×

Creative Thinking ของขวัญที่ผู้ใหญ่พรากไปจากเด็ก

โดย THE STANDARD TEAM
06.02.2025
  • LOADING...
Creative Thinking

#ความคิดสร้างสรรค์ คือหนึ่งในทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่ทุกคนรู้ว่าสำคัญยิ่ง แต่กลับทำทุกสิ่งสวนทางกับการบ่มเพาะสร้างเสริมเมล็ดพันธุ์ความคิดสร้างสรรค์ให้งอกงาม

 

ความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) คืออะไร?

 

หากถาม Google หรือ AI จะพบว่าความคิดสร้างสรรค์มีหลายนิยาม แต่ถ้าอธิบายคำนี้อย่างเรียบง่าย ความคิดสร้างสรรค์คือการรู้จักพลิกแพลงแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน

 

พ่อแม่ที่มีลูก Gen Alpha หรือผู้ใหญ่ที่เติบโตมาก่อนหน้า โดยไม่ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีดีกรีปริญญาหรือเขียนตำราใดๆ ต่างก็รู้ว่าความคิดสร้างสรรค์คือทักษะสำคัญในชีวิตและการงาน

 

เพราะในแต่ละวันมีปัญหาที่เดินเข้ามาให้เราแก้ไขอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ปัญหาทั่วไป เช่น วันนี้เส้นทางที่ต้องกลับบ้านจัดพิธีรับปริญญา จะหาทางกลับบ้านอย่างไรเพื่อเลี่ยงรถติดให้มากที่สุด

 

รวมถึงปัญหาในอาชีพการงานของแต่ละคนซึ่งไม่ซ้ำกัน เช่น ในกรณีที่คุณเป็นนักการตลาด คุณอาจกำลังเผชิญปัญหาว่า ในวันที่สื่อโฆษณาพยายามยื้อแย่งความสนใจของผู้คนตลอดเวลา จะสื่อสารและวางกลยุทธ์การตลาดอย่างไร เพื่อเปลี่ยนใจผู้บริโภคให้กลายมาเป็นลูกค้าให้มากที่สุด

 

หรือกรณีที่คุณเป็นศิลปิน คุณอาจกำลังขบคิดถึงประโยคแรกที่จะเริ่มต้นในงานเขียนชิ้นใหม่ว่าจะเริ่มต้นด้วยประโยคอะไรถึงจะดี (และมีเอกลักษณ์) ที่สุด

 

ทุกคนไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร รวมถึงลูกๆ ของเราที่จะต้องเติบโตขึ้นไป ‘เป็น’ อะไรสักอย่างในอนาคต จะต้องเจอปัญหาและความท้าทายใหม่ๆ เข้ามาให้แก้ไข

 

แต่ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ไม่มีใคร (แม้แต่พระเจ้า) รู้ว่าปัญหาในวันข้างหน้าคืออะไร เพราะฉะนั้นความคิดสร้างสรรค์จึงเป็นทักษะสำคัญ

 

โชคดีที่ความคิดสร้างสรรค์เป็น ‘ทักษะ’ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ใครๆ ไม่ว่าคุณจะเป็นพ่อแม่ นักการศึกษา หรือวัยรุ่นที่กำลังแสวงหาตัวตน ก็ฝึกให้มีและงอกงามขึ้นได้ ขอเพียงแค่เริ่มต้นทำ 3 สิ่งที่เป็นเหมือนเมล็ดพันธุ์ของความคิดสร้างสรรค์

 

นั่นคือการฟัง เปิดใจ และตั้งคำถาม

 

👂#ฟัง Rick Rubin โปรดิวเซอร์มือฉกาจ ผู้อยู่เบื้องหลังบทเพลงดังของศิลปินระดับโลก เช่น Ed Sheeran, Adele, Linkin Park, Eminem และ Shakira บอกว่าการฟังอย่างลึกซึ้งคือการเปิดประตูสู่ความเป็นไปได้มากมาย*

 

“คนเราเติบโตและเรียนรู้ด้วยการฟังโดยปราศจากอคติ หลายครั้งมันไม่มีคำตอบที่ถูกต้อง มีเพียงมุมมองที่แตกต่าง เมื่อเรายิ่งเรียนรู้ที่จะเห็นมุมมองต่างๆ มากขึ้น เราก็ยิ่งบังเกิดความเข้าใจที่ดีขึ้น…

 

“ไม่ว่าคุณกำลังทำงานศิลปะประเภทใด การฟังจะเปิดสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ มากมาย ทำให้คุณเห็นโลกกว้างมากขึ้น…

 

“เช่นนั้นการฟังจึงไม่ใช่เพียงการตระหนักรู้ มันยังเป็นการหลุดพ้นจากขีดจำกัดที่เราเคยยอมรับ”

 

