สถานการณ์ผู้ลี้ภัยชายแดนไทย-เมียนมา มีมายาวนานกว่า 40 ปี จากเหตุการณ์ความไม่สงบและวิกฤตการเมืองในเมียนมา โดยมีค่ายผู้ลี้ภัย 9 แห่ง และผู้ลี้ภัยกว่า 9 หมื่นคน ตลอดแนวชายแดน 2,401 กิโลเมตร ซึ่งกลายเป็นปัญหาความมั่นคงของไทยที่ยืดเยื้อไร้ทางออก
คำสั่งปิด USAID ของทรัมป์จะส่งผลให้ปัญหายิ่งลุกลามมากขึ้น เนื่องจากค่ายผู้ลี้ภัยเหล่านี้พึ่งพาเงินช่วยเหลือภายนอกจากสหรัฐฯ และชาติตะวันตกเป็นหลัก โดยในระยะยาวหากไร้เงินช่วยเหลือ สิ่งที่ตามมาอาจกลายเป็นวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่กระทบต่อไทยอย่างแน่นอน
ทางออกของปัญหานี้ กัณวีร์ สืบแสง สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ซึ่งเคยทำงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เสนอให้รัฐบาลอนุญาตให้กลุ่มผู้ลี้ภัยหลายหมื่นคน ได้ทำงานและอยู่ในไทยชั่วคราว ทดแทนแรงงานในกลุ่มขาดแคลน และจ่ายภาษีหากรายได้ถึงเกณฑ์ ถือเป็นการ ‘เปิดค่าย เพื่อปิดค่าย’
แต่ข้อเสนอนี้อาจไม่ใช่เรื่องง่าย จากท่าทีของรัฐบาลที่มองว่ายากจะ ‘อุ้ม’ กลุ่มผู้ลี้ภัยเมียนมาจำนวนมากด้วยการให้เข้ามาทำงาน และต้องถามประชาชนไทยก่อนว่าจะรับข้อเสนอนี้ได้หรือไม่
รู้จัก USAID
United States Agency for International Development (USAID) หรือสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ เป็นองค์กรหลักของสหรัฐฯ ในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในหลายประเทศทั่วโลก ก่อตั้งขึ้นในปี 2504 โดย จอห์น เอฟ. เคนเนดี ประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต ในช่วงสงครามเย็น
จุดมุ่งหมายในการก่อตั้ง USAID เพื่อประสานงานความช่วยเหลือต่างประเทศให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นฐานสำคัญด้านหนึ่งของนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ ที่มุ่งต่อต้านอิทธิพลของสหภาพโซเวียตในขณะนั้น
USAID ได้รับเงินทุนจากสภาคองเกรส โดยเป็นไปตามคำขอของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบัน USAID บริหารจัดการความช่วยเหลือต่างประเทศของสหรัฐฯ ประมาณ 60%
ในปีงบประมาณ 2023 USAID จ่ายเงินช่วยเหลือทั่วโลกรวมกว่า 7.2 หมื่นล้านดอลลาร์ คิดเป็นประมาณ 42% ของความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมทั้งหมดที่สหประชาชาติติดตามอยู่ในปี 2024
ประเทศที่รับความช่วยเหลือรายใหญ่ ได้แก่ ยูเครน, เอธิโอเปีย, จอร์แดน, สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก, โซมาเลีย, เยเมน, อัฟกานิสถาน, ไนจีเรีย, ซูดานใต้ และซีเรีย
โดยการช่วยเหลือครอบคลุมตั้งแต่ปัญหาสุขภาพสตรีในพื้นที่ขัดแย้ง ไปจนถึงการเข้าถึงน้ำสะอาด การรักษาผู้ป่วย HIV ความมั่นคงด้านพลังงาน และการปราบปรามการทุจริต
รายงานของ Congressional Research Service (CRS) ที่เผยแพร่ในเดือนนี้ ระบุว่าเจ้าหน้าที่ของ USAID ที่มีราว 10,000 คน กว่า 2 ใน 3 ปฏิบัติงานในต่างประเทศ และให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่างๆ กว่า 130 ประเทศ
CRS ระบุว่า USAID ให้การช่วยเหลือ “ประเทศที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์และประเทศที่อยู่ในภาวะขัดแย้ง โดยเป็นผู้นำในความพยายามของสหรัฐฯ เพื่อบรรเทาปัญหาความยากจน โรคระบาด และความต้องการด้านมนุษยธรรม ขณะที่ยังช่วยเหลือผลประโยชน์ทางด้านการค้าของสหรัฐฯ โดยการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา และสร้างศักยภาพของประเทศต่างๆ ในการมีส่วนร่วมในการค้าโลก”
ทรัมป์ตัดงบ กระทบอะไรบ้าง?
