×

HSBC คาด ไทย-เวียดนาม อาจเป็นเป้าหมายต่อไปที่สหรัฐฯ จะใช้ ‘กำแพงภาษี’ โจมตีสินค้านำเข้า

08.02.2025
  • LOADING...
เฟรเดอริก นอยแมนน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ HSBC แถลงผลกระทบกำแพงภาษีสหรัฐต่อไทย

HSBC ประเมินว่านโยบายการตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ที่ประเดิมใช้กับจีนเป็นประเทศแรกอาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้น โดยอีกหลายประเทศในยุโรป เวียดนาม รวมถึงไทย ก็มีความเสี่ยงที่ในอนาคตจะโดนการตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐฯ

 

เฟรเดอริก นอยแมนน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และหัวหน้าฝ่ายวิจัยประจำภูมิภาคเอเชีย ธนาคาร HSBC เปิดเผยในงานแถลงข่าวให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจเอเชียและไทยปี 2025 ว่าการกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในสมัยที่ 2 ของ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมาพร้อมกับนโยบายเศรษฐกิจใหม่หลายๆ นโยบายยังมีความไม่แน่นอนอยู่ในหลายประเด็น

 

โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นชัดเจนคือภาคการตลาดของโลกที่ตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว จากนโยบายการตั้งกำแพงภาษีศุลกากร (Tariff) กับสินค้านำเข้าของประเทศคู่ค้า ซึ่งอาจมีความเสี่ยงทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นในอนาคต แต่ในอีกมุมหนึ่งจะเป็นผลบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจภายในสหรัฐฯ

 

เฟรเดอริก นอยแมนน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ HSBC แถลงผลกระทบกำแพงภาษีสหรัฐต่อไทย

เฟรเดอริก นอยแมนน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และหัวหน้าฝ่ายวิจัยประจำภูมิภาคเอเชีย ธนาคาร HSBC

 

คาด ไทย-เวียดนาม เป้าหมายต่อไป โดนตั้งกำแพงภาษี

 

สหรัฐฯ เริ่มประกาศใช้ Tariff กับสินค้านำเข้าจากจีนเป็นประเทศแรก อีกทั้งคาดว่าภายในปีนี้สหรัฐฯ จะประกาศใช้ Tariff ในประเทศคู่ค้าอื่นๆ เพิ่มเติม โดยมีกลุ่มประเทศเป้าหมายที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เช่น ยุโรป เม็กซิโก รวมถึงไทย แต่เชื่อว่าจีนจะสามารถหาแนวทางรับมือกับการประกาศใช้ Tariff ได้

 

อีกทั้งประเมินว่ากำแพงภาษีอาจมีผลกระทบต่อจีนไม่มากอย่างที่คาดการณ์ไว้ เพราะจีนมีสัดส่วนการส่งออกไปทั่วโลกต่อจีดีพีของจีนอยู่ที่ประมาณ 12.5% ขณะที่มีสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐฯ ต่อจีดีพีของจีนอยู่ที่ประมาณ 2.5% เท่านั้น

 

โดยคาดว่าหากนโยบายด้านกำแพงภาษีเกิดขึ้นจริงอาจมีผลทำให้จีดีพีของจีนลดลงราว 0.2-0.3% และในมุมบวกประเมินว่าอาจทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยโตขึ้นราว 0.1-0.2% จากการที่สหรัฐฯ หันมานำเข้าสินค้าจากไทยแทนจีน

 

อย่างไรก็ดี ยังยากที่จะคาดเดาจากสถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอน

 

ดังนั้นไทยกับเวียดนามจึงต้องระมัดระวังประเด็น Tariff ของสหรัฐฯ ซึ่งแนะนำให้ใช้กลยุทธ์ในการรับมือโดยใช้ความร่วมมือการทำเขตการค้าเสรี (FTA) กับกลุ่มประเทศอื่นๆ เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง

 

 

ข้อมูลของประเทศต่างๆ รวมถึงไทยที่มีความเสี่ยงในการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ในสัดส่วนที่สูง

 

อย่างไรก็ดี คาดว่าจะมีประเทศคู่ค้ารายอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงสูงมากที่ถูกกระทบจากกำแพงภาษีของสหรัฐฯ เช่น เวียดนาม ที่พึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ สูงมาก โดยมีสัดส่วนประมาณ 11% ของจีดีพีของเวียดนาม ขณะที่ไทยพึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐฯ สัดส่วนประมาณ 5% ของจีดีพีของไทย ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่น้อยเช่นกัน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องบริหารจัดการความเสี่ยงในภาคการส่งออกมากกว่า

 

นอกจากนี้ทรัมป์ยังมีนโยบายในการผลักดันแรงงานต่างด้าวออกจากสหรัฐฯ ให้กลับประเทศต้นทาง ซึ่งอาจมีผลกระทบทำให้แรงงานลดลงและก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจในสหรัฐฯ

 

ทั้งนี้ จากประเด็นแรงงานในสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มลดลง อาจจะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะไม่เร่งลดดอกเบี้ยเพื่อรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่มีผลทำให้ค่าเงินดอลลาร์มีทิศทางแข็งค่าขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ถือเป็นปัจจัยที่ท้าทายต่อเศรษฐกิจของทั้งจีน ไทย และประเทศอื่นๆ

 

แนะไทยเตรียมรับแรงกระแทก Tariff สหรัฐฯ

 

เฟรเดอริกแนะนำให้อาเซียนกับไทยเตรียมรับมือความเสี่ยงจากประเด็น Tariff ของสหรัฐฯ โดยเน้นการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกและใช้จุดแข็งที่มี เพราะมีโอกาสในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากประเทศจีน ด้วยเหตุผลดังนี้

 

ไทยมีข้อได้เปรียบในด้านค่าแรง หากพิจารณาจากปี 2562 ค่าแรงของไทยคิดเป็นอัตราประมาณ 110% เมื่อเทียบกับจีน ในขณะที่ในปี 2566 ค่าแรงของไทยปรับลดลงอยู่ที่ 70% เมื่อเทียบกับจีน เห็นได้จากเม็ดเงินลงทุนจากจีนที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากปี 2558 ซึ่งคิดเป็นน้อยกว่า 10% ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของไทย แต่ในปี 2566 คิดเป็นสัดส่วนกว่า 50% โดยมีอุตสาหกรรมเด่นๆ คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงยังมีโอกาสในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น การบริการ บริการด้านการแพทย์ และการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของไทยอยู่แล้ว

 

เฟรเดอริก นอยแมนน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ HSBC แถลงผลกระทบกำแพงภาษีสหรัฐต่อไทย

คาดการณ์จีดีพีประเทศในกลุ่มอาเซียนปี 2024-2026 ที่จัดทำโดย HSBC

 

อีกทั้งเพื่อเพิ่มความน่าดึงดูดในการลงทุน ไทยควรเน้นการพัฒนาขีดความสามารถในภาคอุตสาหกรรมที่เกื้อหนุนด้านการส่งออก เช่น ยานยนต์ โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า เคมี เกษตร โดยเฉพาะสินค้าเกษตรพื้นฐาน แปรรูป และสินค้าเพิ่มมูลค่า รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป

 

โดยการเพิ่มความหลากหลายในด้านการส่งออกเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย

 

นอกจากนี้ค่าเงินดอลลาร์ที่มีแนวโน้มแข็งตัวขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินบาทน่าจะเป็นอานิสงส์ต่อภาคการส่งออกของไทยอีกด้วย

 

ทั้งนี้ หากไทยสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป ไทยมีโอกาสที่จะเข้าถึงตลาดได้อีกมากถึง 27 ประเทศ และยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับภาคธุรกิจในการมาลงทุนในประเทศไทย ดังนั้นไทยจึงควรใช้โอกาสนี้ในการผลักดันอุตสาหกรรมที่ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขัน อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ จากการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานในภาคการผลิต นอกจากนั้นประเทศในสหภาพยุโรปยังมีความต้องการสินค้าและบริการด้านต่างๆ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์แปรรูป ผลิตภัณฑ์เกษตรมูลค่าสูง สินค้าอุปโภคบริโภค และการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ซึ่งถือเป็นโอกาสของไทยเช่นกัน

 

คาดจีดีพีไทยปี 67 โต 3.3% รับแรงหนุนท่องเที่ยวฟื้น-แรงหนุนแจกเงินหมื่น

 

เฟรเดอริกกล่าวต่อว่า คาดการณ์ว่าจีดีพีของไทยในปี 2568 จะขยายตัวประมาณ 3.3% ดีขึ้นจากปี 2567 ที่คาดว่าจะขยายตัวในระดับ 2.7% โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว ซึ่งแม้จะยังฟื้นตัวไม่เท่ากับช่วงก่อนโควิด แต่ก็ใกล้เคียงมากแล้ว โดยเชื่อว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะยังกลับมา และความกังวลด้านความปลอดภัยจากเหตุการณ์เมื่อเร็วๆ นี้อาจไม่ส่งผลกระทบมากนัก

 

นอกจากนี้ประเมินว่าอานิสงส์จากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตหรือการแจกเงิน 10,000 บาท น่าจะส่งผลบวกต่อการบริโภคไปอีกราว 6 เดือน รวมถึงอานิสงส์จากการลงทุนจากภาครัฐในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่น่าจะเกิดจะขึ้นในปีนี้ ในขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังไม่เร่งปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงในเร็วๆ นี้ จึงยังมีมุมมองว่าจีดีพีของไทยจะยังเติบโตไปได้

 

อย่างไรก็ดี ในปี 2569 ประเมินว่าอัตราการเติบโตของจีดีพีอาจจะชะลอตัวลง โดยคาดว่าจะลดลงมาเหลือขยายตัวที่ราว 2.7% เนื่องจากแรงหนุนของนโยบายกระตุ้นการบริโภคที่น่าจะแผ่วตัวลง

 

ขณะที่ประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงจากปัญหาสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของประเทศที่อยู่ในระดับสูงมาก มีสัดส่วนประมาณมากกว่า 90% ต่อจีดีพี เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้นคาดว่าประเด็นดังกล่าวจะส่งผลกระทบทำให้การบริโภคภายในประเทศชะลอตัวในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า และจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย

 

ข้อมูลสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยที่รวบรวมโดย HSBC

 

มองไทยมีความเสี่ยงเข้าสังคมสูงวัย ทำขาดแรงงาน

 

ด้านมุมมองต่อ พ.ร.บ.ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (Financial Hub) ของไทยที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบล่าสุด

 

สำหรับโอกาสความสำเร็จของประเทศไทยจากการมี พ.ร.บ. Financial Hub ยังมีคำถามว่าจะส่งผลกระทบต่อตัวเลขทางเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน แต่การที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางด้านการเงินได้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในเรื่องกฎเกณฑ์ที่เอื้ออำนวย ไทยควรต้องคำนึงถึงทรัพยากรบุคคลที่เพียงพอ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยได้เข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัย จึงมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาขาดแคลนแรงงาน

 

โดยเฉพาะแรงงานทักษะสูง ไทยจึงต้องมองหาวิธีการดึงดูดแรงงานจากต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน และปัจจัยอื่นๆ ที่ช่วยสนับสนุนต่อการจัดตั้งศูนย์กลางทางการเงิน ตั้งแต่เรื่องของการศึกษา ความยากง่ายของการมาทำงานที่ประเทศไทย เครือข่ายด้านการคมนาคมทั้งภายในและระหว่างประเทศ สิทธิประโยชน์ด้านวีซ่า ความสะดวกในการหาที่พักอาศัย อัตราภาษีสำหรับแรงงานชาวต่างชาติ และอื่นๆ

 

นอกจากนี้สิ่งที่ไทยควรให้ความสำคัญคือการหาตลาดเฉพาะทางในการเป็นศูนย์กลางทางการเงิน เช่น ตลาดตราสาร การบริหารจัดการกองทุน การค้า และบริการคำแนะนำด้านกฎหมาย

 

ภาพ: Chip Somodevilla / Shutterstock

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising