×

คุณภาพและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจากมุมพื้นที่อยู่อาศัย

06.02.2025
  • LOADING...
กราฟแสดงสัดส่วนการเรียนและการทำงานของประชากรในและนอกเขตเทศบาล สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

ในบทความฉบับที่แล้ว ผมพูดถึงจำนวนประชากรของไทยในอนาคตว่าเป็นโจทย์ที่ใหญ่และอยากให้หลายๆ ฝ่ายช่วยกันติดตามประเมินสถานการณ์อย่างสม่ำเสมอ เมื่อมีข้อมูลใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมา เราควรช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ทั้งภาครัฐและเอกชนรับทราบ เพื่อการเตรียมพร้อมรับมือได้อย่างทันสถานการณ์ ในบทความนี้ยังอยู่ในเรื่องของประชากรครับ แต่ย้ายจากฝั่งของปริมาณมาสู่เรื่องของประเด็นคุณภาพประชากร ซึ่งอยากจะชวนคิดว่าหากประชากรเราลดลง เราก็ควรจะเน้นเรื่องคุณภาพให้มากขึ้น 

 

มาดูกันว่าในเรื่องการศึกษาของเรามีความทั่วถึงแค่ไหน มีเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอยู่ในมิติใดบ้าง โดยในบทความนี้จะขอใช้งานวิจัยจากทีม Athentic Consulting มาชี้ให้เห็นว่าประเด็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการพูดถึงกันมากในช่วงหลัง เน้นจากมิติที่เข้าใจกันง่ายๆ คือเชิงพื้นที่ โดยเปรียบเทียบประชากรที่อยู่ในและนอกเขตเทศบาลว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรในด้านการศึกษา และการทำงาน ระหว่างที่เรียนอยู่ และหลังจากจบการศึกษา 

 

กราฟแสดงสัดส่วนการเรียนและการทำงานของประชากรในและนอกเขตเทศบาล สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

Screenshot

 

ความเท่าเทียมของโอกาสทางการศึกษา: ดูจากตัวเลขภาพรวมอาจไม่ได้เห็นภาพที่ชัดเจนนัก ขอเริ่มด้วยข้อมูลสำรวจการทำงานของประชากร (Labour Force Survey) ในปี 2566 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในประเทศไทยมีจำนวนนักเรียนอยู่ประมาณ 12.5 ล้านคนที่อยู่ในวัยที่กำลังเรียนหนังสือ โดยในภาพที่ 1 ด้านขวา แสดงถึงให้เห็นถึงสัดส่วนของประชากรที่เรียนหนังสือและทำงานจำแนกตามอายุ เราจะเห็นได้ว่านักเรียนและนักศึกษาส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยระหว่าง 6-24 ปี โดยมีบางส่วนเริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงานตั้งแต่ช่วงอายุประมาณ 15 ปี และหลังจากอายุ 24 ปีคนส่วนใหญ่ก็จะเริ่มทำงานกัน และพออายุประมาณ 30 ปีก็เข้าสู่ตลาดแรงงานกันเกือบหมดแล้ว

 

Screenshot

 

นักเรียนที่อาศัยอยู่นอกเขตเทศบาลมีแนวโน้มหยุดเรียนก่อน เริ่มทำงานก่อน แต่เกษียณอายุช้ากว่า เมื่อเทียบกับนักเรียนที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาล ในภาพที่ 2 เราใช้ข้อมูลชุดเดียวกันในการวิเคราะห์เรื่องของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยแยก คนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 

 

  1. อาศัยในเขตเทศบาล (เส้นสีส้ม)
  2. อาศัยนอกเขตเทศบาล (เส้นสีน้ำเงิน) 

 

โดยสาเหตุที่ใช้พื้นที่เทศบาลเป็นเกณฑ์ เพราะคนที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาลเรียกได้ว่าอาศัยอยู่ในเขตเมือง (Urban Areas) มีโอกาสที่จะได้รับการศึกษาหรือทำงานที่มากกว่าและดีกว่าคนที่อาศัยอยู่นอกเขตเทศบาล โดยจากภาพที่ 2 ซ้ายมือ แสดงถึงสัดส่วนประชากรที่เรียนหนังสือ จำแนกตามอายุ ซึ่งถ้าหากไม่มีความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา เส้นสองเส้นที่สะท้อนถึงสัดส่วนของประชากรที่เรียนหนังสือในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาลควรจะมีความใกล้เคียงกันมากๆ จนแทบจะเป็นเส้นเดียวกัน 

 

แต่ในภาพซ้ายมือไม่ได้บอกเช่นนั้น เราจะเห็นว่าเส้นสีน้ำเงินซึ่งหมายถึงคนที่อาศัยอยู่นอกเขตเทศบาล อยู่ต่ำกว่าเส้นสีส้มซึ่งก็คือคนในเขตเทศบาล นั่นหมายความว่าพอผ่านช่วงอายุหลัง 15 ปี คนนอกเขตเทศบาลต้องเลิกเรียนหรือออกจากโรงเรียนก่อน ทำให้สัดส่วนของจำนวนคนที่เรียนหนังสืออยู่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับคนในเขตเทศบาล พูดง่ายๆ ก็คือคนนอกเขตเทศบาลมีโอกาสที่จะต้องออกจากโรงเรียนเร็วกว่าคนในเขตเทศบาล จึงได้รับการศึกษาน้อยกว่า 

 

ส่วนในภาพขวามือเป็นสัดส่วนประชากรที่ทำงานจำแนกตามอายุสำหรับคนที่อยู่ในและนอกเขตเทศบาล เราจะเห็นได้ว่าในช่วงแรกเส้นสีฟ้าอยู่บนเส้นสีส้ม นั่นหมายถึงว่าคนนอกเขตเทศบาลเริ่มทำงานก่อนคนในเขตเทศบาล เราจึงเห็นสัดส่วนของคนทำงานนอกเขตเทศบาลสูงกว่าในเขตเทศบาล 

 

คำถามคือ ถ้าคนนอกเขตเทศบาลเริ่มทำงานก่อน คนกลุ่มนี้จะเกษียณก่อนคนในเทศบาลหรือไม่ คำตอบคือไม่ครับ จากข้อมูลระบุว่า แม้คนนอกเขตเทศบาลจะอายุเข้าสู่วัยเกษียณแล้ว (มากกว่า 60 ปีขึ้นไป) ก็ยังมีสัดส่วนการทำงานมากกว่าคนในเขตเทศบาล (ในภาพเราจึงเห็นเส้นสีฟ้ายังอยู่ด้านบนเส้นสีส้ม) 

 

โดยสรุปภาพขวามือกำลังจะบอกเราว่า นักเรียนที่อยู่นอกเทศบาลมีแนวโน้มหยุดเรียนก่อน เริ่มทำงานก่อน แต่เกษียณอายุช้ากว่าเมื่อเทียบกับนักเรียนที่อยู่ในเขตเทศบาล ซึ่งหนึ่งในคำอธิบายก็อาจมาจากการที่คนนอกเขตเทศบาลได้รับการศึกษาโดยเฉลี่ยน้อยกว่า ทำให้ได้ค่าจ้างโดยเฉลี่ยต่ำกว่า จึงต้องทำงานนานกว่าเมื่อเทียบกับคนในเขตเทศบาล 

 

Screenshot

 

โดยหากเราใช้ข้อมูลชุดเดียวกันมาเจาะดูว่าความแตกต่างด้านการศึกษาระหว่างคนในและนอกเขตเทศบาลอยู่ในการศึกษาระดับไหนบ้าง จะพบว่าความแตกต่างมีมากที่สุดในระดับมหาวิทยาลัย โดยนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยมีแนวโน้มอาศัยอยู่ในเขตเทศบาลมากกว่านอกเขตเทศบาลอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่การศึกษาในระดับอื่นๆ แม้จะมีความแตกต่างอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ชัดเจนมากนัก สะท้อนให้เห็นว่าการศึกษาในระดับสูงอาจเป็นสิ่งที่เข้าถึงยากสำหรับคนนอกเขตเทศบาล ทำให้เมื่อจบการศึกษาออกมามีโอกาสได้รับค่าจ้างน้อยกว่า จึงต้องทำงานนานกว่าหรือเกษียณช้ากว่าดังที่แสดงให้เห็นในภาพที่ 2

 

ประเด็นการสร้างความเท่าเทียมด้านการศึกษาทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพ เป็นประเด็นที่มีการพูดถึงกันมาหลายสิบปีแล้ว ซึ่งทุกคนทราบกันดีกว่าต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหาเหล่านี้ (แต่ที่ผ่านมาก็ถือว่านานพอสมควรแล้ว) โดยส่วนตัวผมมองว่าการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นอาจไม่ใช่คำตอบ แต่เป็นการจัดสรรงบประมาณที่มีอยู่แล้วไปสู่กลุ่มคนที่มีส่วนในการสร้างคุณภาพให้กับนักเรียนโดยตรงเป็นสิ่งจำเป็น (มีงานวิจัยด้านวิชาการในหลายประเทศชี้ให้เห็นว่า คุณภาพของครูคือปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของนักเรียน) พูดตรงๆ ก็คือ อยากเห็นการขึ้นเงินเดือนครู เพื่อให้ดึงดูดคนที่มีความสามารถและมีความต้องการอยากจะสอนนักเรียนให้เขาไปทำอาชีพนี้ แต่เรื่องนี้คงต้องใช้เวลาในการแก้ ในบ้านเราเองเคยมีโครงการประเภทนี้ออกมาแล้วในช่วงปี 2552-2553 เรียกว่าโครงการครูพันธุ์ใหม่ ซึ่งผมคิดว่าหากมีการประเมินโครงการและนำผลมาต่อยอดสร้างครูคุณภาพขึ้นมาเพิ่มขึ้นอีก ก็น่าจะเป็นหนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาในระยะยาวได้ 

 

ส่วนการแก้ปัญหาระยะสั้น ผมเชื่อว่าการผลิตนักเรียนออกมาให้ตรงกับความต้องการของตลาด แรงงาน หรือโครงสร้างเศรษฐกิจ ในพื้นที่ จะเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่จะช่วยให้นักเรียนที่จบออกมามีรายได้ดีขึ้น โอกาสเป็นหนี้น้อยลง และมีเงินเหลือเก็บที่จะสร้างครอบครัวและให้การศึกษาที่มีคุณภาพกับคนในครอบครัวรุ่นต่อๆ ไป เราจะได้ไม่ต้องอยู่ในวังวนของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจากรุ่นสู่รุ่นในอนาคตครับ

 

ภาพ: Kiatanan Sugsompian / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising