เริ่มต้นปี 2568 ถึงช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ Bloomberg รายงานเปรียบเทียบข้อมูลผลตอบแทนหุ้นทั่วโลก 92 ดัชนี พบว่าหุ้นไทยดิ่งแรงที่สุดในโลก เป็นเหตุให้ รมว.คลัง ต้องออกมาพูดถึงแนวคิดในการนำ LTF กลับมาพิจารณาปัดฝุ่นใช้อีกครั้ง ขณะที่คนในตลาดทุนเสนอ 3 แนวทาง เพื่อกู้วิกฤตศรัทธาหุ้นไทย
ไพบูลย์ นลินทรางกูร กรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO), นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ปัจจุบันตลาดหุ้นกำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤตศรัทธา และมีความเห็นว่าหัวใจสำคัญในการแก้ควรมีนโยบายที่สร้างเม็ดเงินลงทุนใหม่ๆ ที่จะเข้ามาในตลาดหุ้น เนื่องจากปัจจุบันมีกองทุน ThaiESG ที่ผู้ลงทุนสามารถใช้ลดหย่อนภาษีสูงสุดได้ 3 แสนบาท แต่มองว่าสามารถตอบโจทย์ในการสนับสนุนตลาดหุ้นไทยได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะเงื่อนไขของกองทุน ThaiESG นั้นสามารถกำหนดนโยบายการลงทุน โดยอนุญาตให้สามารถเลือกลงทุนในหุ้นไทยหรือตราสารหนี้ได้
“ช่วงเริ่มต้นที่มีการกำหนดเงื่อนไขกองทุนไทย ThaiESG ตอนนั้น FETCO เคยเสนอว่าต้องการให้ ThaiESG เป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นอย่างเดียว แต่ภาครัฐมีความเห็นว่าจะเป็นการลิดรอนสิทธิส่วนบุคคล จึงต้องการให้ไปพิจารณานโยบายการลงทุนกันเอาเองรูปแบบของ ThaiESG จึงออกมาเป็นเงื่อนไขที่ใช้ในปัจจุบัน”
อย่างไรก็ดี ผลลัพธ์ที่ออกมาหลังจากเริ่มใช้กองทุน ThaiESG มองว่าพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่าไม่ได้ผลในการประคองราคาหุ้น สะท้อนจากภาพของตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีแรงขายของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่ทยอยครบกำหนดอายุในปีนี้ ซึ่งจะขายหุ้นไทยออกมากดดันตลาดหุ้นไทยเพิ่มเติม ดังนั้นจึงควรสร้างเม็ดเงินลงทุนใหม่ที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย
ไพบูลย์เสนอ 3 แนวทาง ฟื้นวิกฤตศรัทธาตลาดหุ้นไทย
ไพบูลย์ นลินทรางกูร กรรมการ FETCO, นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้
ไพบูลย์มีความเห็นส่วนตัวกับข้อเสนอแนะแนวทางต่อกระทรวงการคลัง เพื่อนำมาประคองหุ้นไทย รวมทั้งแก้วิกฤตศรัทธาที่กำลังเกิดขึ้นในตลาดหุ้นไทย ดังนี้
1. ปรับเงื่อนไขของกองทุน ThaiESG โดยเพิ่มวงเงินใหม่ในการลดหย่อนภาษีกับกองทุน ThaiESG อีกเป็นวงเงิน 5 แสนบาทต่อราย จากเดิมที่ให้สิทธิลดหย่อน 3-5 แสนบาทต่อราย แต่ต้องกำหนดเงื่อนไขใหม่เฉพาะในการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเท่านั้น หรือเป็นการนำเงื่อนไขที่คล้ายกับของกองทุน LTF เดิมกลับมาใช้อีกครั้ง โดยแนวทางนี้สามารถดำเนินการได้ง่ายและรวดเร็วกว่าการจัดตั้งกองทุนรูปแบบใหม่ขึ้นมา
2. ให้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนทางภาษีสำหรับนักลงทุนบุคคลที่ลงทุนทางตรงในตลาดหุ้น เช่น การให้กำหนดให้วงเงินลดหย่อนสำหรับนักลงทุนที่เปิดบัญชีซื้อขายหุ้นวงเงิน 5 แสนล้านบาท ที่มีการเปิดบัญชีใหม่กับบริษัทหลักทรัพย์ สามารถนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดดังกล่าว แต่อาจกำหนดเงื่อนไขระยะเวลาในการถือครองเงินที่ใช้ในการลงทุนไว้ หรือห้ามนำเงินออกจากบัญชีในช่วงระยะเวลาที่กำหนดไว้
“วันนี้คิดว่าต้องทำอะไรบางอย่างแล้ว เพราะหากรอเศรษฐกิจฟื้นอย่างเดียวคงไม่พอแล้ว วันนี้ต้องทำอะไรให้หยุดการขายในตลาดหุ้นไทยให้ได้ก่อน เพื่อให้นักลงทุนมาตั้งสติก่อน เพราะทั้ง 2 วิธีจะเป็นการสร้างเม็ดเงินลงทุนใหม่ หรือให้คนรับรู้ว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนใหม่เข้ามา”
3. มีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องสื่อสารข้อมูลกับฝั่งตลาดทุนเพิ่มมากขึ้นถึงผลงานหรือนโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ โดยภาครัฐควรมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่คล้ายกับหน่วยงานลงทุนสัมพันธ์ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เพื่อสื่อสารและประชาสัมพันธ์กับนักลงทุนสถาบัน รวมถึงนักวิเคราะห์ เพื่อช่วยในการทำบทวิเคราะห์เผยแพร่ข้อมูลของรัฐบาลให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับข้อมูล
FETCO เตรียมนัดถกหาแนวทางพยุงตลาดหุ้น
ด้านพิเชษฐ สิทธิอำนวย รองประธานกรรมการ FETCO, นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) และกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า ในวันอังคารหน้า (18 กุมภาพันธ์) FETCO จะมีการนัดสมาชิกประจำเดือนกุมภาพันธ์ โดยหนึ่งในวาระสำคัญที่จะนำมาหารือร่วมกันในที่ประชุมของสมาชิก คือ การหาแนวทางหรือมาตรการในการพยุงหรือกระตุ้นตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา
พิเชษฐ สิทธิอำนวย รองประธานกรรมการ FETCO, นายกสมาคม ASCO และกรรมการผู้อำนวยการ บล.บัวหลวง
“ประเด็นการนำกองทุน LTF กลับมาใช้จะเป็นหนึ่งในแนวทางที่ยกมาหารือร่วมกันในที่ประชุม ร่วมกับแนวทางอื่นๆ เพื่อนำมาใช้กระตุ้นการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งหากที่ประชุมมีข้อสรุปร่วมกันก็จะนำเสนอต่อกระทรวงการคลังให้พิจารณาต่อไป” พิเชษฐกล่าว
AIMC รอความชัดเจนจาก รมว.คลัง หวังมีข้อสรุปภายในสัปดาห์หน้า
ขณะที่ ชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) และกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า ปัจจุบัน FETCO รวมถึง AIMC อยู่ระหว่างรอความชัดเจนของแนวทางเหมาะสมที่กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงเงื่อนไขกองทุนรวมที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ตามที่ พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ข่าวล่าสุด
ชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคม AIMC และกรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย
โดย AIMC พร้อมจะให้ข้อเสนอแนะที่จะเป็นประโยชน์และสร้างความมั่นใจต่อการลงทุนในตลาดทุนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีข้อสรุปรูปแบบหรือแนวทางที่ชัดเจนออกมาภายในสัปดาห์นี้หรือภายในไม่เกินสัปดาห์หน้า
ชวินดายังให้ข้อมูลต่อว่า ตั้งแต่ต้นปี 2568 ถึงปัจจุบัน LTF ขายหุ้นไทยออกมาแล้วกว่า 2 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้เม็ดเงินลงทุนที่เหลือคงค้างอยู่ในกองทุน LTF อยู่ที่ประมาณ 1.8 แสนล้านบาท