วันนี้ (7 กุมภาพันธ์) คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีเสวนา ‘พิรงรอง Effect’ สืบเนื่องจากกรณีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษา ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ มีความผิดตามมาตรา 157 ให้มีโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ในคดีระหว่างฝ่ายโจทก์คือ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด และจำเลยคือ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง
กฎหมายไม่ใช่ความยุติธรรม เป็นเพียงเครื่องมือ
ในช่วงต้น ภายในงานเปิดวิดีโอสัมภาษณ์พิเศษจาก ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ คณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ซึ่งแสดงความเห็นต่อคดีดังกล่าวว่า ปรัชญาสำคัญสำหรับกฎหมายตามพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ว่า “กฎหมายนั้นไม่ใช่ตัวความยุติธรรม เป็นแต่เพียงเครื่องมืออย่างหนึ่ง สำหรับใช้ในการรักษาและอำนวยความยุติธรรมเท่านั้น” เพราะฉะนั้น นักกฎหมายจึงไม่ควรไต่ตามตัวบทเพียงอย่างเดียว แต่ต้องดูเจตนารมณ์ บริบท และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการใช้กฎหมาย
ศ.พิเศษ ธงทอง ระบุอีกว่า ในสังคมไทยและสังคมโลก บ่อยครั้งที่การฟ้องคดี ผู้ที่นำคดีมาสู่ศาลไม่ได้ต้องการเพียงผลแพ้-ชนะในคดีเท่านั้น แต่ยังต้องการผลข้างเคียงอื่นๆ ที่อาจจะเป็นผลประโยชน์ส่วนรวมหรือประโยชน์ส่วนตน พร้อมฝากถึงนักกฎหมายว่า ควรจะมีสติมากพอ เพื่อที่จะไม่ตกหล่นไปเป็นเครื่องมือของประโยชน์ข้างเคียงทางกฎหมาย
อนาคต กสทช. เผชิญคอขวด
สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช. แสดงความเห็นว่า การเกิดขึ้นของกรณี ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง สร้างความตื่นตัวในสังคมไทย เปรียบเสมือนการสละตัวเองเพื่อให้สังคมได้เรียนรู้และตั้งคำถามในประเด็นต่างๆ เช่น การปกครองแบบนิติรัฐ บทบาทหน้าที่ของ กสทช. รวมถึงอนาคตของวงการสื่อสารมวลชนและโทรคมนาคมของประเทศไทยที่กำลังเจอกับคอขวดทางตัน
สุภิญญา กลางณรงค์ ให้กำลังใจ พิรงรอง รามสูต หลังการฟ้องร้องคดีโดยบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
สุภิญญาย้ำว่า ประเด็นหลักของเรื่องคือ กฎ Must Carry เป็นประกาศที่ผ่านมติ กสทช. ไปแล้ว ทำให้เป็นหน้าที่ของสำนักงาน กสทช. ที่ต้องกำกับดูแล ส่วนตัวจึงมองว่า หากมีเรื่องร้องเรียนเข้ามา ถึงแม้ว่าอนุกรรมการหรือกรรมการคนหนึ่งคนใดไม่ได้ดำเนินการกำกับดูแล ก็ยังเป็นหน้าที่ของสำนักงานที่ต้องพยายามแก้ปัญหาให้ผู้บริโภค
“การพิพาทระหว่างเอกชนกับรัฐไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เราควรจะแสวงหากระบวนการออกจากปัญหาที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและได้ Win-Win กันทุกฝ่าย” อดีตกรรมการ กสทช. กล่าว
เจ้าหน้าที่รัฐกลัวแกว่งเท้าหาเสี้ยน
รศ. ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายมุมมองทางกฎหมายต่อคดีนี้ โดยระบุว่า กฎหมายมีช่องทางโต้แย้งเจ้าหน้าที่รัฐได้หลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์เป็นเรื่องๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องศาลปกครองเพื่อเพิกถอนคำสั่ง เรียกร้องค่าเสียหาย หรือฟ้องอาญาเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐถูกตัดสินจำคุก
ณรงค์เดชระบุอีกว่า ณ เวลาที่เสวนานี้ ยังไม่มีการเปิดเผยคำพิพากษาฉบับเต็ม ซึ่งอาจจะมีข้อเท็จจริงอื่นๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากจดหมายข่าว 3 หน้าที่ถูกเผยแพร่ออกมา โดยเนื้อหาระบุว่า จำเลยในกรณีนี้คือ กสทช. แต่สำนักงานเป็นคนออกจดหมายไปยังผู้รับใบอนุญาต จึงเป็นประเด็นชวนสงสัย โดยปกติความรับผิดทางอาญา ผู้ที่เซ็นจดหมายควรจะเป็นจำเลยที่ 1 ส่วนผู้สั่งการควรจะเป็นจำเลยที่ 2 ณรงค์เดชจึงมองว่า น่าแปลกใจที่มาฟ้องตัวของ กสทช. ในขณะที่ผู้เซ็นจดหมายไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา
ณรงค์เดชยังกังวลอีกว่า ในอนาคตจะเกิด ‘พิรงรอง Effect’ ที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐมีทัศนคติไม่อยากแกว่งเท้าหาเสี้ยน เพราะกลัวผลกระทบที่จะตามมา เห็นว่าเขา ‘เอาจริง’ ขนาด กสทช. ยังโดนเลย
ช่องโหว่กฎหมายกำกับ OTT
ระวี ตะวันธรงค์ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ระบุถึงความแตกต่างระหว่าง IPTV (Internet Protocol Television) ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณภาพและเสียงผ่านทางสายอินเทอร์เน็ต ในขณะที่ OTT (Over-The-Top) คือการส่งสัญญาณผ่านอากาศ เช่น YouTube และ Netflix โดยกฎหมายประเทศไทยยังเป็นฉบับที่ระบุถึง IPTV เท่านั้น ยังไม่มีการออกกฎหมายเรื่อง OTT
ระวีกล่าวต่อไปว่า 4 ปีที่ผ่านมา แม้ กสทช. จะมีความพยายามจัดทำแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติฉบับที่ 2 จัดตั้งคณะกรรมการศึกษาเกี่ยวกับการกำกับดูแล OTT ที่ร่างข้อกำหนดดูแล OTT แต่ร่างฉบับนี้ก็ยังไม่ได้เข้าที่ประชุมบอร์ดของ กสทช. ตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 จนถึงวันนี้
“สิ่งนี้จึงเป็นช่องว่างของกรณี ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง เพราะกฎหมายไม่มีข้อกำกับ จึงไม่สามารถกำกับสิ่งที่จดทะเบียนเอาไว้ เราจึงไม่สามารถรู้ว่าอะไรจะเป็นเนื้อหาที่โผล่ขึ้นมาบนหน้าจอของเรา เพราะแต่ละประเทศจะกำกับแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม ในวันที่ธุรกิจ OTT กำลังเติบโตขึ้นในทุกๆ วัน กฎหมายที่จะใช้กำกับดูแล OTT จะมากี่โมง” ระวีกล่าว
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ย้ำจุดยืน
รศ. ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ อ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืนสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ซึ่งเนื้อหาเน้นย้ำว่า คดีดังกล่าวถือเป็นเรื่องสำคัญที่กระทบต่อเสรีภาพขององค์กรกำกับดูแลสื่อ และอาจส่งผลต่อหลักการคุ้มครองผู้บริโภคและผลประโยชน์สาธารณะ
แถลงการณ์ระบุว่า แม้คณะนิเทศศาสตร์จะมิอาจวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินของศาล อันจะเป็นการล่วงละเมิดอำนาจศาล แต่ในฐานะสถาบันการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ก็ไม่อาจนิ่งเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้
ปรีดา อัครจันทโชติ เดินทางมาให้กำลังใจพิรงรองในวันเข้าฟังคำพิพากษา
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
แถลงการณ์ชี้ให้เห็นว่า กสทช. มีภารกิจหลักในการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อและประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ ดังนั้น หากมีการร้องเรียนว่าผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิ กสทช. ย่อมต้องดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ขององค์กรกำกับดูแลสื่อ ทว่าคดีความที่เกิดขึ้นอาจส่งผลต่อความเป็นอิสระในการทำงานของ กสทช. และกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบกิจการสื่อ นักวิชาชีพสื่อ และผู้บริโภคสื่อ
“คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงขอแสดงจุดยืนสนับสนุน ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต ในฐานะกรรมการ กสทช. ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต ยึดมั่นในหลักการ และปกป้องผลประโยชน์สูงสุดของสาธารณะต่อไป” แถลงการณ์ระบุ
สำหรับ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง เคยดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี 2535 และรองอธิการบดีด้านสื่อสารบริการสังคมและพันธกิจสากล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี 2559-2563
พิรงรองกับตัวแทนอาจารย์และเพื่อนร่วมงานจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร