เมื่อไม่นานมานี้มีรายงานจากเว็บไซต์ 38 North ของสหรัฐฯ เกี่ยวกับวิถีชีวิตของประชาชนในประเทศเกาหลีเหนือกับการรับชมฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ที่เปิดเผยแง่มุมต่างๆ ที่จะเป็นคำตอบว่าประชาชนในประเทศนี้รับชมฟุตบอลจากลีกยอดนิยมแห่งนี้ได้อย่างไรกันบ้าง
แม้ว่าเกาหลีเหนือจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่เคร่งครัดในการกำหนดและมีหน่วยงานรัฐคอยควบคุมเนื้อหาสื่อต่างๆ แต่กับฟุตบอลคือกีฬาที่ได้รับการยกเว้น นับตั้งแต่เกาหลีเหนือเป็นชาติจากเอเชียทีมแรกที่ผ่านเข้ารอบแบ่งกลุ่มไปเล่นในฟุตบอลโลกปี 1966 และได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับการดูบอลจากลีกแดนผู้ดีของชาวเกาหลีเหนือจะมีความแตกต่างจากชาติอื่นอย่างชัดเจนในแง่ของ ‘ห้วงเวลาการรับชม’ ที่ช้ากว่าประเทศอื่นที่รับชมสดแบบเกมต่อเกม
เรื่องนี้มีการเปิดเผยว่าฤดูกาลปัจจุบันอย่าง 2024/25 ที่แม้จะเปิดฉากมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2024 แต่ที่เกาหลีเหนือเพิ่งออกอากาศแมตช์แรกของฤดูกาลที่ลิเวอร์พูลบุกชนะอิปสวิช 2-0 ไปเมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งห่างจากตอนต้นฤดูกาลประมาณ 5-6 เดือน
สาเหตุที่เป็นแบบนั้นเพราะก่อนที่การแข่งจะออกอากาศโดยสถานีโทรทัศน์กลางเกาหลีเหนือ (KCTV) เทปบันทึกการแข่งขันเหล่านั้นจะถูกแก้ไขเนื้อหาบางส่วนที่ต้องผ่านสายตากองเซ็นเซอร์ทุกกระเบียดนิ้ว เช่น
- การแข่งขันที่จากเดิมมีความยาว 90 นาที ถูกตัดเหลือประมาณ 60 นาที
- มีการซ้อนกราฟิกภาษาเกาหลีทับบนกราฟิกภาษาอังกฤษ
- เบลอโลโก้ทีมหรือโฆษณาที่ปรากฏในวิดีโอ
- ออกอากาศเพียงไม่กี่เกมต่อฤดูกาล ซึ่งรายงานระบุว่ามีการฉายแมตช์ในฤดูกาล 2023/24 เพียง 21 จาก 380 เกมเท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นการฉายซ้ำวนไปอย่างน้อย 3 ครั้ง
ขณะที่ 3 ทีมดังอย่างท็อตแนม ฮอตสเปอร์, วูล์ฟแฮมป์ตัน และเบรนท์ฟอร์ด มักจะไม่ได้ออกอากาศและรายงานการแข่งขันมากนัก เนื่องจากมีนักเตะชาวเกาหลีใต้อยู่ในทีม เช่น ซนฮึงมิน กัปตันทีมของสเปอร์ส และ ฮวังฮีชาน ที่ค้าแข้งกับวูล์ฟส์
เช่นเดียวกับปารีส แซงต์ แชร์กแมง จะไม่มีการออกอากาศมากนักในฟุตบอลรายการยุโรป เนื่องจากมี อีคังอิน อยู่ในทีม โดยนัดล่าสุดที่เปแอสเชได้รับการถ่ายทอดคือเกมที่ทีมพ่ายต่อโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ในรอบรองชนะเลิศ UCL เมื่อฤดูกาลที่ผ่านมา
นอกจากนั้น 38 North ยังตั้งคำถามเกี่ยวกับการ ‘ละเมิดลิขสิทธิ์’ เพราะตามรายงานระบุว่า เกาหลีเหนือไม่ได้เป็นผู้ถือสิทธิ์ในการออกอากาศฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ซึ่งอาจเข้าข่ายการละเมิดลิขสิทธิ์ นับตั้งแต่มีการออนแอร์ในปี 2022
อย่างไรก็ตาม รายงานชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลเกาหลีเหนือยังควบคุมการเข้าถึงข้อมูลจากภายนอกประเทศอย่างเข้มงวด โดยการออกอากาศการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกเป็นหนึ่งในไม่กี่โอกาสที่ประชาชนจะได้รับชมเนื้อหาจากต่างประเทศ แม้จะมีการเซ็นเซอร์และควบคุมเนื้อหาจนทำให้มีรูปแบบของรายการฟุตบอลต่างจากประเทศอื่นๆ พอสมควร
อ้างอิง:
- https://www.38north.org/2025/02/goals-delays-and-mystery-international-football-coverage-on-korean-central-television/
- https://www.channelnewsasia.com/east-asia/epl-north-korea-football-censorship-tottenham-son-heung-min-wolves-pundits-4930026
- https://www.theguardian.com/world/2025/feb/10/how-north-korea-gets-to-watch-premier-league-football