การตัดงบช่วยเหลือของสหรัฐฯ ในฐานะผู้สนับสนุนความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมรายใหญ่ที่สุดของโลก ส่งผลให้หลายองค์กรด้านมนุษยธรรมและหน่วยงานช่วยเหลือของสหประชาชาติ เกิดความหวั่นวิตก ว่าอาจต้องเผชิญกับข้อจำกัดครั้งใหญ่ต่อศักยภาพในการดำเนินงาน ทั้งการแจกจ่ายอาหาร ที่พักพิง และการดูแลสุขภาพ อีกทั้งยังกระทบต่อการจัดหายารักษาโรคร้ายแรง เช่น HIV มาลาเรีย และวัณโรค
อาทูล กาวานดี (Atul Gawande) อดีตหัวหน้าฝ่ายสาธารณสุขระดับโลกของ USAID ซึ่งลาออกเมื่อไม่นานนี้ กล่าวว่า “ยาที่ได้รับบริจาคเพื่อช่วยให้ผู้ติดเชื้อ HIV 20 ล้านคนมีชีวิตอยู่ได้ ถูกระงับลงแล้ว”
เขาชี้ว่าการตัดงบประมาณจะส่งผลกระทบต่อองค์กรช่วยเหลือเด็กกำพร้าและกลุ่มเด็กเปราะบางที่ติดเชื้อ HIV จำนวน 6.5 ล้านคนใน 23 ประเทศ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลวอชิงตันระบุว่า จะยกเว้นการระงับความช่วยเหลือในบางประเภท รวมถึงความช่วยเหลือฉุกเฉินด้านอาหารแก่ผู้ลี้ภัย ซึ่งบังกลาเทศเผยว่า สหรัฐฯ ยกเว้นการระงับเงินช่วยเหลือด้านอาหารแก่ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญามากกว่าหนึ่งล้านคนที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ
ค่ายผู้ลี้ภัย – NGO ในไทยกระทบหนัก
สำหรับในไทย ผลกระทบที่เกิดขึ้นทันทีคือคลินิกภาคสนามในค่ายผู้ลี้ภัยชายแดนไทย-เมียนมา หลายแห่งต้องปิดลงกะทันหัน ตามคำสั่งของคณะกรรมการกู้ภัยระหว่างประเทศ (International Rescue Committee: IRC) ที่เป็นผู้ให้ทุนและได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ส่งผลให้ผู้ป่วยหนักหลายคนต้องถูกเคลื่อนย้ายออกจากคลินิก และส่งต่อไปยังโรงพยาบาลรัฐอื่นๆ ที่ไกลออกไป
นอกจากนี้ระบบน้ำประปาและการจัดเก็บขยะในค่ายที่ IRC เคยช่วยดูแล ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน
สำหรับค่ายผู้ลี้ภัยหรือที่รู้จักในชื่อ ‘พื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยการสู้รบ’ จัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2527 ในช่วงที่รัฐบาลทหารเมียนมาปราบปรามฝ่ายต่อต้านอย่างรุนแรง จนส่งผลให้มีผู้อพยพหนีภัยการสู้รบเข้ามายังชายแดนไทย
ปัจจุบันไทยมีพื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ จำนวน 9 แห่ง ได้แก่
- พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านใหม่ในสอย อ.เมืองแม่ฮ่องสอน จ.แม่ฮ่องสอน
- พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านแม่สุริน อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน
- พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านแม่ละอูน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน
- พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านแม่ลามาหลวง อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน
- พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านแม่หละ อ. ท่าสองยาง จ.ตาก
- พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านอุ้มเปี้ยม อ.พบพระ จ.ตาก
- พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านนุโพ อ.อุ้มผาง จ.ตาก
- พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านต้นยาง อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี
- พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านถ้ำหิน อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
จำนวนประชากรผู้ลี้ภัยในทั้ง 9 ค่าย รวมทั้งหมดมีกว่า 8.2 หมื่นคน ในจำนวนนี้กว่า 3 หมื่นคนอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่บ้านแม่หละ
โครงสร้างบริหารจัดการในค่ายผู้ลี้ภัยดังกล่าว อยู่ภายใต้การดูแลโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย รวมถึงเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เช่น ปลัดอำเภอแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดให้ทำหน้าที่หัวหน้าพื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ หรือ Camp Commander
ส่วนเรื่องการประสานงานและการลงทะเบียนผู้ลี้ภัย หลักๆ จะเป็นสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ที่เข้าไปดูแลและประสานกับปลัดอำเภอ
นอกจากนี้ยังมี IRC และ NGO ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ตลอดจนองค์กรภาคประชาสังคม (CSO) เช่น The Border Consortium (TBC) และองค์กรชุมชน (CBO) ที่ดำเนินการด้านความช่วยเหลือต่างๆ เช่น อาหาร การแพทย์ สุขอนามัย และการศึกษา ซึ่งมีการให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา
การทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยภายในค่ายทั้ง 9 แห่ง ขึ้นอยู่กับประเทศผู้บริจาคกว่า 90% ซึ่งข้อครหาเรื่องการที่รัฐบาลไทยนำเอาภาษีประชาชนมาโอบอุ้มกลุ่มผู้ลี้ภัยเหล่านี้นานหลายสิบปี แท้ที่จริงแล้วมีเพียงการจ่ายเงินเดือนให้แก่ปลัดอำเภอและเงินเบี้ยเลี้ยงแก่กลุ่มอาสาสมัครเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การตัดงบช่วยเหลือของสหรัฐฯ ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่เรียกได้ว่าค่อนข้างรุนแรงเนื่องจากระยะเวลาในการระงับความช่วยเหลือที่นานถึง 90 วัน ซึ่งความช่วยเหลือด้านการแพทย์กระทบหนักที่สุด
นอกจากนี้ ผลกระทบยังลุกลามไปถึงนอกค่ายผู้ลี้ภัย รวมถึงการทำงานของ NGO ที่อาศัยงบประมาณจากผู้บริจาค เช่น สหรัฐฯ EU ในการดำเนินงานด้านต่างๆ เช่น สิทธิมนุษยชน การศึกษา การพัฒนาศักยภาพบุคคล
ปลดล็อกผู้ลี้ภัยทำงาน ‘เปิดค่ายเพื่อปิดค่าย’
