วันนี้ (7 กุมภาพันธ์) ภายในงาน ‘Thailand Rule of Law Fair 2025 งานแฟร์เพื่อความแฟร์’ มีการจัดเวที ‘วาดภาพอนาคตกับผู้นำรุ่นใหม่: สังคมไทยที่เป็นธรรมในมุมมองของเยาวชน’ เพื่อสะท้อนมุมมองสังคมไทยจากเยาวชน ดำเนินการสนทนาโดย ณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว THE STANDARD
ผู้เข้าร่วมเสวนาเป็นผู้นำเยาวชนที่ผลักดันประเด็นต่างๆ ประกอบด้วย ฐากร มลายาสกุล สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง), แดเนียล วิวัฒน์วงศ์ ดูวา อดีตเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก, ไครียะห์ ระหมันยะ ลูกสาวทะเลจะนะ เยาวชนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และ วชิรวิชญ์ มักสิก คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คำถามข้อแรก ณัฏฐาตั้งคำถามว่า หากมี ‘พลังวิเศษ’ เยาวชนแต่ละอยากจะใช้พลังสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
วชิรวิชญ์: จะขอเปลี่ยนงบประมาณของประเทศไทยที่กระจุกตัวอยู่ตามส่วนกลางหรือเมืองใหญ่ ให้กระจายตัวไปตามชุมชนสู่ผู้ที่มีความต้องการได้รับโอกาสทางการศึกษา และกลับมาพัฒนาพื้นที่ จะทำให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า พัฒนาคน คนท้องถิ่นจะสามารถจัดสรรงบประมาณได้ตรงจุดที่สุด
ฐากร: อยากยุติความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่เพียงลดลง แต่ต้องเป็นศูนย์ เพราะความรุนแรงทำให้เกิดความถดถอยทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และอยากเปลี่ยนใจคนให้มองกันด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่ความหวาดระแวง เพราะตนเองเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง สูญเสียครอบครัว แต่ก็ยังถูกตีตราจากสังคมอีก
แดเนียล: ปฏิวัติกระบวนการยุติธรรมให้เข้าถึงได้ง่ายและน่าเชื่อถือ เพราะเป็นสิ่งที่ขาดในมุมมองของผู้ถูกกระทำ ในวันนี้ผู้มีอำนาจก็ยังไม่ลุกมาจับมือกันเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง และรู้สึกอิจฉาต่างประเทศที่ไม่มีกระบวนการยุติธรรมแบบ One Stop Service เพื่อลดภาระของประชาชนที่เดือดร้อน
ไครียะห์: ในปีที่ตนเองเกิด 2545 มีแผนนโยบายพัฒนาอำเภอจะนะให้เป็นพื้นที่ท่อก๊าซไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและอาชีพของคนในท้องถิ่น เมื่อประชาชนไปเรียกร้องกลับถูกสลายการชุมนุม ตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยเปิดเวทีแสดงความเห็น แต่กลับปราบปรามด้วยความรุนแรง จึงอยากย้อนเวลากลับไปในช่วงที่มีการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนา เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
ณัฏฐาตั้งคำถามต่อไปว่า เยาวชนแต่ละคนเผชิญอุปสรรคในประเด็นใดอยู่ และสิ่งที่กำลังผลักดันอยู่ในขณะนี้ จะสามารถแก้ไขปัญหาให้สังคมไทยได้อย่างไร
วชิรวิชญ์: อยากให้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่เท่าเทียมกัน มีบุคลากรที่พร้อมพัฒนาเด็กทุกคนที่ดูแลได้ก้าวไปข้างหน้า มีอนาคต มีความหวังและความฝันในสิ่งที่อยากจะเป็นได้อย่างเต็มที่ การศึกษาต้องเปิดโอกาสให้รู้ตัวเองว่าอยากทำอะไร สามารถเรียนรู้เพื่อนมนุษย์ทุกคนว่าไม่มีใครเหนือกว่าใคร ทุกคนเท่าเทียมกัน
ฐากร: เด็กอีกหลายคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่ได้รับโอกาส ตนเองจึงมาร่วมงานกับกลุ่มลูกเหรียง เพื่อทำงานกับเด็กที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยนำประสบการณ์ของตนเองมามอบโอกาสให้กับเด็กคนอื่น
แดเนียล: เยาวชนซึ่งเคยอยู่ร่วมกันในบ้านกาญจนาภิเษก รวมตัวกันในนาม ‘กลุ่มเจียระไน’ เพื่อช่วยเหลือสังคมในทุกระดับที่สามารถทำได้ พร้อมฝากให้ภาครัฐควรทบทวนการตั้งคำถามกับความเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมให้ดี ภาครัฐควรตั้งคำถามว่า มีความเดือดร้อนอะไรจึงต้องรวมตัวกันส่งเสียงเรียกร้อง ซึ่งน่าจะมีแนวทางการตอบสนองที่ดีกว่าการปราบปรามหรือสลายการชุมนุม
ไครียะห์: หวังให้ภาครัฐมุ่งเน้นการต่อยอดจากทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ ว่าจะสามารถพัฒนาไปอย่างไร เช่น การลงพื้นที่สำรวจว่าแต่ละแห่งมีศักยภาพเชิงยุทธศาสตร์อะไรบ้าง อาชีพ รายได้ ของคนในพื้นที่ หาวิธีเพิ่มมูลค่า และให้คุณค่ากับภูมิปัญญา จะนำไปสู่การพัฒนาที่ตอบโจทย์และสามารถแก้ไขปัญหาโลกรวนในปัจจุบันได้