หาก ‘ขีดจำกัด’ คือ ‘กรอบ’ ที่มองไม่เห็น การฟังอย่างตั้งใจคือจุดเริ่มต้นของการคิดนอกกรอบ เพราะกรอบเดิมๆ ที่เคยมีได้ขยายเป็นกรอบใหม่ที่ใหญ่ขึ้น

 

💗#เปิดรับ ความคิดสร้างสรรค์ = สิ่งใหม่ หรืออย่างน้อยก็เป็นสิ่งใหม่ในความรู้สึกของคนคนนั้น ไม่มีทางที่ใครจะมีความคิดหรือผลลัพธ์อะไรใหม่ๆ ได้ หากไม่รู้จักการเปิดรับ

 

การเปิดรับเป็นเรื่องง่ายสำหรับเด็กๆ เพราะพวกเขายังไม่รู้อะไรมาก ต่างจากผู้ใหญ่ที่ยิ่งรู้มากเท่าไร เรากลับเปิดรับอะไรๆ น้อยลงทุกที หรือบางทีก็ปิดประตูที่จะไม่รับรู้อะไรใหม่ๆ เพราะยึดถือว่าตัวได้เรียนมาเยอะ ผ่านมามาก และอาบน้ำร้อนมาก่อน

 

สำหรับผู้ใหญ่หรือคนที่ทำความเป็นเด็กหล่นหาย วิธีที่จะเปิดรับสิ่งใหม่ ความจริงนั้นเรียบง่าย เพียงแค่เปิดใจให้ว่าง ทำตัวเป็นแก้วเปล่า หรืออย่างน้อยเป็นแก้วที่น้ำยังพร่องอยู่ เว้นพื้นที่ให้กับความไม่รู้บ้าง

 

แค่เปิดรับ แค่ปล่อยให้ความไม่รู้มีอยู่ สิ่งใหม่ก็จะปรากฏ

 

#ตั้งคำถาม คำถามปลายเปิด เช่น #ทำไม (Why), #อย่างไร (How) และชวนคิดต่ออย่าง #ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร (What if) คือชุดคำถามธรรมดาๆ ที่มักสร้างความยุ่งยากให้กับผู้ตอบ เพราะเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบตายตัว แต่ต้องอาศัยการคิดวิเคราะห์ การอธิบายเหตุและผล รวมถึงความอดทนในการรับฟังและสานต่อบทสนทนาที่จะเกิดขึ้นต่อมาอย่างตั้งใจ

 

พ่อแม่ (รวมถึงผู้มีหน้าที่สอน) จึงมักเลี่ยงการตอบคำถามเหล่านี้ ด้วยการตอบแบบตัดบทสนทนา หรือปฏิเสธที่จะใส่ใจกับความสงสัยใคร่รู้ที่มาในรูปแบบของคำถาม

 

เด็กๆ ในวันนั้นที่ได้รับการตอบสนองอย่างไม่ใส่ใจ หลายคนโตขึ้นไปกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ขาดความสงสัยใคร่รู้ อยู่กับโลกด้วยความกลัวและเจ็บปวด เพราะกอดรัดความมั่นคงที่ไม่มีอยู่จริง และหวังว่าทุกสิ่งจะเหมือนเดิม

 

แต่ความจริงทุกสิ่งในโลกล้วนเปลี่ยนแปลงและไม่มีอะไรจีรัง ปัญหาในวันหน้าจะไม่มีวันเหมือนวันวาน โลกจะอยู่ท่ามกลางความไม่รู้มากขึ้นทุกวัน

 

คำถามที่ท้าทายจะกลายเป็นอาวุธสำคัญในการใช้ชีวิตในโลกอนาคตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและผันผวน

 

หากคุณเป็นผู้ใหญ่ พ่อแม่ ครู นักการศึกษา ผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย ที่อยากส่งเสริมเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ไม่มีอะไรดีไปกว่าการสร้างเสริมทักษะความคิดสร้างสรรค์ด้วยการฟัง เปิดรับ และตั้งคำถาม

 

ส่วนเด็กๆ นั้น พวกเขามีความคิดสร้างสรรค์เป็นของขวัญล้ำค่าติดตัวกันมาอยู่แล้ว

ขอเพียงผู้ใหญ่อย่างเราๆ อย่าพรากเอาของขวัญชิ้นสำคัญนี้ไปจากพวกเขาก็พอ

 

อ้างอิง:

  • เราต่างคือนักสร้างสรรค์ (The Creative Act: A Way of Being), Rick Rubin เขียน, วริษฐา กาลามเกษตร์ แปล, สำนักพิมพ์อมรินทร์ ฮาวทู

 


ดูรายละเอียดและซื้อบัตรเข้างานได้ที่  https://bit.ly/alphass2025cct

#AlphaSkillsSummit2025 #TheStandardxSuperJeew #ICONSIAM

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising