นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์ที่มีมวลมากกว่า 12 เท่าของดาวพฤหัสบดี แต่โคจรรอบดาวฤกษ์ที่เล็กกว่าดวงอาทิตย์ ในระบบดาวที่อยู่ห่างไปเพียง 244 ปีแสงจากโลก นับว่าเป็นระยะทางที่ค่อนข้างใกล้กับระบบสุริยะ
การค้นพบดังกล่าวมาจากข้อมูลของกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Gaia ขององค์การอวกาศยุโรป หรือ ESA ที่ศึกษาการเคลื่อนที่ของวัตถุมากกว่า 2,000 ล้านชิ้น ตลอดช่วงเวลา 10 ปีที่ปฏิบัติภารกิจสร้างแผนที่ทางช้างเผือก ฉบับที่มีความสมบูรณ์ที่สุดในประวัติศาสตร์
ด้วยการศึกษาการเคลื่อนที่ไปมาของวัตถุต่างๆ ในทางช้างเผือก รวมถึงบรรดาดาวฤกษ์ที่อาจมีดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะโคจรรอบ ทำให้นักดาราศาสตร์สามารถตรวจหาการ ‘ส่าย’ อันเนื่องจากอิทธิพลแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์ที่กระทำต่อดาวฤกษ์ ราวกับว่าดาวดวงนั้นกำลังควงสว่านอยู่บนท้องฟ้า เมื่อตรวจดูความเปลี่ยนแปลงจากช่วงเวลาที่ยาวนาน
จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์ Gaia-4b ดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์ที่มีมวลมากกว่าดาวพฤหัสบดีถึง 12 เท่า กำลังโคจรอยู่รอบดาวฤกษ์ Gaia-4 ที่มีมวลเพียง 64% ของดวงอาทิตย์ ซึ่งอาจเป็นดาวฤกษ์ประเภทดาวแคระแดง หรือดาวแคระส้ม (ดวงอาทิตย์เป็นดาวแคระเหลือง)
“ดาวเคราะห์ดวงนี้มีคาบการโคจรมากกว่า 570 วัน ทำให้เป็นดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์ที่ค่อนข้างเย็นมากๆ” Guðmundur Stefánsson หัวหน้าคณะวิจัยจาก University of Amsterdam เปิดเผยผ่านเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ ESA ว่า “การค้นพบดาวเคราะห์ขนาดใหญ่รอบดาวฤกษ์ขนาดเล็กเกิดขึ้นได้ยากมาก แต่เมื่อเราตรวจเจอแล้วจะเห็นการส่ายของดาวฤกษ์ที่ค่อนข้างชัดเจน จนนำไปสู่การพบเจอได้”
นอกจากนี้นักดาราศาสตร์ยังพบดาวแคระน้ำตาล ดาวที่มีมวลมากเกินกว่าจะเป็นดาวเคราะห์ แต่ก็เบาเกินกว่าจะเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันเป็นดาวฤกษ์ได้ มีชื่อว่า Gaia-5b อันมีมวลมากกว่าดาวพฤหัสบดี 21 เท่า โคจรรอบดาวฤกษ์ Gaia-5 ซึ่งเป็นดาวฤกษ์แบบแคระแดง ที่มีมวลเพียง 34% ของดวงอาทิตย์เท่านั้น
Matthew Standing นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะของ ESA เปิดเผยว่า “การค้นพบในครั้งนี้เป็นเพียงแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งของการค้นพบดาวเคราะห์จากข้อมูลยาน Gaia เท่านั้น เราคาดว่าจะมีการเจอดาวเคราะห์ดวงใหม่ๆ อีกมากมายในอนาคต” โดย ESA เตรียมเผยข้อมูลชุดใหม่จากยาน Gaia เพิ่มเติมในปี 2026 และระบุว่าอาจนำไปสู่การพบดาวเคราะห์นอกระบบได้อีกหลายพันดวงด้วยกัน
งานวิจัยการค้นพบดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ใน The Astrophysical Journal เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2025
ภาพ: ESA / Gaia / DPAC/M. Marcussen
อ้างอิง: