×

พรรคประชาชนชี้ รัฐขาดความรับผิดชอบ ไม่แสดงตน ทำที่ประชุมแก้รัฐธรรมนูญล่ม เรียกร้องนายกฯ แสดงภาวะผู้นำ

โดย THE STANDARD TEAM
13.02.2025
  • LOADING...

วันนี้ (13 กุมภาพันธ์) ที่อาคารรัฐสภา พรรคประชาชน นำโดย ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส. แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน แถลงภายหลังที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาล่ม เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ ในวาระพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1)

 

ณัฐพงษ์กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการประชุมร่วมกันของรัฐสภานี้ ขอยืนยันว่ารัฐสภามีอำนาจเต็มในการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ซึ่งจากทั้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญเองก็วินิจฉัยอย่างชัดเจนว่า เราสามารถที่จะเดินหน้าแก้ไขมาตรา 256 ได้ในทันที อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญเองก็ไม่รับวินิจฉัยข้อสงสัยเรื่องของการทำหน้าที่ของรัฐสภาที่เกิดผลขึ้นแล้ว

 

ส่วนการลงมติในญัตติแรกที่จะมีการเลื่อนหรือไม่เลื่อนพิจารณาว่าจะส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญก่อนหรือไม่นั้น ผลของการลงมติก็ออกมาแล้วว่า ให้รัฐสภาเดินหน้าต่อในการพิจารณาร่างแก้ไขที่พรรคประชาชนได้เสนอเข้ามา แต่ปรากฏว่าขณะที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาในญัตติดังกล่าว ในการประชุมวาระที่ 1 ของร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 นี้ มีการเสนอให้นับองค์ประชุม ซึ่งก็มีเพื่อนสมาชิกรัฐสภาอยู่ในห้องประชุม จากสายตาของตนเองเชื่อว่ามีจำนวนมากกว่าคนที่ปรากฏอยู่บนหน้าจอ ก่อนที่ประธานรัฐสภาจะสั่งปิดการประชุม

 

ณัฐพงษ์ชี้ว่า ตามข้อเท็จจริงนี้สะท้อนให้เห็นว่ามีเพื่อนสมาชิก โดยเฉพาะจากฝั่งรัฐบาลเองไม่กดแสดงตน ไม่เป็นองค์ประชุม ทั้งที่ ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส. แบบบัญชีรายชื่อ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย พูดไว้ในห้องประชุมว่า พรรคเพื่อไทยพร้อมที่จะเป็นองค์ประชุมในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญวันนี้

 

“เป็นสิ่งสำคัญที่นายกรัฐมนตรีจะต้องแสดงให้เห็นถึงการควบคุมเสียงของฝั่งรัฐบาลเอง เนื่องจากผมเชื่อว่าถ้านายกฯ เป็นผู้แทนราษฎรอยู่ในห้องประชุมด้วย รวมถึงสามารถควบคุมเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลได้ วันนี้เราจะสามารถเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญได้” ณัฐพงษ์กล่าว

 

สำหรับการแถลงข่าวในครั้งนี้ ณัฐพงษ์ขอให้ทุกคนช่วยกันส่งเสียงเรียกร้องให้ทางรัฐบาล โดยเฉพาะยิ่งพรรคเพื่อไทย และนายกฯ ช่วยกำกับดูแลเสียงฝั่งรัฐบาลมาเข้าร่วมประชุมรัฐสภาในวันพรุ่งนี้ให้เป็นองค์ประชุมอย่างพร้อมเพรียง เพราะอย่างน้อยส่วนตัวคิดว่าการเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 อย่างไร ก็ควรต้องเปิดโอกาสให้อภิปรายอย่างกว้างขวางในสภาก่อน

 

“หากมีข้อกังวลกับการลงมติจริง ภายหลังการเปิดอภิปรายเสร็จแล้วค่อยมาตัดสินใจก่อนที่จะลงมติอีกครั้งก็ยังได้ ไม่ควรที่จะเซ็นเซอร์อำนาจตัวเอง ถึงขนาดที่ว่าไม่กล้าให้เพื่อนสมาชิกรัฐสภาอภิปรายในรัฐบาลแห่งนี้ได้”

 

ขณะที่ สส. พรรคเพื่อไทยบางส่วนก็ร่วมลงชื่อสนับสนุนให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ณัฐพงษ์กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเองก็เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้ามาด้วย ทำให้ตนเองค่อนข้างสับสนว่าแล้วเหตุใดจึงไม่แสดงตน หรือไม่แสดงความชัดเจนว่าอยากจะเดินหน้าพิจารณาต่อในวันนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการตกลงกันไม่ได้หรือรอยร้าวระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง

 

ทั้งนี้ ณัฐพงษ์ระบุว่า ไม่อยากให้มองว่าเป็นการเมืองของคนดีหรือคนร้าย แต่คิดว่าเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประเทศในปัจจุบันที่เราตกอยู่ในหลุมดำของความรับผิดรับชอบ พูดง่ายๆ คือ เราต้องการคนที่มีอำนาจใช้อำนาจของตัวเองเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประเทศ แต่ผลปรากฏว่าสิ่งที่เราเห็นคือการเสนอญัตติเพื่อเซ็นเซอร์ตัวเอง

 

ดังนั้นเราต้องถามก่อนว่า ตกลงการมีอำนาจในการทำหรือไม่ทำนั้นสะท้อนให้เห็นว่าตอนนี้เราตกอยู่ในภาวะที่ผู้มีอำนาจในรัฐ ไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ รวมถึงฝ่ายนิติบัญญัติ เรากำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่รัฐขาดความรับผิดรับชอบ ไม่กล้าใช้อำนาจตัวเอง ในขณะเดียวกัน เพราะว่าไม่กล้าที่จะรับผิดชอบต่อการใช้อำนาจตัวเองเช่นเดียวกัน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising