×

Safe Therapy รู้ทันบริการด้านจิตบำบัด อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้?

โดย THE STANDARD TEAM
07.02.2025
  • LOADING...
Safe Therapy

ปัจจุบันผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพจิตมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้ความต้องการรับบริการจากนักวิชาชีพด้านสุขภาพจิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ องค์กรและสถาบันการศึกษาต่างๆ จึงเร่งผลิตบุคลากรในสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น จิตวิทยาคลินิก จิตวิทยาการปรึกษา ศิลปะบำบัด และจิตแพทย์ เพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว

 

นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่สังคมไทยมีความรู้และความเข้าใจในด้านสุขภาพจิตมากขึ้น หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ส่งเสริมสุขภาวะประชาชน รวมถึงบุคคลสาธารณะที่แบ่งปันประสบการณ์การดูแลสุขภาพจิตของตนเอง ล้วนมีบทบาทสำคัญในการลดการตีตราผู้มีปัญหาสุขภาพจิต และสนับสนุนให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือกล้าหันไปพบนักวิชาชีพ

 

การให้บริการด้านสุขภาพจิตจำเป็นต้องอาศัยความรู้ ความสามารถ และหลักจรรยาบรรณอย่างเคร่งครัด เนื่องจากเป็นการทำงานที่เกี่ยวข้องกับจิตใจของผู้คน ในสถานบำบัด นักจิตวิทยาและจิตแพทย์มักอยู่ในสถานะที่มีอำนาจเหนือผู้รับบริการที่กำลังเปราะบางและต้องการที่พึ่งทางจิตใจ ผู้รับบริการจำนวนมากไม่ทราบว่าสิ่งใดที่นักวิชาชีพสามารถทำได้หรือไม่ได้ตามหลักจรรยาบรรณ นี่คือเหตุผลที่มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติทางจริยธรรมระดับสากล เพื่อป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์ในเชิงทางเพศ การเงิน หรือทางจิตใจ อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมคุณภาพของการบริการและการรักษาที่มุ่งเน้นประโยชน์ผู้เข้ารับบริการสูงสุดและไม่เป็นอันตราย (Do No Harm)

 

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีกรณีที่นักวิชาชีพบางส่วนละเมิดจรรยาบรรณ โดยอาศัยความเปราะบางของผู้รับบริการในทางมิชอบ ส่งผลให้อาการของผู้รับบริการทรุดหนัก เกิดบาดแผลทางจิตใจรุนแรง และส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตของทั้งตัวบุคคลและสังคมโดยรวม ปัญหานี้เป็นประเด็นสำคัญที่จำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน

 

เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างความรู้และการป้องกันสำหรับประชาชนและผู้รับบริการ รายการ Safe Zone Podcast ร่วมกับ แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ, สมาคมเพศวิถีศึกษา, สสส. และเพจ The Principia จึงจะจัดทำกิจกรรมและสื่อในหัวข้อ ‘Safe Therapy: ในจิตบำบัด อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้?’ โดยจะนำเสนอในรูปแบบ Edutainment ที่เข้าถึงผู้รับชมทั่วไป เป็นการเสริมสร้างความรู้ในฝั่งของผู้รับบริการ ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเชิงโครงสร้างและกฎหมายของโครงการ เซฟโซน ซึ่งเป็นการดำเนินงานเพื่อสังคมโดยไม่แสวงหากำไร

 

รายการได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาที่หลากหลาย 4 คนจาก 4 สาขาวิชาชีพด้านสุขภาพจิตในประเทศไทย ได้แก่ นักจิตวิทยาคลินิก, นักจิตวิทยาการปรึกษา, นักศิลปะบำบัด และจิตแพทย์ มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและแนวทางปฏิบัติ พร้อมอธิบายจุดร่วมสำคัญในจรรยาบรรณของแต่ละสาขาเพื่อสาธารณประโยชน์ โดยเฉพาะฝั่งผู้รับบริการด้านสุขภาพจิต และยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในวงการจิตวิทยาไทยต่อไป

 

โดยในวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา จัดกิจกรรมเสวนา แบ่งเป็น 2 ช่วงหลัก นำเสนอมุมมองเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญและนักจิตวิทยาด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศ

 

ช่วงที่ 1: ‘ผลกระทบจากความรุนแรงทางเพศ การป้องกันและให้ความช่วยเหลือ’ โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิประกอบด้วย

 

  • อังคณา อินทสา จากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล
  • ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ
  • นพ.พงศกร เล็งดี ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 กรมสุขภาพจิต

 

วิทยากรนำเสนอภาพรวมผลกระทบของความรุนแรงที่มีต่อทุกมิติของชีวิต ทั้งในครอบครัวและคนใกล้ตัว พร้อมเสนอแนวทางป้องกันและแก้ไข เช่น การสร้างความตระหนักรู้ การปรับทัศนคติของสังคมในทุกภาคส่วน เพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงงานทางเพศ  ซึ่งสามารถให้การช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ช่วงที่ 2: ‘Safe Therapy: ในจิตบำบัด อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้’ แนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม การบำบัดทางจิตวิทยาต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไว้วางใจ ความเป็นมืออาชีพ และความปลอดภัยของผู้รับการบำบัด โดยมีผู้เชี่ยวชาญร่วมแลกเปลี่ยน ได้แก่

 

  • ดร.กุลวดี ทองไพบูลย์ นายกสมาคมนักจิตวิทยาคลินิกไทย
  • ผศ. ดร.ณฐวัฒน์ ล่องทอง อาจารย์ภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • นพ.ธิติ ภัคดุรงค์ จิตแพทย์สาขาจิตเวชศาสตร์ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา
  • ธิติภัทร รวมทรัพย์ นักศิลปะบำบัด HCPC Licensed

 

วิทยากรนำเสนอการเข้ารับบริการที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพโดยต้องดำเนินการบนพื้นฐานของจรรยาบรรณวิชาชีพและความเหมาะสมตามบริบทของผู้ให้บริการ พร้อมอธิบายถึงขอบเขตการให้บริการที่ไม่ถือเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศ ผ่านกิจกรรมเกมตอบคำถามให้ผู้ร่วมงานได้เข้าใจมากขึ้น เช่น “นักจิตบำบัดสามารถแตะเนื้อต้องตัวผู้มาใช้บริการได้หรือไม่?”, “นักจิตบำบัดสามารถทักแชตส่วนตัวเพื่อถามอาการได้หรือไม่?” หรือ “หากผู้ใช้บริการหลงรักนักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์ควรทำอย่างไร?” เพื่อให้ผู้รับการบำบัดสามารถสำรวจปัญหาและสร้างความตระหนักของการใช้บริการได้อย่างปลอดภัย

 

โดยโครงการนี้จะมีกิจกรรมเสวนาชวนถกเถียงประเด็นความรุนแรงและการคุกคามทางเพศในบริบทต่างๆ เช่น ความรุนแรงทางเพศในโรงเรียน ที่ทำงาน ในครั้งถัดไป เพื่อให้ครอบคลุมทุกมิติของสังคมและเกิดความรู้ความเข้าใจอย่างต่อเนื่องในสังคมไทย 

Safe Therapy

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising