร
สุภิญญา กลางณรงค์ กอดให้กำลังใจ พิรงรอง รามสูต หลังถูก บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ฟ้องคดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 บัญญัติว่าผู้ใดประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ต้องได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการ ปริญญาตั้งคำถามว่า การที่นำเอาโทรทัศน์มาฉายออนไลน์แล้วแทรกโฆษณาเข้าไปไม่ถือเป็นรายการโทรทัศน์อย่างไร
ปริญญาเล่าว่า โจทก์อ้างถึงประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 ว่าประกาศฉบับนี้เขียนว่าการให้บริการกิจการ OTT ไม่จำเป็นต้องขออนุญาต อย่างไรก็ตาม เมื่อตนเองได้อ่านประกาศฉบับนี้ กลับไม่พบการระบุถึง OTT แต่อย่างใด เพียงแต่เขียนว่า ผู้ใดที่จะประกอบกิจการโทรทัศน์จำเป็นต้องมาขออนุญาต
โดยนิยามของการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ในประกาศระบุว่า การประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์เพื่อให้บริการการส่งข่าวสารสาธารณะหรือรายการไปยังเครื่องรับที่สามารถรับชมหรือรับฟังการให้บริการนั้นๆ ได้ ไม่ว่าจะส่งโดยผ่านระบบคลื่นความถี่ ระบบสาย ระบบแสง ระบบแม่เหล็กไฟฟ้า หรือระบบอื่น ระบบใดระบบหนึ่งหรือหลายระบบรวมกัน หรือการให้บริการอื่นทำนองเดียวกัน ที่คณะกรรมการกำหนดให้เป็นกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ ด้วยเหตุนี้ ปริญญามองว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายการประกอบกิจการโทรทัศน์ จึงไม่แปลกที่คณะอนุกรรมการอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์จะนำเรื่องดังกล่าวไปหารือ
“หากเพียงแต่บอกว่าการทำให้เกิดความเสียหาย แล้วจะผิด ม.157 ผมเกรงว่ามันจะกลายเป็นบรรทัดฐานที่ทำให้หน่วยงานรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ จะพากันเกียร์ว่างไปหมด จากนี้ไปจะไม่มีใครกล้าใช้อำนาจหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ ถ้าใช้ไปแล้วเกิดความเสียหายกับผู้หนึ่งผู้ใด” ปริญญากล่าว