สำหรับทางออกของปัญหาผู้ลี้ภัยเหล่านี้ ที่ผ่านมารัฐบาลก็มีความพยายามแก้ไข เช่น ส่งไปยังประเทศที่ 3 หรือผลักดันให้กลับไปยังบ้านเกิดในเมียนมาช่วงที่สถานการณ์ดีขึ้น แต่หลังเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2021 จนถึงปัจจุบันที่การสู้รบในเมียนมาระหว่างกองทัพกับกองกำลังชาติพันธุ์ทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้โอกาสในการแก้ไขปัญหายิ่งริบหรี่ลง
โดยกัณวีร์ชี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในค่ายผู้ลี้ภัยทั้ง 9 แห่งนี้ กลายเป็นปัญหาความมั่นคงที่ยืดเยื้อและควรมีการแก้ไข ซึ่งเขานำเสนอต่อที่ประชุมสภาให้กระทรวงมหาดไทยใช้ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 17 อนุญาตให้ผู้ลี้ภัยสามารถทำงานและอยู่ในไทยได้ชั่วคราว เรียกได้ว่าเป็นการ ‘เปิดค่าย เพื่อปิดค่าย’ ซึ่งเขามองว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่าหากให้กลุ่มผู้ลี้ภัยได้ยืนด้วยขาของตัวเอง แทนการรอรับเงินบริจาค
“ถ้าอยากปิดค่ายผู้ลี้ภัยเพราะว่ามันเป็นภาระ เป็นภัยคุกคามความมั่นคง เราก็ต้องเปิดค่ายให้กลุ่มผู้ลี้ภัยได้ทำงานถูกต้องตามกฎหมาย
“ทำไมเราไม่เอาคนที่อยู่ในค่ายพวกนี้ 40 กว่าปีแล้ว ให้มาทำงานได้ชั่วคราว ในตำแหน่งแรงงานที่คนไทยไม่ทำ หากรายได้ถึงเกณฑ์ก็ให้เสียภาษี และสามารถซื้อหลักประกันสุขภาพเพื่อเข้าโรงพยาบาลได้ เสมือนกับแรงงานข้ามชาติที่ทำงานถูกต้องตามกฎหมาย” กัณวีร์กล่าว
โดยเขามองว่าข้อเสนอนี้ถือเป็น Win-Win Solution ส่วนกลุ่มผู้ลี้ภัยที่ไม่มีการลงทะเบียนและไม่สามารถเป็นแรงงานข้ามชาติได้จะเหลืออยู่ในค่ายน้อยมากๆ น่าจะไม่เกิน 10-20% ซึ่งต้องผลักดันการไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่ 3 และจะทำให้ค่ายผู้ลี้ภัยที่มีมากว่า 40 ปีสามารถปิดลงได้โดยปริยาย
อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อกังวลว่า หากอนุญาตให้กลุ่มผู้ลี้ภัยเหล่านี้ทำงาน ท้ายที่สุดอาจกลายมาเป็นคนว่างงานและก่อปัญหาอาชญากรรมเพิ่มมากขึ้นแบบเดียวกับหลายประเทศในยุโรป กัณวีร์มองว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการทำการบ้านก่อน เช่น กระทรวงแรงงานต้องมาคัดกรองให้ได้ว่าแรงงานในด้านใดบ้างที่ยังขาดแคลนอยู่ และมาจับคู่กับผู้ลี้ภัยในค่ายต่างๆ ว่ามีทักษะในด้านที่ต้องการหรือมีความประสงค์ทำงานในด้านที่ขาดแคลนหรือไม่
“พอจับคู่แล้วต้องมีการดำเนินการให้ถูกต้องก่อนที่จะให้ผู้ลี้ภัยออกไปทำงานนอกค่าย ไม่ใช่ว่าเปิดค่ายเลยโดยไม่ทำการบ้านใดๆ หรือเปิดเสร็จให้ออกไปหางานเองคงเป็นไปไม่ได้”
ภาพ: Paula Bronstein / Getty Images
อ้างอิง:
- https://www.reuters.com/world/us/trumps-freeze-us-aid-rings-alarm-bells-thailand-ukraine-2025-01-28/
- https://www.channelnewsasia.com/world/usaid-explainer-international-aid-agency-shut-donald-trump-elon-musk-4914111
- https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2950110/myanmar-refugees-face-sudden-discharge-from-thai-hospitals-shuttered-by-us-aid-freeze