×

เหตุใด ‘พิรงรอง’ จึงถูกลงโทษ ถอดคำพิพากษาคดีทรูฟ้อง เส้นแบ่งที่พร่าเลือนให้อำนาจ กสทช.

06.02.2025
  • LOADING...
pirongrong-nbtc-true-ruling

“ต้องทำใจ” วลีแรกที่ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กล่าวหลังสื่อมวลชนสัมภาษณ์ถึงความรู้สึกเมื่อต้องเข้าฟังคำพิพากษาในคดีที่บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง 

 

ขณะที่ตัวเธอเองตกเป็นจำเลยด้วยการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ ในความผิดมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

 

อ่านที่มาที่ไปของคดีดังกล่าวได้ที่ จับตาคดี ‘พิรงรอง’ เมื่อบริษัทใหญ่ฟ้อง กสทช. เหตุส่งหนังสือเตือนทีวีดิจิทัลมี ‘โฆษณาแทรก’

 

ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่การตีความกฎ Must Carry ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกที่ กสทช. นำมาใช้เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเนื้อหาได้อย่างเท่าเทียม และกำหนดให้ผู้ให้บริการโครงข่าย เช่น ทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ ต้องออกอากาศช่องทีวีดิจิทัลที่ภาครัฐกำหนด โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแทรกแซงเนื้อหา หมายรวมถึงการห้ามตัดต่อ แทรกโฆษณา หรือใส่โลโก้เพิ่มเติม

 

พิรงรอง รามสูต สวมกอดตัวแทนเพื่อนร่วมงานที่เดินทางมาให้กำลังใจ ก่อนเข้าฟังคำพิพากษา

พิรงรอง รามสูต สวมกอดตัวแทนเพื่อนร่วมงานที่เดินทางมาให้กำลังใจ ก่อนเข้าฟังคำพิพากษา

 

กสทช. และทรูมองต่างมุม กฎ Must Carry

 

สำหรับคดีที่บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน ‘ทรูไอดี’ ตัดสินใจฟ้องร้องพิรงรอง ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ สืบเนื่องจากผู้บริโภคร้องเรียนมายัง กสทช. ว่า แอปทรูไอดีถ่ายทอดช่องทีวีดิจิทัล แต่มีการแทรกโฆษณาระหว่างเปลี่ยนช่อง

 

กสทช. เห็นว่าเรื่องนี้ผิดกฎ Must Carry เพราะถือว่าเป็นการแทรกแซงเนื้อหา พิรงรองจึงทำหนังสือแจ้งเตือนให้บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ปฏิบัติตามกฎ อย่างไรก็ตาม บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด แย้งว่า ทรูไอดีเป็นบริการแบบ OTT (Over-The-Top) หรือบริการแพร่ภาพผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นรูปแบบบริการที่ กสทช. ยังไม่มีมาตรการกำกับดูแลชัดเจน

 

บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด จึงฟ้องร้อง โดยอ้างว่าพิรงรองใช้อำนาจโดยมิชอบ สั่งให้สำนักงาน กสทช. ส่งหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบการโทรทัศน์ 127 ราย เตือนว่าการให้บริการของทรูไอดีอาจไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งส่งผลให้สถานีโทรทัศน์หลายแห่งลังเลหรือระงับความร่วมมือกับทรูไอดี ทำให้ได้รับความเสียหาย ถือเป็นการกลั่นแกล้งและใช้อำนาจกดดัน

 

หลังการฟ้องร้อง พิรงรองชี้แจงว่า ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายและไม่มีเจตนากลั่นแกล้ง เห็นว่าการที่ทรูไอดีนำช่องทีวีดิจิทัลทั้งช่องไปเผยแพร่อาจขัดต่อประกาศ กสทช. เพราะทรูไอดีไม่ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงาน กสทช. และยังแทรกโฆษณาด้วย จึงมีหนังสือแจ้งไปยังช่องทีวีดิจิทัล ระบุว่า ทรูไอดีไม่ได้รับใบอนุญาต และมีมติให้ไปตรวจสอบต่อว่า มีผู้ให้บริการกระทำแบบเดียวกับทรูไอดีหรือไม่ พร้อมยืนยันว่า การส่งหนังสือเป็นการเสนอแนะ ไม่ได้ออกคำสั่ง

 

พิรงรอง รามสูต เดินทางกลับจากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง หลังฟังคำพิพากษา

พิรงรอง รามสูต เดินทางกลับจากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง หลังฟังคำพิพากษา

 

คำพิพากษาชี้ขาด กสทช. ไม่ได้ควบคุม OTT

 

สาระสำคัญในคำพิพากษาล่าสุดของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางชี้ว่า ทรูไอดีให้บริการมาตั้งแต่ปี 2559 ขณะเกิดคดี กสทช. ยังไม่มีระเบียบกำหนดให้ผู้ให้บริการ OTT ต้องขอใบอนุญาต และ กสทช. เองก็ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนในที่ประชุมเกี่ยวกับการกำกับดูแล OTT

 

ในการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ที่พิรงรองเป็นประธาน เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 พิรงรองเสนอให้ใช้มาตรการบีบทรูไอดีทางอ้อม โดยไปกดดันสถานีโทรทัศน์ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. โดยพิรงรองกล่าวในที่ประชุมว่า 

 

“วิธีการที่เราจะจัดการเรื่องนี้ ไม่ได้ไปทำที่โจทก์โดยตรง แต่ไปทำที่ช่องรายการที่รับใบอนุญาตจาก กสทช. เป็นการใช้วิธีตลบหลัง”

 

ต่อมามีการส่งหนังสือแจ้งไปยังสถานีโทรทัศน์ 127 รายทันที ระบุว่า ทรูไอดียังไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งทำให้สถานีโทรทัศน์หลายแห่งชะลอหรือระงับการเผยแพร่เนื้อหาบนแพลตฟอร์มทรูไอดี

 

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค และ สุภิญญา กลางณรงค์ อดีต กสทช. มอบดอกไม้ให้กำลังใจพิรงรอง หลังถูกบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ฟ้องร้อง เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค และ สุภิญญา กลางณรงค์ อดีต กสทช. มอบดอกไม้ให้กำลังใจพิรงรอง หลังถูกบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ฟ้องร้อง เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567

 

ในการประชุมดังกล่าว มีผู้เข้าร่วมบางส่วนไม่เห็นด้วยกับแนวทาง เนื่องจากเป็นการกระทำที่มุ่งเป้าไปที่ทรูไอดีเพียงรายเดียว แต่พิรงรองกลับพยายามโน้มน้าวและรวบรัดการพิจารณา ก่อนจบการประชุมยังสั่งการให้เตรียมความพร้อมล้มหรือระงับการให้บริการทรูไอดีของโจทก์ โดยกล่าวว่า “ต้องเตรียมตัว จะล้มยักษ์”

 

ศาลเห็นว่า คำพูดนี้ชี้ชัดว่าจำเลยมีเจตนามุ่งทำให้ทรูไอดีได้รับความเสียหายโดยเฉพาะ แม้จำเลยอ้างว่าเป็นเพียงการพูดในที่ประชุม แต่ศาลเห็นว่าการกระทำของเธอส่งผลกระทบต่อธุรกิจของโจทก์จริง 

 

“จำเลยในฐานะกรรมการ กสทช. และประธานคณะอนุกรรมการฯ มีอำนาจหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะ กลั่นกรอง และให้ความเห็นเกี่ยวกับการอนุญาตและกำกับดูแลกิจการโทรทัศน์ แต่ไม่มีอำนาจสั่งการให้เร่งรัดหรือดำเนินการเกี่ยวกับแพลตฟอร์ม OTT เป็นการเฉพาะ”

 

ศาลชี้ว่า จำเลยกลับมีคำพูดและการสั่งการในลักษณะที่มุ่งกลั่นแกล้งโจทก์โดยเฉพาะ และเป็นการละเมิดอำนาจหน้าที่ จึงนำมาสู่บทลงโทษดังกล่าว

 

คดีนี้มีข้อสังเกตทางกฎหมายที่น่าสนใจหลายประการ โดยเฉพาะการสะท้อนปัญหาที่ กสทช. ยังไม่มีข้อกำหนดชัดเจนเกี่ยวกับการกำกับดูแล OTT ทำให้เกิดช่องโหว่ในการตีความว่า การเข้าแทรกแซง OTT ของ กสทช. อาจเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตตามที่ระบุไว้ในคำพิพากษาหรือไม่

 

ตัวแทนสภาองค์กรของผู้บริโภค และตัวแทนภาคประชาชน ชูป้ายให้กำลังใจพิรงรองหน้าศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง

ตัวแทนสภาองค์กรของผู้บริโภค และตัวแทนภาคประชาชน ชูป้ายให้กำลังใจพิรงรองหน้าศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising